ปฏิรูปการศึกษา ภาคลงมือทำจริง (3) พัฒนาโรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ 21 ด้วยเรื่องเล่า

คุณครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องจึงจะสอน PBL ได้ บทบาทการเป็น “โค้ช” และเรียนรู้ไปด้วยกันกับเด็กต่างหาก ที่ทำให้การเรียนนั้นมีชีวิตชีวา และที่สำคัญคือสนุก

เรื่องที่ ๓ สุขศึกษากับลำยองทองเนื้อเก้า : คุณครูอาศัยละครน้ำดีที่กำลังออกอากาศและได้รับความนิยมในขณะนั้น โดยเชื่อมโยงกับวิชาสุขศึกษา หรือเชื่อมโยงกับวิชาสุขภาพ (Health) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ ของวิชาอนาคตนั่นเอง

เรื่องที่ ๔ พัฒนาตลาดนัดวันเสาร์ให้ยั่งยืน : สำหรับเรื่องนี้ ผู้เขียนทึ่งมากที่วิจัยของเด็กนักเรียนชั้น ป.๒ ทำให้ตลาดนัดวันเสาร์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และด้วยการมีส่วนร่วมรับผิดชอบจากหลายฝ่าย

เพราะ PBL คือ ชีวิตส่วนย่อของนักเรียน เรื่องเล่าลักษณะนี้จึงมักยาว ขอเชียร์ให้อ่านแล้วจะเข้าใจ PBL และรับรู้ความสุขของนักเรียน ของคุณครูที่เกิดขึ้น อย่างเช่นที่ผู้เขียนก็รู้สึก

 

เรื่องที่ ๑ “ดินสอหายไปไหน”

คุณครูอ้อย ขนิษฐา อาษาชำนาญ สอนชั้น ป.๒ โรงเรียนอนุบาลสตูล

“…น้องเวฟเขาเสนอเรื่องดินสอมา เพื่อนๆ ก็เสนอ แต่ทำไมเรื่องเขาโดนเลือก เพราะด้วยเหตุผลว่า ‘ไม่มีใครไม่ใช้ดินสอใช่ไหม’ ทุกคนใช้ดินสอกันทุกคน ‘ใครที่ดินสอไม่หายบ้าง’ ไม่มีเลย เป็นกติกาเป็นข้อตกลงว่า เรื่องแต่ละเรื่องจะต้องร่วมกัน หาข้อตกลงได้ ปีนี้ต้องเรื่องเดียว แล้วเรียนเรื่องนี้ก่อน เพื่อนๆ ก็เลือกเป็นเรื่องของห้อง ขั้นที่ ๑ เป็นขั้นที่ใช้เวลานานมาก ปีแรกครูอ้อยก็ลองผิดลองถูก วนไปวนมา จะนำพาไปทางไหน สกว.ก็แอบมองเราอยู่ บริบทของอนุบาลสตูล ป.๒ มี ๖ ห้องเรียน แต่มีครูแกนแค่ ๒ คน ๒ คนนี้นำพา ๖ ห้องเรียน คือนอกจากห้องตัวเองแล้ว ต้องนำพาอีก ๒ ในปีที่ ๑ แต่พอปีที่ ๒ ก็ขยายคนออกมา ปีแรกครูอ้อยเป็นตัวแกน และอีก ๒ ห้องจะร่วมกระบวนการกับครูอ้อย ร่วมคิดร่วมทางกันไปให้มันครบ ๑๐ ขั้นตอน ปีที่ ๑ มันมีเป้าที่เราเริ่มมองเห็น เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เด็กตั้งคำถามได้ดี คำถามว่าอะไร ทำไม อย่างไร ตัวคำถาม W ทั้งหลาย นี่มันเหมือนคำถามวิจัยเลย เช่น

“แล้วหาสาเหตุการหายได้อย่างไร”

“จะไม่ให้หายอย่างไร”

“เกิดผลอะไร”

“เกิดประโยชน์อย่างไร”

