การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (8)

ความรัก ความปรารถนาดี ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นประสบความสุข 2) มีกรุณาต่อผู้อื่น คือ มีความสงสารอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ใส่ใจที่จะบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อื่น 3) มีมุฑิตาต่อผู้อื่น คือ มีความเบิกบานพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีใจแช่มชื่น เบิกบานเมื่อเห็นเขาประสบความสำเร็จงอกงามก็พลอยยินดีไปกับเขาด้วย 4) มีอุเบกขา คือ มีใจเป็นกลาง มองเห็นความเป็นจริง โดยวางจิตเรียบสม่ำเสมอ มั่นคงมองเห็นการที่บุคคลจะได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุที่ตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัย วางตนและปฏิบัติตามความเที่ยงธรรม

สรุปได้ว่า พรหมวิหาร 4 คือ หลักธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ที่มีใจอันประเสริฐ ประกอบด้วยข้อธรรม 4 ข้อย่อย คือ 1) เมตตา คือ มีความรัก มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือให้ผู้อื่นมี่ความสุข 2) กรุณา คือ มีความสงสาร อยากช่วยให้ผู้อื่นอื่นให้พ้นจากความทุกข์ที่เผชิญอยู่ 3) มุฑิตา คือ มีความยินดีเมื่อผู้อื่นประสบความสุขกาย สบายใจ หรือประสบความสำเร็จ 4) อุเบกขา คือ มีความสามารถในการวางใจของตนให้เป็นกลาง และพิจารณาสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย กล่าวคือ เมื่อคนทำดีย่อมได้รับผลกรรมที่ดี ส่วนคนที่ทำสิ่งไม่ดี ก็ย่อมได้รับผลกรรมไม่ดีสมควรแก่กรรมที่เขาก่อขึ้นมา เพราะคนทุกคนมีความสามารถรับผิดชอบชีวิตและ การกระทำของตนได้ ดังนั้นหากพบเจอบุคคลที่ตกอยู่ในความทุกข์ ที่มิอาจเข้าไปช่วยเหลือได้ เนื่องจากเกินความสามารถที่จะทำได้ ก็พึงระลึกว่า เป็นกรรมที่เขาได้กระทำไว้ในกาลก่อน ก่อให้เขาได้รับผลดังที่เป็นอยู่

4.2 สังคหวัตถุ 4

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตตฺโต) (2551: 143) ให้ความหมายสังคหวัตถุ 4 สรุปได้ว่า สังควัตถุ 4 หมายถึง ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ซึ่งมีหลักการสงเคราะห์ ดังนี้ 1) ทาน การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ ตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน 2) ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยินดี 3) อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม 4) สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะบุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี อาภา จันทรสกุล (2551: 121-122) กล่าวถึงองค์ประกอบของสังคหวัตถุ 4 สรุปได้ดังนี้ 1) ทาน คือ ความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือ สงเคราะห์ด้วยปัจจัย 4 ตลอดจนให้ความรู้ ความเข้าใจ และศิลปวิทยา 2) ปิยวาจา คือ การกล่าวคำสุภาพ ไพเราะ น่าฟัง ชี้แจง แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเหตุผลเป็นหลักฐาน ชักจูงในทางที่ดีงาม หรือคำแสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ รู้จักพูดให้เกิดความเข้าใจดี 3)อัตถจริยา คือ การช่วยเหลือด้วยแรงกายและแรงปัญญา ช่วยแก้ไขปัญหาและช่วยปรับปรุง ส่งเสริมในด้านจริยธรรม 4) สมานัตตตา คือ การทำตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ มีความเสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเสมอภาค ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมรับรู้ ร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

จากการประมวลเอกสารดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า สังคหวัตถุ 4 เป็นองค์ธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้บุคคลมีน้ำใจที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ก่อให้เกิดความสามัคคีในสังคม ประกอบด้วย ข้อธรรม 4 ข้อย่อย คือ 1) ทาน คือ การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการแบ่งปันสิ่งของ หรือการให้ความรู้ 2) ปิยะวาจา คือ การใช้วาจาที่สุภาพ อ่อนหวานในการสื่อสารกับผู้อื่น ก่อให้เกิดความรักและไมตรีจิตแก่คนรอบข้าง ตลอดจนการแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เพี่อให้เขามีชีวิตที่ดีงาม 3) อัตถจริยา คือ การสละแรงกายและแรงปัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ตลอดจนมีการส่งเสริมด้านจริยธรรมซึ่งกันและกัน 4) สมานัตตตา คือ การปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นในสังคม มีความเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับคนรอบข้าง ตลอดจนสามารถปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

