เรื่องเล่า การจัดวงในอำเภอพุนพิน (ต่อ) (3)

10 คน จาก 14 คน ที่ได้เชิญไป ฉันก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะเข้าใจถ้าภารกิจงานอันเร่งด่วนของคนใน รพ.สต. (หัวอกเดียวกัน) เหลือ 10 คน ก็ยังจัดวงได้สบายๆ อีก 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันที่จัดวง ลปรร. ตามโครงการฯ ก็ได้มีโอกาสซักซ้อมความเข้าใจกับผู้เล่าทั้ง 2 คน กับ fa และ note taker ซึ่งเจ้าตัวเองก็เป็นมือใหม่หัดขับ ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดวง ลปรร. ฉันก็บอกว่าไม่เป็นไรเรามีเวลาเตรียมตัวตั้งหลายวัน ถ้าเตรียมตัวดีๆ ก็จะมีข้อผิดพลาดน้อย ไม่มีใครเก่งมาแต่กำเนิดหรอกนะ ต้องอาศัยใจ ถ้าใจสู้ก็ไม่มีอะไรยากหรอก ถึงจะมีข้อผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา น้องๆก็รู้สึกผ่อนคลาย ทุกคนมีความตั้งใจเต็มที่

2 วันก่อนจัดลงลปรร. ฉันโทร confirm กับผู้ร่วมงานอีกครั้งเผื่อว่าบางคนมีงานยุ่งๆแล้วจะลืม(อันนี้ได้ประสบการณ์จากมูลนิธิสดศรีฯ จะโทร confirm ก่อนประชุมเสมอ) คราวนี้ตอบรับมา 11 คน (อีก 1 คน ที่ลาไปแล้ว สามารถเคลียร์ภารกิจกลับมาร่วมวงได้) และได้โทรประสานกับ รพ. เครือข่ายซึ่งจะช่วยในเรื่องของการเตรียมสถานที่ในการจัดวงลปรร.(หลังจากชั่งน.น.ดูแล้ว ฉันเห็นว่าทาง รพ.มีคนเยอะกว่าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ที่จะช่วยเรื่องสถานที่และเตรียมอาหารต่างๆ)

และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง ฉันไปถึงสถานที่ประชุมตอน 8.00 น. เพื่อจะเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียง เก้าอี้ อาหารก่อนการประชุมจะเริ่มเวลา 9.00 น.ซึ่งผู้รับผิดชอบงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (ซึ่งเข้าร่วงวงด้วย) มาช่วยเรื่องการลงทะเบียน

เมื่อทุกคนมาพร้อมกันประมาณ 9.30 น. ซึ่งก็มากัน 11 คน จาก 7 รพ.สต. ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และแม่ข่ายละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 13 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป และมีผู้สังเกตการณ์ จากต่างเครือข่ายมาดู เพื่อจะได้นำไปจัดในเครือข่ายของตัวเอง อีก 4 คน

วันแรกฉันก็สวมบทบาทวิทยากรครูก. ทำหน้าที่เป็น fa โดย มีการตั้งกติกากลุ่ม จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมโดยให้ทุกคนหัดเล่าและหัดฟัง หลังจากนั้นก็ให้แต่ละคนได้ฝึกเป็น fa เป็น note taker ซึ่งบรรยากาศก็เต็มไปด้วยมิตรภาพ บางครั้งก็มีเสียงหัวเราะ บางครั้งก็นิ่งอึ้งเมื่อได้ฟังเรื่องเล่าดีๆจากคนทำงานจริง ผลัดกันถาม ช่วยกันสะท้อน แต่ละคนได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์อย่างเต็มที่เพราะเป็นหน้างานเดียวกัน จนกระทั่งสิ้นสุดการประชุมวันแรก ฉันก็ขอความร่วมมือให้ทุกคนได้เข้ามาร่วมวง ลปรร.ในวันพรุ่งนี้อีก 1 วัน มีพี่ที่เป็น ผอ.รพ.สต.แห่งหนึ่งติดภารกิจุระสำคัญมากในช่วงเช้า แต่รับปากว่าจะมาให้ทันในช่วงบ่าย ทุกคนก็แยกย้ายกลับไป ฉันก็ได้เตรียมความพร้อมของทีมผู้เล่า ทีม fa , note taker ที่จะจัดวง ลปรร.ในวันพรุ่งนี้ ซักซ้อม ทำความเข้าใจ และให้กำลังใจกับทีม ช่วยกันเก็บข้าวของเสร็จ ฉันก็มานั่ง AAR ทบทวนว่า 1 วัน ที่ผ่านไปแล้ว บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ และมีส่วนใดที่จะต้องนำไปปรับปรุงหรือเพิ่มเติมในวันรุ่งขึ้น ก็จดไว้อยู่หลายข้อ

