การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (10)

ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ซึ่งจะหมายถึงความเข้ากันได้อย่างเหมาะสมกับข้อมูลใหม่ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะมาจากตัวอย่างชุดไหนก็ตาม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สมมติฐานไม่ได้ถูกท้าทายจากข้อมูลใหม่อีกต่อไป ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะปรับอีก

เมื่อสมมติฐานนิ่งแล้ว นักวิจัยจะต้องหาข้อสรุป ซึ่งอาจอยู่ในรูปของคำอธิบายหรือกรอบแนวคิดทฤษฎี และนั่นคือจุดจบของการวิจัยแบบนี้ ความรู้ที่ได้มาโดยผ่านกระบวนการเช่นนี้ว่า เป็นความรู้หรือทฤษฎีที่มีฐานมาจากข้อมูลโดยตรง (grounded in the data) จะสังเกตว่าในกระบวนการวิจัยแบบนี้ การเก็บข้อมูลกับการวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินควบคู่กันไป และทั้งสองจบลงพร้อมกัน

วิธีดำเนินการวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล มีความซับซ้อนและความท้าทายในการดำเนินการวิจัยจากการตั้งคำถามว่า นักวิจัยจะสร้างมโนทัศน์และกรอบแนวคิดทฤษฎีขึ้นมาจากข้อมูลได้อย่างไร โดยผู้วิจัยจำเป็นจะต้องเข้าใจสิ่งที่นักวิจัยต้องกระทำในกระบวนการวิเคราะห์ของวิธีการวิจัยแบบนี้ เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกำหนดรหัส (coding) เพื่อการจำแนกข้อมูลและเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อันได้แก่ การเปรียบเทียบ (constant comparison) และการเลือกตัวอย่างเพื่อตรวจสอบทฤษฎี (theoretical sampling)

สำหรับวิธีการวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล นักวิจัยใช้การกำหนดรหัส (coding) เป็นเครื่องมือในการจำแนกข้อมูล การกำหนดรหัสคือการ “แตก” ข้อมูล (เชิงคุณภาพ) ออกเป็น “หน่วยย่อย” หลายๆ หน่วย โดยที่แต่ละหน่วยมีความหมายเฉพาะในตัวเอง เพื่อนักวิจัยจะสามารถจัดการกับข้อมูลได้สะดวก หน่วยย่อยแต่ละหน่วยนั้นจะถูกให้สัญลักษณ์เป็นรหัส (หรือชื่อ) โดยปกติการกำหนดรหัสมักจะต้องมีโครงสร้างที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนกรอบกว้างๆ อาจกำหนดรหัสให้มีลักษณะเป็นเชิงพรรณนา (ที่บอกเพียงว่านี่คืออะไร ใคร ที่ไหน ฯลฯ) หรือเป็นเชิงวิเคราะห์ (บอกเหตุผล คำอธิบาย) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าในการวิเคราะห์นั้นมุ่งการตีความมากน้อยเพียงใด

ในกระบวนการกำหนดรหัส นักวิจัยต้องทำสองอย่างไปพร้อมๆ กัน คือ

1) อ่านข้อมูลอย่างพินิจพิเคราะห์และอ่านหลาย ๆ ครั้ง ขณะที่อ่านก็มองหามโนทัศน์ (concepts) หรือความหมายที่บ่งนัยอยู่ในข้อความนั้น

2) เปรียบเทียบมโนทัศน์/ความหมายที่ปรากฏอยู่ในข้อความหนึ่ง กับมโนทัศน์/ความหมายในข้อความอื่นที่เหลือ เพื่อให้สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่บ่งบอกอยู่ในข้อความเหล่านั้นหมายถึงสิ่งเดียวกัน เรื่องเดียวกัน หรือหมายถึงคนละเรื่องคนละอย่างกัน ข้อความที่มีความหมาย เหมือนกันจะถูกกำหนดรหัสเป็นตัวเดียวกัน และที่มีความหมายต่างกันก็จะถูกให้รหัสต่างกัน

ด้วยรหัสเหล่านี้ นักวิจัยจะสามารถจัดกลุ่มหรือประเภทของข้อมูลได้ โดยอาศัยความหมาย (ซึ่งในตอนนี้ถูกแทนด้วยรหัส) ที่ให้แก่ข้อความนั้น ๆ เป็นเกณฑ์

โปรดสังเกตว่า การกำหนดรหัสไม่ใช่การจำแนกข้อความในทางกายภาพ แต่เป็น การจำแนกตาม ความหมาย ที่บ่งบอกอยู่ในข้อความนั้น ๆ ความหมายนั้นอาจจะตรงไปตรงมาตามตัวอักษร หรืออาจจะเป็นสิ่งที่นักวิจัยต้องตีความเอาก็ได้