เด็กได้ทักษะ โดยที่เราก็ไม่ต้องไปเน้นย้ำ คำถามที่ดีต้องเป็นอย่างนี้นะ ผลพลอยได้ เด็ก ป.๒ จะได้ภาษาไทยที่ยากขึ้น เช่น เทคนิคการตั้งคำถาม ประโยคคำถามไม่รู้ตัวเลย คำถามปลายเปิดด้วยนะ ทำไม อย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้หายอีก ถ้าไม่หายแล้วจะเกิดประโยชน์แก่ตัวเอง แก่ผู้อื่นอย่างไร พอจบไปชั่วโมงหนึ่ง ได้โจทย์แล้วเป็นเรื่องดินสอ ครูอ้อยก็ต้องกลับไปทำการบ้าน ตอนแรกในวงถอดบทเรียน ครูอ้อยไม่กล้าเสนอนะว่า เด็กเราเลือกเรื่องดินสอ เขาจะหัวเราะไหม เพราะเรื่องดินสอเป็นเรื่องเล็ก แต่พอเข้ากระบวนการ ถ้าจากเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่เมื่อไร ผอ.บอกว่ามันคือเรื่องที่น่าสนใจ นั่นคือใช่

ปี ๒๕๕๓ ไม่ได้อยู่ในอาคารเรียนปกติ อยู่อาคารชั่วคราว เพราะอาคารโดนไฟไหม้ เราลงมาข้างล่าง อยู่กับเด็ก ปัญหาที่เด็กเสนอมาจริงๆ มีหลายอย่าง เรื่องน้ำ เรื่องไฟ เรื่องประปา ห้องน้ำเหม็น พอเราบอกว่าเรื่องใกล้ตัวนะ เด็กก็จะมองใกล้จริงๆ ห้องน้ำมันเหม็นนะคุณครู แล้วเราก็มาคิดแนวทาง เพราะเราเป็นกระบวนการวิจัย ถ้าเรื่องที่ได้คำตอบเลย ก็ไม่ต้องคิดหาคำตอบแล้ว ก็จบไม่ต้องทำต่อ เช่น เรื่องห้องน้ำมีกลิ่น ถ้าใช้ห้องน้ำให้ถูกสุขลักษณะ มันก็แก้ได้อีก ปัญหาที่แก้ได้ก็ตัดไป นี่คือการลองผิดลองถูกของครู เรื่องที่เลือกเป็นเรื่องที่สนใจ หรือเรื่องที่เป็นปัญหาก็ได้

เวลาทำวิจัยเราทำจากการแก้ปัญหา ครูอ้อยได้ลองผิดลองถูกกับเพื่อนห้องอื่นหลายคน บางห้องเอาเรื่องที่น่าสนใจในชุมชน ถ้าเป็นเด็กโตบริบทจะกว้างกว่าเด็กเล็ก ทุกคนมีสิทธิ์เสนอเรื่อง เขาก็เสนอ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนวิชาการพูด เล่าเรื่องครอบครัวของฉัน เด็กจะเล่าเหมือนกันหมด แต่ตอนนี้ของตัวเองมันขึ้นมาแล้ว ฉันสนใจเรื่องนี้ ฉันอยากเรียนเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเรื่องปลาทอง เพราะมันเป็นปลาที่สวย ทำอย่างไรไม่ให้มันตาย มาจากความสงสัยหลายๆ ข้อ แต่จะทำอย่างไรให้เหลือเรื่องเดียว เราก็ต้องตั้งกติกาเข้าไปอีก ปัญหาที่ต้องทำให้เห็น ทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ เพราะว่าเวรแต่ละวันจะมาหาคุณครูตลอดเลย ถือดินสอมาเป็นกำๆ เวลาทำความสะอาดก็จะเจอ แต่จริงๆ ก่อนที่มาเป็นดินสอ มันมีกบเหลา มีไม้บรรทัด ยางลบ เต็มไปหมด เก็บใส่เป็นของกองกลางเต็มตะกร้า ประกาศหาใครไม่รับ พฤติกรรมแบบนี้มีมาแล้ว

เราก็มาคิดว่าจะเอาปัญหาอะไร ตอนแรกเด็กก็บอกว่าปัญหาเรื่องอุปกรณ์การเรียน ผอ.บอกว่ายังใหญ่อยู่ ให้เล็กลง เราก็เลยจัดเข้ากระบวนการ ให้ทุกคนมองว่าอะไรที่เป็นปัญหามากที่สุด เขาก็สำรวจตัวเองกัน เวฟก็ให้ทุกคนบอกออกมาว่อะไรหายมากที่สุด อะไรหายเยอะที่สุด เขาออกแบบกันเอง อุปกรณ์มีกี่อย่างก็ tick ออกมา จนครบ ๔๐ คน ที่ยาวที่สุดคือดินสอ และใช้เยอะมากด้วย มากกว่ายางลบ มากกว่าไม้บรรทัด ก็เอาเรื่องนี้แหละ แก้พฤติกรรม ทุกคนมองว่าเราศึกษาเรื่องนี้กันดีกว่า โดยที่ครูกระตุ้นเด็ก โน้มน้าวเด็กด้วยว่าเป็นเรื่องพฤติกรรม แก้พฤติกรรมเดี๋ยวมันก็จะได้หลายอย่าง เป้าหมายค่อยๆ ไปกับกิจกรรม

