การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (20)

คุณธรรม และที่แต่ละคนมีต่างกันไป ได้แก่ ความสำเร็จจากระดับความสามารถที่แตกต่างกันไป แต่เป็นเรื่องไม่น่าคาดถึงว่าข้อมูลในส่วนที่แสดงความหมายของ “ศักดิ์ศรี” แบบไทยกลับให้แนวทางการเชื่อมโยงสู่ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ที่เข้าใจตามกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ นั่นคือ “กล้าทำ กล้ารับ” สามารถโยงสู่ความรับผิดชอบได้ และข้อมูลส่วนอื่นๆ ได้สกัดองค์ประกอบประการหนึ่งออกมาจากแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบ และให้มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา นั่นคือ องค์ประกอบของความเป็นผู้กระทำ ไม่เพียงเท่านั้น องค์ประกอบนี้ยังโยงกลับไปหาคุณธรรมอีกด้วย

หากมุ่งให้งานด้านการพัฒนาจิตวิญญาณของนักเรียนในระบบการศึกษามีความก้าวหน้า มีคำถามที่จะต้องตอบมากกว่างานประเภทเดียวกันในบริบทของบุคลากรสุขภาพ และคำถามเหล่านี้น่าจะพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป หวังว่าคำถามที่ตั้งในที่นี้จะช่วยให้เห็นความ/ของการพัฒนาจิตวิญญาณในบริบทการศึกษาได้บ้าง ที่จริงมองได้ว่าเป็นข้อดี เนื่องจากโดยทั่วไป การรับแนวคิดตะวันตกมาใช้ มักมิได้มีการพิจารณาร่วมกับบริบทของสังคมอย่างจริงจัง บางครั้งนำมาใช้แบบไม่ดัดแปลง บางครั้งรับมาอย่างครึ่งๆ กลางๆ แต่หลายครั้งรับมาแล้ว ไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่ารับมา อีกทั้งยังมองเป็นความจริงสากลอีกต่างหาก การรับมาใช้ไม่มีปัญหา ถ้ารู้ว่ารับมาและเข้าใจถี่ถ้วน สิ่งที่รับมาไม่จำเป็นต้องใช้ไปเช่นนั้น หากแต่สามารถช่วยกระตุ้นหรือท้าทายให้เราคิดบนพื้นฐานความเข้าใจโลกของเรา อันส่งผลให้เราเข้าใจตนเองได้ชัดขึ้นในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏับัติต่อไป

5.2 กรอบแนวคิด

การวิเคราะห์ครั้งนี้เห็นว่าสาระสำคัญเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณ” ยังไม่น่าจะเพียงพอแก่การสังเคราะห์กรอบแนวคิด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของครูหรือเด็กนักเรียน อีกทั้งยังมีคำถามบางประการที่ต้องพิจารณาก่อน องค์ประกอบที่สามารถนำมาสังเคราะห์ได้ดูจะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังกล่าวแล้วว่าผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เห็นว่าคุณธรรมก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามปกติถ้ายึดถือกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ ก็จะอนุมานต่อไปได้โดยทันทีว่าการพัฒนาคุณธรรมคือการพัฒนาจิตวิญญาณ แต่ไม่มีความชัดเจนว่าผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะมีกรอบแนวคิดดังกล่าว

ถ้าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือคุณธรรม ก็ต้องกล่าวว่าตามความเข้าใจของผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือคุณค่าของบุคคลในด้านที่เท่าเทียม ได้แก่ คุณธรรมอันอยู่ในอำนาจของทุกคนและคาดหวังจากทุกคนได้ เป็นคุณค่าที่ถือว่าสร้างคณูปการแก่สังคมด้วย คุณค่าของบุคคลยังมีอีกด้านที่ไม่เท่าเทียม ผันแปรไปตามบุคคล เรียกได้ง่ายๆ ว่า “ความเก่ง” ซึ่งผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็มิได้ทิ้งไปเสีย แม้จะตระหนักว่าเป็นเรื่องต้องระมัดระวังไม่ให้ค่าเกินไป “ความเก่ง” นี้เข้าใจได้ตั้งแต่เรื่องวิชาการ ความรู้ ไปจนกระทั่งความสามารถด้านอื่นๆ น่าสนใจว่าผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เห็นว่าความสามารถด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิชาการ เป็นเครื่องมือสร้างความเท่าเทียมในสังคม คือ ช่วยให้มีความก้าวหน้าในชีวิตได้ ช่วยให้มีที่ยืนและแข่งขันในสังคมได้ ในเมื่อข้างต้น ได้วิเคราะห์ว่าความใส่ใจในความเท่าเทียมนี้เป็นเรื่องของการใส่ใจในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จึงกล่าวได้ว่าข้อนี้ก็อยู่ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกัน

ในส่วนของการพัฒนาคุณธรรมหรือความสำนึกในความเป็นผู้กระทำนั้น ต้องอาศัยวิธีการบางอย่างที่ช่วยให้เปลี่ยน “ความหมาย” เป็น “ความมีความหมาย” ได้แก่ การให้เผชิญสถานการณ์จริง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และความแคร์ นอกจากนี้ ยังต้องการสภาพแวดล้อมต่างๆ ในการกระตุ้นและรักษาคุณธรรมหรือสำนึกที่พัฒนาขึ้นมาด้วย ตั้งแต่ปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมสุขภาพไปจนกระทั่งความน่าเชื่อถือและความกล้าหาญทางจริยธรรมของครู ทั้งนี้ขอให้สังเกตว่า “คุณธรรม” ที่กล่าวถึงนี้ไม่มีเนื้อหา แต่เป็นเรื่องความสำนึกในความเป็นผู้กระทำ

ทั้งนี้ การตระหนักในตัวตนในฐานะเป็นผู้กระทำอาจนำสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ คือ การเข้าถึงความมีความหมายบางอย่างในชีวิต แต่โดยตัวมันเองไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของจิตวิญญาณแบบดังกล่าว นอกเสียจากว่าปัจเจกบุคคลนั้นจะเลือกให้ความเป็นผู้กระทำนี้เป็นสิ่งที่มีความมีความหมายต่อชีวิตเขา