ในวิธีวิเคราะห์แบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล มีการกำหนดรหัสที่ควรทราบอยู่ 3 แบบ คือ

1) การกำหนดรหัสเพื่อจำแนกข้อมูล (Open Coding) มีลักษณะเป็นการกำหนดรหัสแบบกว้างๆ ทำเช่นเดียวกับที่กล่าวไปข้างต้น คือนักวิจัยมองหาข้อความที่มีความหมายเข้าข่ายกับเรื่องที่ตัวเองทำการวิเคราะห์ แล้วกำหนดรหัสที่เหมาะสมให้แก่ข้อความเหล่านั้น จุดมุ่งหมายสำคัญของการกำหนดรหัสแบบนี้ก็เพื่อการจัดกลุ่มจัดประเภท หรือเพื่อจำแนกข้อมูลเป็นหลัก

2) การเชื่อมโยงข้อมูลที่ให้รหัสแล้ว (Axial Coding) เป็นการเชื่อมโยงข้อมูล (ข้อความ) ที่ให้รหัสแบบ open coding แล้วเข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่ม ตามความสัมพันธ์ที่รหัสเหล่านั้นมีต่อกัน สังเกตว่า ข้อมูลที่ให้รหัสแบบ open coding แล้วนั้นเป็นเพียงความหมายซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ axial coding จะทำหน้าที่เชื่อมโยงความหมายเหล่านั้นเข้าด้วยกัน โดยยึดใจความที่เข้ากันได้และที่บ่งถึงเรื่อง (theme) เดียวกันของข้อความเหล่านั้นเป็นเกณฑ์ ผลลัพธ์ของ axial coding คือเรื่อง หรือ “มโนทัศน์” ที่จำแนกข้อมูลออกเป็นกลุ่ม ๆ หรือเป็นหัวข้อย่อย สิ่งที่ได้ในขั้นนี้เริ่มจะบอกแนวคิดสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ที่ศึกษาในระดับหนึ่ง

3) การบูรณาการข้อมูลที่จัดกลุ่มแล้วให้เป็นเรื่องราวที่มีความหมาย (Selective Coding) เป็นการนำเอาข้อมูลที่จัดกลุ่มเป็นประเภทแล้วในขั้น axial coding มาบูรณาการเข้าให้เป็นเรื่องราว โดยอาศัยความสัมพันธ์ของมโนทัศน์หรือหัวข้อย่อยที่ได้จากขั้น axial coding เป็นแนวทาง ในขั้นนี้นักวิจัยสามารถสร้างข้อเสนอหรือญัตติทางทฤษฎี (proposition) หรือสมมติฐาน สำหรับอธิบายปรากฏการณ์ที่ศึกษาข้อเสนอและสมมติฐานนี้จะต้องผ่านการตรวจสอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีอยู่ หรือถ้าจำเป็นก็อาจจะรวบรวมข้อมูลใหม่ เพื่อมาตรวจสอบและปรับปรุงสมมติฐาน/ทฤษฎีที่ได้นั้นเป็นการเฉพาะ การปรับปรุงและการตรวจสอบสมมติฐาน/ทฤษฎีทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าสมมติฐาน/ทฤษฎีที่สร้างขึ้นนั้นจะถึงจุดอิ่มตัว (theoretical saturation) ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ขั้นตอนต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องของการนำเสนอข้อสรุปในเชิงแนวคิดหรือทฤษฎีซึ่งอาจจะแสดงเป็นภาพจำลองทางความคิด (conceptual model) สำหรับการอธิบายในรูปใดรูปหนึ่งตามความเหมาะสม

Charmaz (2000) ได้สรุปวิธีดำเนินการสำหรับการวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูลไว้ ดังนี้ รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลไปพร้อม ๆ กันสร้างมโนทัศน์จากข้อมูลด้วยเทคนิคการกำหนดรหัสหลายแบบ ใช้การเปรียบเทียบเพื่อจำแนกประเภท และหาความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ นักวิจัยเขียนบันทึก เพื่อเก็บความคิดทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการกำหนดรหัสและการเปรียบเทียบ ความคิดเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมกรอบแนวคิดและทฤษฎีได้ดี ตรวจสอบความเหมาะสมและความถูกต้องของทฤษฎีที่สร้างขึ้น ด้วยข้อมูลที่รวบรวมมาใหม่ โดยเลือกผู้ให้ข้อมูลที่เหมาะสมด้วยวิธีการที่เรียกว่า theoretical sampling สร้างกรอบแนวคิดทฤษฎีและบูรณาการเข้ากับข้อมูลจริง เพื่อการนำเสนอผลการวิจัย