การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (17) การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (ต่อ)

การวัดทางจิตวิญญาณที่ใช้ตัวอย่างพฤติกรรมอันเป็นตัวแทนของพฤติกรรมที่ต้องการวัด กระบวนการวัดที่จัดอยู่ในสภาวการณ์ที่มีความเป็นมาตรฐาน การให้คะแนนและการตีความของคะแนนในเชิงจิตวิทยา และการสร้างเครื่องมือวัดที่มีความเป็นปรนัย โดยแบบทดสอบที่ดีจะต้องวัดได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ มีความเหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่างในเรื่องของความหมาย นัยยะในการตีความจากข้อคำถาม ความหมายชัดเจน ไม่คลาดเคลื่อน (Murphy & Davidshofer, 1991 อ้างถึงใน สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์, 2551) ดังนั้นการวัดทางจิตวิทยาและจิตวิญญาณ จึงมักมีการตีความการเป็นปรนัยร่วมกับการใช้แบบทดสอบ เพื่อการวัดที่เที่ยงตรง ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ในรูปแบบของ Objective test

Fornaciari, Sherlock , Ritchie and Dean (2005) ได้ศึกษาโดยทำการวิเคราะห์บทความวิจัย ภายใต้หัวข้อจิตวิญญาณและความเชื่อทางศาสนาจำนวน 24 บทความ ที่ถูกตีพิมพ์ในระหว่างปี ค.ศ. 1996-2004 พบว่า มีเครื่องมือวัดทั้งหมดจำนวน 65 เครื่องมือ โดยงานวิจัย ร้อยละ 86 ใช้กระบวนการเชิงนิรนัยภายใต้ทฤษฎีที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีการใช้แนวคิดและเครื่องมือในการวัดที่แตกต่างกันมากกว่าการใช้เครื่องมือวัดที่มีมาก่อน นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 45 ของบทความวิจัยได้ใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis) เพื่อจัดกลุ่มตัวแปร และมีงานวิจัยร้อยละ 25 ของบทความวิจัยที่ใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบ ที่มีการวิเคราะห์ถึงความสามารถในการอธิบายตัวแปรโดยใช้ค่าไอเกน (Eigen values) มีงานวิจัยร้อยละ 45 ที่ทำการวิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่นด้วยวิธีหาความสอดคล้องภายใน (Internal consistency) โดยหาค่าค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่า (Coefficient alpha) จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวกับการวัดทางจิตวิญญาณ ได้แสดงให้เห็นว่านักวิจัยทางด้านจิตวิญญาณมีความพยายามที่จะวัดจิตวิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม ให้เป็นรูปธรรมโดยผ่านเครื่องมือวัดประเมินที่มีความน่าเชื่อถือ เที่ยงตรง และสามารถอธิบายคำตอบของการวิจัยให้ชัดเจนและวัดได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจจากการประชุม World Congress of Psychology and Spirituality ในปี ค.ศ. 2008 (Nandram, 2010: 17 – 31) ที่ได้มีการอภิปรายถึงการนำแนวคิดการวัดทางจิตวิทยาทั้งแบบ Objective test และ Projective test มาพัฒนาให้การวัดจิตวิญญาณมีความเที่ยงตรง ผลจากการประชุมทำให้มีข้อสังเกต และแนวทางร่วมกันในกระบวนการวัดทางจิตวิทยาและจิตวิญญาณที่น่าสนใจ 3 ประการ คือ

1. การวัดที่เป็นแบบ Objective test ควรต้องมีการคำนึงถึงประเด็นที่ว่า ประสบการณ์ทางจิตวิทยาหรือจิตวิญญาณเป็นเรื่องการรับรู้ส่วนบุคคล ผู้วิจัยหรือผู้ใช้เครื่องมือวัดเป็นเพียงแค่บุคคลอื่น ข้อสังเกตนี้ ทำให้การวัดต้องทำอย่างระมัดระวังและมีจริยธรรม การวิเคราะห์ วิพากษ์ข้อมูลที่ได้มาต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างประสบการณ์ การรับรู้ของตน และกลุ่มตัวอย่าง