พรหมวิหาร 4 และสังคหวัตถุ 4 เป็นองค์ธรรมที่อยู่ในประเภทธรรมเพื่อความดีงามแห่งสังคม ถึงแม้ว่า องค์ธรรมทั้ง 2 อย่างนี้ จะจัดอยู่ในคนละหมวดธรรมกัน แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตตฺโต) (2552: 125) กล่าวว่า ผู้ที่มีพรหมวิหาร 4 จะแสดงออกมาในลักษณะของการเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุ กล่าวคือ พรหมวิหาร 4 เป็นพื้นฐานของจิตใจ เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวบุคคล การที่จะทราบได้ว่า บุคคลนั้นๆ มีพรหมวิหารในจิตใจหรือไม่นั้น จะสังเกตได้จากการแสดงออกภายนอกด้วยการให้สังคหวัตถุ สังคหวัตถุจึงเป็นสิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นได้ ซึ่งก็คือพฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ นั้นเอง

4.3 สัปปุริสธรรม 7

สัปปุริสธรรม 7 เป็นคุณสมบัติของคนดี ในหมวดธรรมสัปปุริสธรรม 7 นี้ ประกอบด้วยข้อธรรมทั้งหมด 7 ข้อ ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ประยุตฺโต) (2551: 210) ได้ให้ความหมายของข้อธรรมแต่ละข้อ สรุปได้ว่า 1) ธัมมัญญุตา หมายถึง ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ

รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น 2) อัตถัญญุตา หมายถึง ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าการที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น 3) อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป 4) มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น รู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ เป็นต้น 5) กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น 6)ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น 7) ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

4.4 ความสุข

ความสุขตามทรรศนะของพุทธศาสนามีหลายระดับ หลายประเภท แต่การทบทวนเอกสารในงานวิจัยครั้งนี้ ขอกล่าวถึง สามิสสุข-นิรามิสสุข เป็นหลัก ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ประยุตฺโต) (2548: 115-117) ได้กล่าวถึงสามิสสุข-นิรามิสสุข สรุปได้ดังนี้ สามิสสุข เป็นความสุขที่พึ่งพา ขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอก จึงเป็นความสุขที่ต้องหา ต้องได้ ต้องเอา และถ้าไม่จัดการด้านวินัยให้อยู่ในศีล ก็จะเป็นความสุขแบบแก่งแย่งช่วงชิงกันทำให้เกิดการเบียดเบียน ตั้งแต่อย่างเบา จนถึงอย่างรุนแรงที่สุด เรียกว่า เป็นความสุขที่เจือด้วยภัยเวร นิรามิสสุข หมายถึง ความสุขที่ไม่ขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพบริโภค หรือความสุขที่ไม่ต้องมีเหยื่อล่อ เป็นความสุขภายในที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุ แบ่งออกเป็น 2 ระดับย่อย คือ 1) สุขขั้นต่อนิรามิส หมายถึงความสุขในระดับของการสนองความต้องการในทางดีงามสร้างสรรค์ หรือความต้องการที่เป็นกุศล เรียกให้สั้นว่า สุขขั้นฉันทะ ประกอบด้วย (1) สุขจากอยู่ใกล้ชิดชื่นชมธรรมชาติ (2) สุขจากอยู่ร่วมสัมพันธ์ ช่วยเหลือกันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตาการุณย์ (3) สุขจากการค้นคว้าหาความรู้แสวงความจริงด้วยใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรม (4) สุขจากการทำงานหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ใจรักใฝ่ทำ ใฝ่สร้างสรรค์ (5) สุขจากภาวะจิตกุศล เช่น มีศรัทธา มีปีติในการได้ทำบุญ-บำเพ็ญประโยชน์ มีปัญญามองสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้เข้าใจโปร่งโล่ง 2) สุขขั้นเป็นนิรามิส หมายถึงความสุขในระดับที่เป็นนิรามิสแท้จริง เป็นอิสระจากสิ่งภายนอกสิ้นเชิง ประกอบด้วย (1) สุขจากสมาธิในฌาน หมายถึง จิตสงบปลอดพ้นจากอกุศลและสิ่งรบกวน (2) สุขแห่งนิพพาน หมายถึง ปัญญารู้แจ้งจริงถึงขั้นทำ ให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระสมบูรณ์