โครงการโรงเรียนต้นแบบ ก็คือเราเอาโรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ 5 โรง ในชนบท ที่เขาทำ PBL อยู่แล้วไม่มากก็น้อย โดยมีผู้อำนวยการสนับสนุน เอาเขามาทำเวิร์กชอปด้วยกันหลายครั้ง เพื่อทำให้เขาจัดเจนว่า PBL มันแปลว่าอะไร แล้วคุณสมบัติของ PBL หรือองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า PBL มีอะไรบ้าง คือเราก็ตกตะกอนมาได้ 12 ข้อ แบบไหนถึงจะเรียกว่า PBL เช่น เข้าห้องสมุดค้นคว้าไม่ใช่ PBL ทัศนศึกษาแต่มานั่งเรียนรายงานส่งครูไม่ใช่ PBL ไปบำเพ็ญประโยชน์และมาเขียนรายงานส่งครูก็ไม่ใช่ PBL ทำกิจกรรมตามคู่มือครูสมัยใหม่ ก็ไม่ใช่ PBL เป็นต้น
เราจะมีคุณสมบัติของ PBL 12 ข้อ อันนี้เป็นการสร้างร่วมกันกับโรงเรียนต้นแบบ 5 โรง และเราก็ทำ workshop ด้วยการ AAR โดยการสร้าง PLC พูดง่ายๆ เราทำให้คำว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 คือทักษะการเรียนรู้ (learning skill) กับ ทักษะการใช้ชีวิต (life skill) ชัด
learning แปลว่าอะไร ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน จำเป็นต้องผ่านแต่ละขั้นตอนอย่างไร คือทำให้คุณครูประเทศไทย โรงเรียนต้นแบบ เชื่อเสียทีว่าการเรียนรู้สร้างได้ เด็กที่จะมี creativity กับ innovation เป็นของสร้างได้ ไม่ใช่ไปรอให้มีเด็กโอลิมปิก นานๆ เกิดคนหนึ่ง ไม่ใช่ คุณสร้างได้ เป็นขั้นเป็นตอน ของมันสร้างได้ ไม่ต้องไปรอ ไอสไตน์ มาเกิด
และทักษะการใช้ชีวิตแปลว่าอะไร มันไม่ได้แปลว่าคำดีๆ หรูๆ ก็เป็น life skill ไปหมด ทักษะการใช้ชีวิตแปลว่ามนุษย์ใช้ชีวิตอย่างไร เจออุปสรรคแล้วทำอย่างไร อันนี้ก็จะมีคีย์เวิร์ดออกมา โรงเรียนต้นแบบก็จะชัดเจนในเรื่องนี้
จุดอ่อนที่เรายอมรับสารภาพก็คือทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT skill) เพราะครูแต่ละคน ผู้อำนวยการแต่ละคนที่ทำงานกับเราก็ blank เรื่องนี้กันหมด ไม่รู้จะทำยังไงกับแท็บเล็ตหรือเฟซบุ๊ก
ที่ผมเจอแย่ที่สุดคือนักเรียนเปิดสวิชต์แท็บเล็ตพร้อมกัน ห้ามใครเปิดก่อน แล้วดูทีละหน้า อ่านทีละหน้าพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสถานการณ์น่ากลัวมาก
อีกโครงการหนึ่งคือโครงการพัฒนาและประเมินคุณภาพโรงเรียน อันนี้ก็เป็นความท้าทาย คือเราต้องใช้คำว่าโรงเรียนเกือบทั้งหมดก็มีทุกข์กับการประเมินคุณภาพของ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) มูลนิธิฯ ไปชวน 10 กว่าโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนและโรงเรียนทางเลือกที่มีชื่อเสียง เป็นต้นแบบ 10 กว่าโรงเรียน มาช่วยกันสร้างวิธีประเมินคุณภาพโรงเรียนที่เป็นจริง ไม่ต้อง make และไม่สร้างทุกข์แล้วก็ based on 21st century skill พูดง่ายๆ ว่าประเมิน skill ไม่ประเมิน knowledge ไม่ประเมินโน่น-นั่น-นี่ มากมายจนครูต้อง make ข้อมูล แต่ประเมินตามที่เป็นจริงๆ นี่ก็เป็นภาพใหญ่ๆ ของ 2 โครงการที่มูลนิธิทำอยู่
เราได้องค์ความรู้จาก 2 โครงการนี้เยอะมาก และก็ค่อยๆ ทยอยพิมพ์หนังสือที่ละเล่มออก และพยายามเผยแพร่อยู่ ก็ยอมรับว่าจุดอ่อนของโรงเรียนที่เราชวนมาทำงานแต่ละโรงก็คือไอที เพราะผู้บริหารโรงเรียน เด็ก ยังไม่เข้าใจเครื่องมือนี้เลย นอกจากใช้เล่นเฟซบุ๊กกับส่งไลน์เขาไม่เข้าใจอย่างอื่นกันเลย นี่คือทักษะการเรียนรู้มันอยู่ในนี้ แต่เด็กไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นแค่นี้ ไม่สามารถใช้เป็น learning tool ได้
ไทยพับลิก้า : การให้ไอทีเด็ก เหมือนอำนาจไปอยู่ในมือเด็กจริงๆ เพราะครูไม่ค่อยรู้เรื่อง และคนที่เป็นคนดูแลจัดการ คือเด็ก