2. ควรตระหนักว่าการวัดทางจิตวิทยาหรือจิตวิญญาณเป็นกระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การวิจัยทางสังคมศาสตร์แบบดั้งเดิมนั้น ให้คุณค่ากับข้อมูลที่เป็นจิตวิสัย (Subjective) หรือที่เรียกว่าการวิจัยเชิงคุณภาพ ในขณะที่ข้อมูลในเชิงรูปธรรมที่ชัดเจน อาจไม่เพียงพอต่อการสรุปผลการวิจัยได้ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เกิดแนวทางการวัดในข้อที่สาม

3. การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการเดียวและกลุ่มตัวอย่างในมิติเดียวนั้น ผู้วิจัยอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่เพียงพอ การเข้าถึงข้อมูลอย่างลึกซึ้งโดยใช้วิธีการสำรวจ (Survey) ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ลึกซึ้งได้ แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว ผู้วิจัยควรเลือกวิธีการวัดหรือเครื่องมือที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การวิจัย แต่การวัดทางจิตวิญญาณต้องเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ลึกซึ้ง และยากที่จะวัดหรือทำความเข้าใจได้ด้วยการใช้การสำรวจหรือแบบสอบถาม

ดังนั้น การวิจัยที่ใช้กระบวนการแบบจิตวิสัย (Subjective approach) หรือวัตถุวิสัย (Objective approach) อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถศึกษาประเด็นทางจิตวิญญาณได้อย่างครอบคลุม ดังนั้นการนำกระบวนการวัดทั้งสองแบบมาใช้ร่วมกันจึงได้รับการยอมรับมากกว่า และสามารถพัฒนาการวัดและการใช้เครื่องมือวัดทางจิตวิญญาณที่เป็นเรื่องซับซ้อนได้ดีมากกว่า จากการศึกษาของ Heaton , Schmidt and Travis (2004) ได้นำเสนอวิธีการวัดในการวิจัยทางจิตวิญญาณในองค์การทั้งแบบจิตวิสัยและวัตถุวิสัย โดย Heaton , Schmidt and Travis (2004) ได้แบ่งประเภทการศึกษาทางจิตวิญญาณออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ จิตวิญญาณบริสุทธิ์ (Pure spirituality) จิตวิญญาณประยุกต์ (Applied spirituality) และการพัฒนาทางจิตวิญญาณ (Spiritual development) เพื่อนำเสนอแนวทางในการวัดในแต่ละประเภททั้งแบบจิตวิสัยและวัตถุวิสัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การศึกษาจิตวิญญาณบริสุทธิ์ (Pure spirituality)

1.1 กระบวนการแบบจิตวิสัย ควรเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ตรง การวิเคราะห์ความหมายและนัยยะจากเรื่องเล่าในภาวะที่ยังไม่รู้สึกตัวเต็มที่ หรืออยู่ในภวังค์ ที่พ้นจากความคิดเชิงเหตุผลปกติและการระวังตัว

1.2 กระบวนการแบบวัตถุวิสัย ควรเป็นการหาความสัมพันธ์เชิงกายภาพกับประสบการณ์ส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์และอธิบายปรากฎการณ์

2. การศึกษาจิตวิญญาณประยุกต์ (Applied spirituality)

2.1 กระบวนการแบบจิตวิสัย ควรเป็นการสะท้อนเรื่องเล่าที่เป็นผลมาจากประสบการณ์ในชีวิตและการทำงานในขณะที่มีสติรู้ตัวและเต็มไปด้วยเหตุผล

2.2 กระบวนการแบบวัตถุวิสัย ควรเป็นการวิจัยตัวแปรทางจิตวิทยาองค์การ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังจากได้รับประสบการณ์

3. การศึกษาการพัฒนาทางจิตวิญญาณ (Spiritual development)

3.1 กระบวนการแบบจิตวิสัย ควรเป็นเรื่องเล่าภาพสะท้อนให้เห็นกระบวนการพัฒนาทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้น

3.2 กระบวนการแบบวัตถุวิสัย ควรเป็นการวิจัยการพัฒนาทางจิตวิทยาและสังคมวิทยาทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

ในส่วนแนวคิดเรื่องการวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ นงเยาว์ มงคลอิทธิเวช และคณะ (2552) และประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2552) กล่าวถึงตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณของบุคลากรในระบบสุขภาพว่า สามารถพิจารณาได้จากคุณลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาจิตจากการทำงานซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มความสุข ได้แก่ เมตตากรุณา เข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น เป็นมิตร เป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่าย รับผิดชอบ ยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. กลุ่มความสงบ ได้แก่ จัดการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ เข้มแข็ง อดทน เสียสละ มุ่งมั่น ทุ่มเท มองโลกในแง่ดี ยอมรับ ให้อภัย