พอเลือกเรื่องได้แล้วก็มาตั้งโจทย์ ว่าจะศึกษาเรื่องอะไร ต้องมีสาเหตุการหาย นั่นคือต้องแก้พฤติกรรมของนักเรียน แล้วจะเรียนเรื่องอะไรก็ตั้งวัตถุประสงค์ เรียนเพื่ออะไร แก้สาเหตุ แก้นิสัย ให้ใช้ให้หมด อย่าให้มันตก อย่าให้มันหล่น จะต้องทำอย่างไรไม่ให้มันเป็นแบบนี้ ถ้าเราอยากรู้สาเหตุเราต้องตั้งคำถามอย่างไร ตอนนั้นรู้สึกว่าจะได้ ๙-๑๐ ข้อนะคะที่น้องเวฟนำเสนอ เขียนชื่อติด หล่นแล้วเก็บ เช็คทุกครั้ง เขาก็ออกแบบของเขาเอง มันก็ไม่หายจริงๆ แก้ได้

ทีนี้ในการหาความรู้แค่นั้นมันไม่พอ เรารู้แค่นี้ เราอยากจะรู้อะไรเพิ่มไหม ก็กระตุ้นกันว่าดินสอที่เราเขียน เราต้องรู้ส่วนประกอบของมัน จะได้ไปค้น เทคนิคกระบวนการตรงนี้คือ ครูต้องไม่บอกคำตอบ ห้ามบอก ห้ามนำความรู้ไปให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ไม่บอก ส่วนประกอบเขาอาจจะดูจากหนังสือที่เขาค้นหามา มันมีขั้นตอนของเรา พอเราได้โจทย์ ได้วัตถุประสงค์แล้ว เราจะต้องกระตุ้นให้เด็กหาสาเหตุว่า ถ้าเราจะหาได้ที่ไหน ก็จากพวกเรา ดินสอหายไปไหน ก็เพราะพวกเรามีนิสัยแบบง่ายๆ ตกแล้วไม่เก็บ มีมากแม่ผมซื้อให้เป็นกระป๋องเลย หายก็ไม่เป็นไร ก็ได้มาร่องหนึ่งแล้ว แต่ดินสอที่เราเขียนกัน มันมาจากไหน ก็นำเสนอโจทย์ ตรงนั้นเป็นกรอบเป็นทฤษฏีนอกเหนือจากพฤติกรรม ถ้าเราอยากรู้ส่วนประกอบเราจะหาจากที่ไหนบ้าง ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต ถามพี่ถามพ่อถามแม่ ก็คือถ้าเราอยากรู้เรื่องนี้ เราจะไปหาที่ไหน และเราจะได้อะไร ก็แนะนำเพิ่มเติม และน้องเวฟเขาก็โดนทดสอบด้วยนะคะ โดยศึกษานิเทศก์ เขานำเสนอว่าส่วนประกอบของดินสอ ประกอบด้วยไม้ กราไฟท์ แร่เหล็ก ศึกษานิเทศก์เขาก็ถามว่า

“หนูหามาจากไหน”

“อินเตอร์เน็ตครับ”

“เก่งนะ ลุงยังไม่รู้เลยว่าอินเตอร์เน็ตมันบอกด้วย ทำอย่างไร”

“ผมไม่ได้เข้าเอง พี่ผมทำให้”