ควรเป็นเช่นนั้น ซึ่งตอนนี้เราต้องเปิดใจ ว่าสมองเขากำลังพัฒนา แน่นอนถ้าเอาเครื่องมือนี้ไปให้เด็กทุกคน คนจะกลัวไว้ก่อน และก็กล่าวโทษว่า เด็กเล่นเกม ผมก็เป็นคนหนึ่งที่กล่าวโทษว่าเล่นเกม แต่ขณะเดียวกันผมปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องมือจะเข้าถึงมือมนุษย์สมัยใหม่เร็วมาก เราต้องรับมือกับมัน ไม่ได้ก็ต้องได้ และเราก็ต้องเปิดใจ การอ่านแปลว่าอะไร การเขียนแปลว่าอะไร คณิตศาสตร์แปลว่าอะไร
เมื่อโลกมีเครื่องมือนี้ สมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต วางอยู่บนฝ่ามือเด็ก จะกลายเป็นนาฬิกาข้อมือหรือกลายเป็นแว่นตาวันไหนก็ยังไม่รู้ แต่ตอนนี้มันอยู่บนฝ่ามือแน่ๆ ล่ะ พวกนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเผชิญหน้ากัน ถ้าเรามัวแต่ conservative ว่าอ่านก็คืออ่านหนังสือ เขียนก็คือคัดลายมือ คณิตศาสตร์ก็คือแค่แก้สมการ …ไปแน่
ประเด็นคือ ปัญหาของเด็กไทยก็คือว่าค้นหา (search) ไม่เป็น อันนี้ไม่ได้พูด IT นะ พูดเรื่องห้องสมุดห้องหนึ่ง ต่อให้วางห้องสมุดข้างหน้าให้ห้องหนึ่ง คุณก็ค้นหาไม่เป็น คุณค้นหาสิ่งที่อยากได้ไม่เป็น และแย่กว่านั้นก็คือว่า คุณไม่อยากจะค้นหา บางทีมีความสงสัยในหัว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอยากจะค้นหา ไม่มี inspiration motivation ที่จะเดินเข้าห้องสมุดและค้นหา ต่อให้วางห้องสมุดตรงหน้าก็ยังไม่ทำ
คราวนี้ประเด็นก็คือว่า ห้องสมุดอยู่ในนี้สมาร์ทโฟน แต่เรายังไม่ได้แก้ปัญหา 2 ข้อ แรก 1) ค้นหาไม่เป็นต่อให้มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ มี wifi ความเร็วสูงก็ยังค้นหาไม่เป็น 2) เมื่อคุณสงสัย คุณก็ยังไม่อยากจะค้นหา แตะนิดเดียวคุณก็ได้สิ่งที่อยากรู้แล้ว รู้แล้วเชื่อไม่เชื่อ ก็เป็นทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะการเรียนรู้ แต่คุณไม่อยากจะทำ
“สมมุติฐานของมูลนิธิฯ ที่เราตั้งไว้และเราก็กำลังพิสูจน์ก็เหมือนเดิมครับว่า เด็กไทยไม่มีสมองส่วนที่อยากจะค้นหา คือ inspiration กับ motivation มันเสียหายหมดแล้วมันอยากอยู่เฉยๆ ถูกป้อนจนอยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากจะลุกขึ้นค้นหา เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองสักเท่าไหร่ ทีนี้ถ้ามัวแต่มานั่งอ่านหนังสือ เพื่อให้สมองส่วนนี้กลับมาเป็นวิธีที่ถูกต้องแน่ๆ แต่ตั้งข้อสงสัยว่ามันจะไม่ทันกิน มีไอทีที่ดีอาจจะดึงสมองส่วนนี้กลับมาได้เร็วกว่า ทำให้เด็กรู้สึกอยากรู้ และมันทนไม่ได้แล้ว แทนที่จะกดไลน์คุยกับเพื่อน อันนี้เริ่มเข้าสู่โหมดการค้นหาแน่นอน โผล่มา 20 ข้อมูล รู้ว่า 2 ข้อมูลเชื่อได้อีก 18 ข้อมูลเชื่อไม่ได้ อย่างนี้ เป็นต้น”
“แต่ประเด็นคือไม่ได้เอาแค่เด็กไทยกลับมา ผมกำลังพูดเรื่องเอาสมองเด็กไทยทุกคนกลับมา แน่นอนการนั่งอ่านหนังสือวันละ 50 หน้า 5 ปี สมองส่วนนี้ก็กลับมา แต่ผมเดาว่าไม่ทัน ผมก็อยู่ในโครงการรักการอ่าน ผมก็รู้ว่ามันก็ใช่ อ่านหนังสือสมองก็จะกลับมา แต่มันไม่ทันกิน มันช้าไปแล้ว 8 บรรทัดจะเพิ่มเป็น 18 ก็ไม่ทัน มันช้าเกินไป”
เราต้องการเครื่องมือกระตุ้นสมองตัวใหม่ เครื่องมือนั้นยังไงก็อยู่บนฝ่ามือ แต่เราต้องไม่กลัวมัน ตอนนี้เรายังกล้าๆ กลัวๆ จะให้แท็บเล็ตก็กลัว จะไม่ให้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาก็ให้ทั้งนั้น หรือต่อให้ไม่ให้ มันก็มี มีอยู่บนฝ่ามืออยู่ดี
ถ้าเราจริงใจกับงานนี้ ไปได้แน่ๆ และก็น่าจะทันเวลา เวลาทำงานผมจะคิดแบบนี้ ถ้าเราจะไล่ตามประเทศอื่น เราต้องวิ่งเข้าซอยไปดักข้างหน้า เราอย่าไปทำงานวิจัยซ้ำสิ่งที่คนอื่นทำ เราวิ่งเข้าซอยไปดัก 4 แยกหน้า