เช้าวันที่สองของการจัดวงลปรร. (ซึ่งช่วงเช้ามี 10 คน) หลังจากได้จักกิจกรรมละลายพฤติกรรม โดยให้ทุกคนเล่าแสดงความรู้สึกของการจัดลปรร. ที่ผ่านไป 1 วัน ว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อทุกคนได้พูดเล่าความรู้สึกแล้วก็เพิ่มเติมในประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ของเมื่อวาน หลังจากนั้นก็ดู VCD ของมูลนิธิสดศรีฯ ที่ได้จัดทำขึ้นตอนทำโครงการพัฒนาจิตฯ ซึ่งทุกคนก็ให้ความสนใจ บอกว่าชอบมาก ทำให้เข้าใจกระบวนการลปรร.มากขึ้น

ช่วงบ่ายของการอบรมวันที่ 2 (พี่ที่ติดธุระในช่วงเช้าก็รีบมาร่วมวงได้ทันในช่วงบ่าย) เราได้จัดวงลปรร. ในเรื่องการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ต้นแบบของอำเภอ โดยมีผู้เล่า 2 คน จาก รพ.สต. ต้นแบบในการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของอำเภอ โดย ผอ.รพ.สต. เล่าในส่วนของการบริหารจัดการและนักวิชาการผู้รับผิดชอบงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจะเล่าในเรื่องของการดำเนินการโดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์

ทุกคนก็ให้ความสนใจ ซักถาม รวมทั้งมีการสะท้อนความรู้สึก ร่วมแชร์ประสบการณ์ภายในวง ส่วน fa ก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะเป็น fa ใหม่ก็ตาม แต่ก็มีความตั้งใจสูงและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี note taker ก็สามารถจดบันทึกได้ประเด็นหลักๆ ส่วนรายละเอียดย่อย บางช่วงก็มาเติมภายหลัง โดยฉันก็จะช่วยบ้าง เมื่อ fa เริ่มจะสะดุดและหันมามองฉัน แต่ด้วยความที่เรามีความสนิทสนมกันอยู่ก่อนแล้ว ในฐานะพี่ๆ น้องๆ เครือข่ายเดียวกันก็ทำให้การจัดวงครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี เมื่อ fa ได้กล่าวปิดวง ลปรร.ในครั้งนี้แล้วทุกคนในวงก็มาช่วยกันถอดบทเรียนว่าเราได้อะไรเรียนรู้อะไรจากเรื่องเล่า ซึ่งทุกคนจะได้นำกลับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานของตนเอง ซึ่งเรื่องเล่าทำให้ทราบถึงกระบวนการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงาน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย การแต่งตั้งคณะกรรมการ การประชุมคณะกรรมการ การจัดอบรมแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ให้แก่ผู้นำและแกนนำชุมชน การเข้าร่วม ลปรร. กระบวนการทำงานจากชุมชนอื่นๆ นอกเครือข่ายที่เป็น good practice การประสานงานร่วมกันในการจัดทำแผนชุมชนและกติกาชุมชนในขั้นตอนการดำเนินงาน การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพในเรื่องของ 3อ. 2 ส. ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน การหางบประมาณหรือแหล่ง สนับสนุนอื่นๆ ซึ่งทุกขั้นตอนต้องใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อนจึงจะทำให้งานประสบความสำเร็จและยั่งยืน

หลังจากที่นำรายละเอียดที่ได้จาการจดบันทึกและนำมาช่วยกันถอดบทเรียนภายในวงมีการตรวจสอบกับผู้เล่าในบางประเด็น ทำให้เราได้รับความรู้อย่างมากมายก่อนจบวง ลปรร.ในวันนั้นทุก รพ.สต. ได้ทำพันธะสัญญากันว่า จะนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติและดำเนินการจัดวง ลปรร.ในหน่วยงานของตนเอง และได้มีการถ่ายภาพความประทับใจร่วมกัน

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการจัดวงลปรร. ฉันได้พิมพ์เรื่องเล่าการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพส่งต่อให้กับทุก รพ.สต.ในเครือข่าย โดยนำไปใส่ใน Locker ของแต่ละ รพ.สต. ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ

หลังจากนั้นมีหลายๆพื้นที่ได้โทรมาสอบถามการดำเนินงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพิ่มเติมจาก รพ.สต.ต้นแบบ และหลายๆ พื้นที่ได้เข้ามาศึกษาดูงาน

สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ฉันรู้สึกภาคภูมิใจในฐานะคนธรรมดาๆที่ได้มีโอกาสทำงานจนประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง สำหรับปัญหาอุปสรรคต่างๆกลับทำให้เราได้มีโอกาสฝึกฝนตนเอง ฝึกพลังในการที่จะแก้ไขปัญหา เมื่อผ่านไปได้ เราจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง