สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (14)

เขาหน่อยนะ เรียนรู้เขาหน่อยนะ ดูเขาหน่อยนะ ไม่ใช่ไปเรียกให้เขามาฟังพระแล้ว คุณก็ต้องดูอย่างที่ฉัน Action ให้พวกคุณดู มันไม่ใช่อะ พอไปแล้วยิ่งคำว่าผู้ใหญ่ลีรู้สึกเขาสอนอะไรม้ากเลย…

(ลปรร.ภาคอีสาน)

ดังชี้ข้างต้นแล้วว่าความตระหนักในความมีความหมายนั้นดูจะเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่บุคคลเริ่มยึดติดคุณค่าบางอย่างว่าเป็นตัวตนและหยุดเรียนรู้ ก็เสี่ยงที่จะสูญเสียซึ่งสมรรถนะทางจิตวิญญาณ ตัวอย่างที่ยกมามีทั้งผู้ที่ดูเหมือนจะหยุดเรียนรู้แล้วกับผู้เรียนรู้ที่จะคงความมีความหมายต่อไปหลังจากมีสถานการณ์มากระทบ กรณีหลังสุดนั้นทำให้เห็นได้ชัดว่ามีการพัฒนาความมีความหมาย มีการหันเหจากเดิมที่ตระหนักถึงความมีความหมายโดยอาศัยคุณค่าที่สังคมทั่วไปยึดถือ ได้แก่ สถานะ โดยเปลี่ยนไปสู่การแสวงหาสิ่งที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากมองมุมกลับ ก็ดูเหมือนว่าบุคคลที่ลุซึ่งความมีความหมายนั้น ได้เผชิญกับงานที่ไม่มีวันจบสิ้นและต้องคอยเผชิญกับความท้าทายในอันที่จะธำรงความมีความหมายนั้นไว้อยู่เสมอ อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงขั้นที่สมรรถนะด้านการคิดเชิงบวกมีพลังมาก กระทั่งสามารถสัมผัสคุณค่าได้เอง หรือสมรรถนะด้านการปรับหาผู้อื่นสามารถปลดปล่อยไปจากตัวตน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจตัวตนได้ลึกยิ่งขึ้นดังตัวอย่างข้างต้น

4.5 ปัจจัยสนับสนุน

ในการกล่าวถึงการได้มาซึ่งความตระหนักในความมีความหมายข้างต้น ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ภายนอก ลักษณะส่วนบุคคล และปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ การใช้วิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเชิงบวก การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การไตร่ตรองตัวตน การฟังและเล่าเรื่อง หรือแม้กระทั่งการปรับเข้าหาผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวมุ่งมองไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะ ยังมีปัจจัยอีกประการที่ยังไม่ได้กล่าวถึง ได้แก่ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การมีตัวแบบที่ดี หรือบริบททางวิชาชีพ

…สังคมที่ดีก็คือ ตอนนั้นไปทำงานแล้วรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงาน ตอนนั้นสนิทกับทันตแพทย์ที่อยู่ด้วยกัน เขาเป็นคนดี เป็นคนแนวคิดดี คิดเชิงบวก ทำตัวแบบที่ดี คุณหมอที่อยู่กับเราก็เป็นคนเสียสละ ทำงานชุมชนแกจะไม่อยู่เฉยๆ แกจะขึ้นเวรลงเวร 24 ชั่วโมง แกมีแต่ทำงาน เรื่องเที่ยวเรื่องอะไรแกจะน้อยมาก แล้วแกก็จะทำให้เราเห็น อย่างคนไข้ที่เป็นเอดส์แกก็รับมาดูแลเป็นบุตรบุญธรรม แล้วมันรู้สึกว่ามันมีด้วยเหรอคนดีแบบนี้ แล้วเรารู้สึกว่าเราเห็นสิ่งที่คนที่เขาได้รับเขาแสดงออก เขาก็มีความสุข แล้วมันก็เหมือนกับว่าวิชาชีพเรามันมีส่วนขัดเกลาหนูนะ หนูคิดว่าถ้าหนูทำวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่สัมผัสกับคนเชิงลึกแบบนี้ หนูก็อาจะไม่คิดแบบนี้ก็ได้ แต่ว่าการที่ได้สัมผัสถึงทุกข์ของเขา เห็นวิกฤตในชีวิตของเขา ทำให้มันขัดเกลา เพราะว่าพอดูแล้วเราจะมาคิดถึงตัวเอง ว่าเราดีกว่าเขาเยอะเลยนะเนี่ย หรือว่าบางคนเขาแย่อยู่แล้ว อย่างหนูคุยกับพี่ติ๋ว แกแย่ หมายถึงสุขภาพแกนี่แย่แล้วในตอนนั้น แต่แกก็อยากจะออกมาช่วยเหลือคน หมายถึงว่าวิกฤตในชีวิตคนอื่น ทำให้เรามาพัฒนาจิตใจเรา แล้วก็ขัดเกลาเรา แล้วก็สังคมที่เป็นตัวแบบที่ดี มันก็เลยทำให้เหมือนกับว่ามันขัดเกลาเรา ถ้าหนูไปอยู่ในสังคมที่เค้าคิดไม่ดี หนูก็คงจะคิดตามเขานะคะ เพราะว่าตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าจะเลือกตัวแบบไหน…

(ลปรร.ภาคอีสาน)