3. กลุ่มความอิสระ ได้แก่ มีพลังแห่งการเรียนรู้ กล้าหาญ คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ อ่อนน้อมถ่อมตน ประสานความต่าง พอเพียง

และในแต่ละกลุ่มสามารถวัดระดับการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 ระดับบุคคล คือ เห็นคุณค่าของตนเองและคุณค่าของงาน (ตัวอย่างคำถาม เช่น ปัจจุบันเราเห็นคุณค่าของตนเองและคุณค่าของงานมากน้อยเพียงใด)

ระดับที่ 2 ระดับสังคม คือ สามารถพัฒนาจิตจากการทำงาน (ตัวอย่างคำถาม เช่น ปัจจุบันเรารู้สึกว่าการทำงานเป็นทุกข์ หรือเราเห็นโอกาสที่จะพัฒนาจิตจากการทำงานอย่างไร)

ระดับที่ 3 ระดับอุดมการณ์ คือ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน เห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ก่อนส่วนตน (ตัวอย่างคำถาม เช่น ปัจจุบันเราทำงานเพราะเป็นหน้าที่หรือเรามีอุดมการณ์ในการทำงาน อุดมการณ์ในวิชาชีพของตนเองคืออะไร)

ในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณนั้น โกมาตร จึงเถียรทรัพย์ (2549) มีข้อเสนอว่า เราจะต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติของการประเมินและธรรมชาติของจิตวิญญาณ การประเมินเชิงจิตวิญญาณนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนามธรรม เนื่องจากเรื่องทางจิตวิญญาณยังเป็นเรื่องราวทางอัตวิสัยอย่างยิ่ง กล่าวคือเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตัวเท่านั้น ดังนั้น การประเมินอย่างเป็นภาวะวิสัยตามวิธีวิทยาแบบเดิม ๆ ที่ได้รับการพัฒนามาจากฐานความรู้วิทยาศาสตร์กายภาพจึงเป็นไปได้อย่างจำกัด ลักษณะสำคัญของประสบการณ์เชิงจิตวิญญาณ ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ด้วยวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ได้นั้น มีอยู่ 5 ประการคือ

1. ประสบการณ์เชิงจิตวิญญาณเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่จะไปปฏิบัติและรับรู้ด้านในของชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งบางครั้งอาจสามารถสื่อสารระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์เชิงจิตวิญญาณด้วยกันได้

2. บุคคลไม่สามารถใช้การคิดแบบตรึกตรองเชิงเหตุผลในการเข้าใจประสบการณ์ เพราะการได้มาซึ่งความรู้จากประสบการณ์นั้นมีหลายระดับ

3. ภาษาพูดและภาษาเขียนไม่สามารถสื่อถึงประสบการณ์ได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องใช้การเปรียบเทียบในการอธิบาย

4. การเกิดขึ้นของประสบการณ์ไม่เป็นแบบเส้นตรงแบบที่คาดหมายผลลัพธ์ได้

5. ความเป็นจริงทางจิตวิญญาณมีทั้งการช่วงชิงและการคัดค้านระหว่างศาสดาและปราชญ์ในหลายสาขา ดังนั้น อาจต้องอาศัยเกณฑ์บางประการในการประเมินคุณค่าทางศาสนา อย่างเช่น การให้สภาวะการมีปัญญาเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแสงส่องนำชีวิต การมีเหตุผลในเชิงปรัชญา หรือการส่งเสริมมิติทางคุณธรรมและจริยธรรมในสังคม เป็นต้น

นอกเหนือจากนั้น งานวิจัยเชิงจิตวิญญาณมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเชื่อและคำสอนทางศาสนาอยู่เสมอ James (1997) ได้เสนอหลักเกณฑ์ที่เป็นลักษณะร่วมกันของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของศาสนาต่าง ๆ ไว้ว่ามีฐานคติร่วมกันคือ

1. โลกที่เราเห็นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกในมิติทางจิตวิญญาณอันเป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่โลกที่เรามีชีวิตอยู่นี้

2. การเป็นหนึ่งเดียวหรือการดำรงอยู่อย่างสมดุลกลมกลืนกับโลกสูงสุดเป็นเป้าหมายของชีวิตที่แท้จริง

