การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (4) บทนำ

องค์การที่ได้นำเทคนิคในเรื่องจิตวิญญาณมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำงาน จะมีการพัฒนาผลผลิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Colin, 1999 อ้างถึงใน Robbins, 2005) และยังพบว่า องค์การที่ให้บุคลากรหรือพนักงานมีโอกาสพัฒนาจิตวิญญาณจะมีผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่าองค์การที่พนักงานไม่มีโอกาส (Nech and Milliman, 1994 อ้างถึงใน Robbins, 2005) จิตวิญญาณในการทำงานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการเพิ่มพลังอำนาจ (Empowerment) (Lee, 1991) และมีความสัมพันธ์ทางลบกับการตั้งใจลาออกของพนักงาน (Moore and Casper ,2005) และยังมีความสัมพันธ์กับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความพึงพอใจของพนักงาน ผลการปฏิบัติงานของทีม และความผูกพันต่อองค์การ (รัตติกรณ์ จงวิศาล, 2551)

สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual health) เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่คาดว่ามีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพและระบบการศึกษา เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างเป็นองค์รวมทั้งสุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคมของบุคคล ช่วยลดความตึงเครียดและสร้างความสุขให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา (มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2552) ซึ่งมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะทางจิตวิญญาณของบุคลากร และได้มีแผนการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างกว้างขวางทั้งในระดับสถาบัน องค์การ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลระดับต่างๆ ศูนย์สุขภาพชุมชน และสถานีอนามัย รวมทั้งสถาบันหรือองค์การที่ไม่ได้ทำงานกับระบบสุขภาพโดยตรง หรือมูลนิธิต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีความสุข ทุ่มเทกำลังกายและใจเพื่อการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลัง และเกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้งของผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบสุขภาพ รวมถึงบุคลากรในระบบการศึกษา ซึ่งในการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ หากมีการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานแล้ว จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ควบคู่กับแนวทางในการเสริมสร้างและพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้อย่างมีประสิทธิผล

จากการทบทวนเอกสาร บทความ แนวคิด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาและพัฒนาเครื่องมือในการประเมินและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา เพื่อจะนำเครื่องมือและตัวชี้วัดที่ได้ไปใช้ในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา และเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณของบุคลากรทั้งผู้ให้และผู้รับบริการในระบบสุขภาพ ระบบการศึกษาและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อทบทวนเอกสาร บทความ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ

2. เพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดและตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา

3. เพื่อจัดทำคู่มือการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือสุขภาวะทางจิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติงานและบุคลากร โดยมีการศึกษา 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณในการทำงาน และขั้นตอนหรือกระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณ จากเอกสารทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย แนวคิด ทฤษฎี เครื่องมือวัด การพัฒนา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

2. สังเคราะห์และสรุปความหมาย องค์ประกอบ แนวทางในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (ผลจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง)

3. ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) โดยผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณาทั้งความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา

4. ปรับปรุงแก้ไข ความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา หลังจากนั้นจัดทำร่างเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา จากการทบทวนวรรณกรรมและจากผู้ทรงคุณวุฒิ

5. เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 855 ตัวอย่าง ประกอบด้วย กลุ่มตัวอย่างในระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 471 ตัวอย่าง และในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นบุคลากรด้านการศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 384 ตัวอย่าง

6. นำข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้เครื่องมือวัด นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) เพื่อหาองค์ประกอบของจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา

7. หาคุณภาพเครื่องมือวัดจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา โดย

– ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ โดยใช้การวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์คะแนนรายข้อกับคะแนนรวม (Item-total correlation)

– ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัด (Reliability) โดยการหาค่าความเชื่อมั่นแบบความสอดคล้องภายใน (Internal consistency) ด้วยวิธีการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficiency)

ผลการดำเนินงาน

ก. ผลที่ได้ตามตัวชี้วัด/เป้าหมายของโครงการ

1. ได้เอกสารการทบทวนบทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ

2. ได้ตัวชี้วัดสำหรับการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา

3. ได้เครื่องมือวัดสำหรับการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา

4. ได้คู่มือการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา

ข. ผลอื่นที่ได้นอกเหนือจากเป้าหมาย/ที่คาดการณ์ไว้

1. ได้เกณฑ์ปกติ (Norms) ที่แสดงค่าคะแนนแต่ละค่าของแต่ละองค์ประกอบและรวมทุกองค์ประกอบของแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ความถี่ อันดับเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile Rank) และคะแนนมาตรฐานที (Standardized T-Score)

2. ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ จากจำนวน 500 ตัวอย่าง เป็น 855 ตัวอย่าง

3. ได้แบบบันทึกชุดคะแนนสุขภาวะทางจิตวิญญาณแต่ละด้าน (Spiritual health profile) รวมทั้งกราฟที่แสดงคะแนนแต่ละองค์ประกอบ ทั้งกราฟที่แสดงเป็นค่าคะแนน มาตรฐานที เพื่อให้ผู้ประเมินเห็นภาพชัดเจนว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนนั้นด้านใดที่น้อย ด้านใดที่มาก และกราฟที่แสดงคะแนนดิบที่รวมจากคะแนนแต่ละข้อและช่วงคะแนนปกติ เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าคะแนนในแต่ละด้านของตนนั้นอยู่ในช่วงคะแนนปกติหรือไม่ และแบบบันทึกชุดคะแนนพร้อมทั้งตัวอย่างการบันทึก