แต่อีกคนหนึ่งที่นำเสนอด้วยกัน เป็นเพื่อนคู่หูของเวฟ เขาเข้าหาในอินเตอร์เน็ตเอง พอถามเขาก็อธิบายได้ อีกขั้นหนึ่งคือเรียกว่า ทดสอบปากเปล่า ครูอ้อยก็ว่าอะไรกันนักกันหนา แต่ครูต้องเรียนรู้ไปตลอดเวลา มันจะมีปฏิทินบอกว่า เมื่อถึงขั้นโจทย์ เด็กต้องนำเสนอโจทย์ โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ คนที่จะมา comment เป็นพี่เลี้ยง แนะนำเพิ่มเติม ศึกษานิเทศก์ก็ไม่ใช่ศึกษานิเทศก์ในระบบนะคะ ออกจากราชการไปแล้ว มาเป็นที่ปรึกษาของ สกว. ดูแลโรงเรียน คือเขาอยากทำงานที่อยู่นอกระบบ ตอนอยู่ในระบบเขาไม่ได้ทำเลย งานตรงนี้ แต่พอเกษียณออกแล้วก็ทำถึงครูมากขึ้น สกว. ก็ชวนมา เพราะเห็นความสำคัญตรงนี้

เด็กก็ตั้งโจทย์ เรียนรู้หาวิธีการหาย เพื่อสร้างวินัย ลดค่าใช้จ่าย เวฟเป็นคนนำเสนอ แล้วมันลดอย่างไร เราก็ตั้งคำถามกลับไป เขาก็คิดกันได้อย่างที่เขานำเสนอ ว่าสมมติถ้ามันหายโดยที่เขาใช้ไม่หมด เขาก็ต้องซื้อใหม่ คนเดียวไม่สะเทือนหรอกค่ะ แต่ถ้าในห้องนี้ ๕ คน เงินที่ต้องเสียไปเท่าไร ถ้าทั้งห้องเท่าไร หลายวันหลายครั้งเท่าไร ถ้าไปทิ้งอยู่ในตะกร้า นั่นคือต้นไม้ ยาง แร่นะ มันจะค่อยๆ เกี่ยวการใช้งานให้คุ้มค่า ความพอเพียงก็จะมาด้วย เด็กก็รู้จักหาความรู้ส่วนประกอบของดินสอ หาคำตอบ พอได้โจทย์ เด็กก็จะมาตั้งคำถาม มีวิธีการขึ้นมาจากคำถามว่า เขาจะไปหาคำตอบได้จากที่ไหน ส่วนหนึ่งจากตัวเอง ส่วนหนึ่งจากผู้รู้

เสร็จแล้วก็รวบรวมข้อมูลที่เขาได้มา และลองปฏิบัติจากที่เสนอไป เช่น ต้องติดชื่อ นับทุกครั้ง ทดลองปฏิบัติ แล้วระหว่างทำ เขาก็บันทึกด้วย เวรแต่ละวันก็จะบันทึก ว่ากวาดขยะตอนเย็นไม่เจอดินสอเลย วันแรกๆ อาจจะยังเจออยู่ แต่พอ ๑ เดือน สุดท้ายก็มานำเสนอเพื่อน ถ้าไม่เจออุปกรณ์การเรียนตกหล่นอยู่ใต้โต๊ะเลย ก็สรุปว่าสิ่งที่เขาค้นพบจากการตั้งคำถาม และเขาได้ลองทำ ลองปฏิบัติ เขาได้แล้ว ก็นำเสนอเรื่องนี้ให้ห้องอื่น ขั้นตอนการนำเสนอ ไม่ใช่อยู่ๆ เขาพูดขึ้นมาได้เลย มันต้องเริ่มจากกระบวนการกลุ่มด้วย ในกลุ่มเราจะได้เจอความแตกต่าง ความสามารถที่หลากหลาย บางคนพูดเก่ง แต่เขียนแล้วอ่านไม่ออก คนที่ลายมือสวยเขาก็จะรู้ตำแหน่งแล้วว่าเขาต้องเป็นเลขากลุ่ม หัวหน้ากลุ่ม เวลาไปวาดแผ่นบรู๊ฟนำเสนอ ใครจะเป็นคนเขียน เด็ก ป.๒ เขียนสวยกว่าครูอ้อยอีก