3. การภาวนาหรือการประสานของชีวิตด้านในให้เป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณ ซึ่งอาจเป็นพระเจ้าหรือกฎแห่งความจริงสูงสุด นั้นเป็นภารกิจที่พึงบรรลุอย่างแท้จริง และศักยภาพหรือพลังแห่งจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลทั้งทางจิตใจและทางวัตถุในโลกแห่งปรากฏการณ์

4. การเข้าถึงความจริงชั้นสูงนี้เป็นปิติสุขที่เติมเต็มให้แก่ชีวิต เป็นเสมือนของขวัญที่ทำให้ชีวิตมีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้เราตื่นและเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต และทำให้เรามีความองอาจบนหนทางของชีวิต

5. เป็นหลักประกันที่ให้ความอุ่นใจ สันติสุข และความรัก ความเมตตาอันอ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์

จากที่ได้ทบทวนมานี้ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (2549) ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อการสร้างแนวทางการประเมินได้เป็นข้อๆดังนี้

1. จิตวิญญาณไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องทางศาสนา และไม่จำเป็นที่จะเป็นเรื่องของภพอื่น ชาติอื่น แต่ศาสนาเปรียบเสมือนเส้นทางการเข้าถึงที่สำคัญซึ่งสามารถนำไปสู่เป้าหมายทางจิตวิญญาณได้ในภพชาติปัจจุบัน

2. สุขภาวะทางจิตวิญญาณปรากฏอยู่ในบริบททางวัฒนธรรม และมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก ดังนั้นการประเมินผลต่าง ๆ จะต้องประเมินในบริบทนั้น

3. การบรรลุความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ ไม่เป็นเหตุและผลแบบตรงไปตรงมา สิ่งที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้เสมอ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถตีความหมายได้หลายหลาก

4. ถึงแม้ปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องปัจเจกภาพ แต่ปรากฏการณ์ก็เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ร่วมกันในชุมชนของผู้ปฏิบัติ ดังนั้น ในการสรรหาชุมชนเพื่อการประเมินประสบการณ์ทางจิตวิญญาณจึงต้องมุ่งความสนใจไปยังชุมชนที่มีการปฏิบัติเป็นเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณไม่ได้เกิดขึ้นตามหลักเหตุและผลที่แน่นอน ดังนั้น การประเมินดังกล่าวจึงไม่สามารถกระทำได้โดยตรง ทั้งการประเมินทางอ้อมนั้นยังต้องสัมพันธ์กับจารีตความรู้หรือวัฒนธรรมความเชื่อที่กำกับแนวทางการปฏิบัติและความหมายของจิตวิญญาณที่มีความหมายเฉพาะตามวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่นอีกด้วย ดังนั้น โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (2549) จึงเห็นว่ากระบวนการวิจัยและการประเมินเชิงจิตวิญญาณอาจดำเนินได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ทำความเข้าใจหลักคำสอนและหลักปรัชญาการปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตของบุคคลและชุมชนที่ศึกษา ทั้งในแง่ภววิทยา จักรวาลวิทยา และญาณวิทยา

2. ค้นหาทฤษฎีหรือหลักการสำคัญของการเติบโตทางจิตวิญญาณ ซึ่งปรากฏอยู่ในประเพณีปฏิบัติหรือแบบแผนที่ใช้ปฏิบัติ เช่น หลักการให้ทาน หลักศรัทธา หรือหลักการถือสัจจะ เพื่อเป็นแนวทางการประเมิน

3. ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับหลักปฏิบัติ โดยอาจชี้ว่าชุมชนอยู่ในสถานะใดของแบบแผนที่ใช้ปฏิบัติ รวมทั้งสืบค้นว่าผู้คนในชุมชนมีความเข้าใจและนำหลักปฏิบัติไปใช้สร้างความเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณได้อย่างไร

4. ทำความเข้าใจปัญหาด้านจิตวิญญาณของชุมชนว่าเป็นที่รับรู้และเข้าใจในแง่มุมใด ลักษณะใดบ้าง เพื่อนำไปสู่การนิยามปัญหาและประเมินความสอดคล้องของแนวทางการส่งเสริม

5. หากเป็นการประเมินโครงการ ก็อาจพิจารณาว่าลักษณะของโครงการเพื่อการสร้างเสริมคุณภาพทางจิตวิญญาณในชุมชนนั้นสอดคล้องกับประเด็นหลักการและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาแล้วทั้งหมดข้างต้นหรือไม่