ทักษะในศตวรรษที่ 21

1.ทักษะการเรียนรู้(learning skill) หมายความว่าเด็กใฝ่เรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้จากทุกสถานที่และเวลา

2.ทักษะการใช้ชีวิต(life skill) หมายความว่าเด็กรู้จักใช้ชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง

3.ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ(IT skill) หมายความว่าเด็กรู้จักเสพและใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน

ทักษะทั้งสามประการรวมเรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่21(21st century skill)

ทักษะการเรียนรู้ประกอบด้วย การคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการสร้างนวัตกรรม

ทักษะชีวิตประกอบด้วย รู้จุดหมายของชีวิต มีแรงบันดาลใจและรู้จักวางแผน กล้าตัดสินใจและรับผิดชอบผลลัพธ์ของการตัดสินใจ ทำงานมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ รู้จักประเมินตนเองและมีความยืดหยุ่น

ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วย รู้ทันข้อมูลข่าวสารและรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อย่างชาญฉลาด

การศึกษาไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนจากการมุ่งมอบความรู้เป็นการพัฒนาทักษะทั้งสามประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการเรียนรู้

การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้และกระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ

อันที่จริงทุกคนควรรู้เหตุผลดีอยู่แล้ว ปริมาณความรู้ในโลกมีมากมายมหาศาลเกินกำลังที่ระบบการศึกษาใดๆจะชี้ได้ว่าอะไรควรรู้อะไรไม่ควรรู้ และมีมากเกินกำลังที่เด็กจะรู้ไปเสียทั้งหมด ในทางตรงข้ามความรู้มากมายมีให้สืบค้นมากมายในอินเทอร์เน็ตและแหล่งเรียนรู้รอบตัว ดังนั้นประเด็นที่สำคัญกว่าคือเด็กไทยควรใฝ่รู้และรู้วิธีที่จะเรียนรู้และหาคำตอบด้วยตนเอง ทั้งนี้ยังไม่นับว่าในโลกที่ซับซ้อนไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวสำหรับแต่ละคำถามหรือปัญหาอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนเรื่องจะให้เรียนรู้อะไร คำตอบอยู่ที่ชุมชน

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชนและครูที่พร้อมจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ควรรู้เท่าทันว่าการศึกษาที่เป็นอยู่มีแต่จะนำลูกหลานไปสู่ทางตัน เด็กเรียนเก่งรู้มากแต่ใช้ชีวิตไม่เป็น เด็กเรียนแพ้มีมากกว่าเด็กเรียนชนะแล้วก็ใช้ชีวิตเสี่ยง เด็กถูกเทคโนโลยีสารสนเทศกระทำแทนที่จะเป็นฝ่ายเสพข้อมูลข่าวสารและใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และภาคธุรกิจซึ่งเป็น demand side ได้รับผลผลิตไปจากการศึกษาควรร่วมกันเรียกร้องรัฐให้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมดังนี้

1.เปลี่ยนครู จากผู้สอน(teacher) ให้เป็นโค้ช(coach)และผู้นำกระบวนการเรียนรู้(facilitator)

2.เปลี่ยนห้องเรียน จากห้องเรียนแบบ classroom เป็นพื้นที่การเรียนรู้ learning studio ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ประชุม พื้นที่ปฏิบัติการ พื้นที่เทคโนโลยีสารสนเทศ และพื้นที่สันทนาการ

3.เปลี่ยนโรงเรียน จากที่เป็นศูนย์การสอน เป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้

4.เปลี่ยนการประชุมครู จากที่ประชุมครูในรูปแบบเดิม เป็น ชุมชนแห่งการเรียนรู้คือ Professional Learning Community(PLC) นั่นคือครูพบกันเพื่อประเมินผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนในทุกๆวัน ด้วยกระบวนการ After Action Review(AAR)

5.เปลี่ยน หลักสูตร เป็น การเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำคือ Active Learning(AL) ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปการเรียนรู้ผ่านโครงงานคือ Project-Based Learning(PBL) หรือการเรียนรู้ผ่านปัญหาคือ Problem-Based Learning(PBL) ก็ได้ ทั้งนี้โดยมีความเชื่อมโยงกับชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่

6.เปลี่ยนการสอบเพื่อประเมินได้ตก(examination)เป็นการประเมินนักเรียนเพื่อดูความก้าวหน้าของทักษะทั้งสามประการ(formative assessment)เป็นรายบุคคลอย่างเป็นมิตรและเป็นจริง(friendly and genuinely)

7.หลอมรวมกลุ่มสาระวิชาทั้งหมดแล้วแตกออกเป็นวิชาจำเป็นพื้นฐาน 3 วิชาคือ การอ่าน(reading) การเขียน(writing) คณิตศาสตร์(arithmatics) และวิชาสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต 4 วิชา คือ สุขภาพ(Health literacy) เศรษฐศาสตร์(Economics literacy) สิ่งแวดล้อม(Environment literacy) และความเป็นพลเมือง(Civil education) โดยยึดหลักเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ และฝึกทักษะการเรียนรู้มากกว่าการมอบความรู้

ผู้ปกครองควรรู้เท่าทันการศึกษาที่เป็นอยู่ก่อน ปัจจุบันพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมากยังติดอยู่ที่กระบวนทัศน์เก่านั่นคือมุ่งหวังให้โรงเรียนสอนหนังสือมากๆและลูกของตนเป็นเด็กเก่ง คาดหวังลูกของตนเองจะเป็นผู้ชนะในการศึกษาและมีฐานะทางสังคมที่ดีขึ้นหรือธำรงสถานะทางสังคมที่เป็นอยู่ นี่คือทัศนะที่มีความเสี่ยงสูง มีผู้สมหวังจำนวนน้อยมีผู้ผิดหวังมากกว่ามาก ในอนาคตเด็กเรียนเก่งเพียงแค่มีความรู้มากแต่ไม่มีทักษะจะเอาตัวไม่รอด

ครูต้องยอมรับว่าบทบาทการสอนหนังสือที่เป็นอยู่เป็นบทบาทในกระบวนทัศน์เก่าซึ่งนอกจากไร้ผลแล้วยังมีแรงเสียดทานในการทำงานมากขึ้นทุกขณะ ครูยังคงเป็นบุคคลสำคัญอันดับหนึ่งในการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการทำงาน

ผู้ใหญ่ในสังคมที่รับผิดชอบการประเมินคุณภาพโรงเรียนและการทดสอบต่างๆควรยอมรับว่าการทำงานในกระบวนทัศน์เก่าเป็นอันตรายต่อระบบและเป็นอันตรายต่อเด็กไทย ควรศึกษากระบวนทัศน์ใหม่และเปลี่ยนแปลงวิธีประเมินคุณภาพโรงเรียนและวิธีการสอบระดับชาติในรูปแบบต่างๆ

เด็กไทยควรกล้าตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม ใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา สามารถทำงานเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรม ในขณะเดียวกันรู้จุดหมายของชีวิต มีแรงบันดาลใจและรู้จักวางแผน กล้าตัดสินใจและรับผิดชอบผลลัพธ์ของการตัดสินใจ ทำงานมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ รู้จักการประเมินตนเองและมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้คือรู้ทันข้อมูลข่าวสารและรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อย่างชาญฉลาด