ระหว่างทางจะมีปัญหาให้แก้ เขานั่งเขียนจะสวยกว่ายืนเขียน แล้วต้องใช้สีหลายๆ สี คือจะมีการเรียนรู้ของเด็ก คุณครูก็จะได้พฤติกรรมเด็กไปแลกในวงด้วย เขามีการรู้จักการเขียนหัวข้อใหญ่ หัวข้อเล็ก โดยที่เราไม่ต้องมีทฤษฎีไปตั้งบอก เราจะเจอความสามารถของเด็กไประหว่างทาง น้องเวฟก็จะโดดเด่นเรื่องการนำเสนอ แต่เบื้องหลังเขาเรียนรู้ไปด้วยกันเป็นกลุ่ม คุณครูจะเห็นแล้วก็เติมได้ ออกมาเป็นชิ้นงานให้ประเมิน บางโรงเรียนเขามาดูงาน เขาจะถามเลยว่าแล้วครูประเมินอย่างไร วิชาอื่นมันมีคะแนน มีตัวชี้วัด แต่วิชานี้ถ้าจะวัดจริงๆ มันวัดได้ดีกว่าวิชาอื่นๆ อีก เช่น วัดคุณลักษณะ อดทน ใฝ่เรียนรู้ แก้ปัญหา ตรงนี้โรงเรียนเราระหว่างทางจับไปได้เลย แต่ละคนนำเสนอ คิดเป็น เรียนรู้อย่างมีความสุข เวลาเขาทำงานกลุ่ม ภาพในห้องครูอ้อย กลุ่มนั้นอยากนั่งโต๊ะ อยากจะนั่งพื้น อยากจะนอนก็นอนไป แต่พอถึงเวลา ๑๐ นาทีนี้ต้องนำเสนอนะ แต่ก่อนครูเราต้องดันให้เด็กออกมาพูด แต่พอเราใช้กระบวนการ เด็กจะแย่งกันออก ครูก็ต้องมาคิดกติกาว่าจะทำอย่างไร อย่าแย่งกัน

สิ่งที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลง มันจะเห็นไปเรื่อยๆ เปลี่ยนทั้งเขา เปลี่ยนทั้งเรา ก็ต้องคิด ต้องนำพาไปเรื่อยๆ กว่าจะจบตรงนั้น สิ้นปีการศึกษา พอจบปีการศึกษาหนึ่งเราก็จะวัดผล วิชานี้ก็จะวัดผล โดยการเอาเรื่องที่ทำมาทั้งปี โดยให้เด็กเป็นผู้เล่า ครูอ้อยห้ามพูด และห้ามส่งตาเขียวข้างเวที ปล่อยเลย ไม่มีผิดมีถูก ไม่ใช่เฉพาะห้องครูอ้อยนะคะ ๓๖ ห้องก็จะ ๓๖ โจทย์ จัดเป็นเวทีปฐมวัย เวทีช่วงชั้นปี ๑-๓ และ ๔-๖ ซึ่งตั้งแต่ที่เราเคยเป็นครูมาก็มีแต่เปิดโลกวิชาการ ก็ต้องสื่อให้คนเข้าใจว่าทั้งปีคุณได้ทำอะไรมาบ้าง กับ ๑๐ ขั้นตอนตรงนี้ ระหว่างทางมีใครเข้ามาบ้าง ผู้ปกครอง ผอ.เราเปิดทลายรั้ว

บริบทของอนุบาลสตูลที่จะให้ชุมชนเข้ามาค่อนข้างยาก เพราะความเป็นบริบทเมือง ใกล้ห้างสรรพสินค้า ใกล้ธนาคาร จากการทำ ๓ ปีที่ผ่านมา ปีสุดท้ายคือปีที่แล้ว ครูอ้อยพาเด็กออกข้างนอก พอเราเดินไป ยกจากใกล้ตัวในห้อง ออกไปนอกห้องบ้างได้ไหม เสน่ห์ของวิชานี้เด็กจะได้ไม่ถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในห้องเรียนตลอด เราอยากไปเรียนใต้ต้นไม้ก็ไป ไม่มีหนังสือ ไม่จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เด็กมีความเท่าเทียมกันในการนำเสนอ มันค่อนข้างยาก แต่พยายามให้มองเห็นภาพออกแบบปฏิบัติ อยากให้เห็นว่าทำไมครูอ้อยถึงบอกว่ามันใช่ ถามว่า ๓ ปีที่ผ่านมาเก่งหรือยัง ดีที่สุดหรือยัง ตอบว่ายัง แต่อยากเล่า เพราะว่าอยากให้เห็นสิ่งที่ครูอ้อยเห็นจากเด็ก มันคือใช่เลย อย่างอื่นเราไม่รู้ ไม่ต้องมาชมเราหรอก แต่สิ่งที่เด็กเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ผู้ปกครองเข้ามา เราได้อะไรเพิ่มขึ้นๆ ทุกปี ..”