การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (18)

“ความแคร์” ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเห็นว่าสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัขเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย เมื่อเด็กแคร์ ให้ความหมายความสำคัญกับสุนัข สำนึกความเป็นผู้กระทำก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมา กระทั่งกลายเป็นความรับผิดชอบ ความแคร์นี้ย่อมสัมพันธ์กับความสามารถ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งก็คือเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความเป็นผู้กระทำ ซึ่งสามารถแสดงความเชื่อมโยงกับ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แบบตะวันตกได้นั้น เป็นเรื่องของคุณธรรม เนื่องจากส่วนหนึ่งคุณธรรมเป็นเรื่องของการลงมือปฏิบัติ(สิ่งที่ดีงาม) แต่การวิเคราะห์ตอนต้นว่าคุณธรรมนี้คือคุณค่าของบุคคลด้านที่มีเท่าเทียมกัน โดยมีการกล่าวว่าหากมีคุณธรรม ก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ดังนั้น จึงไม่เพียงแต่จะเป็นการเน้นย้ำว่าคุณธรรมคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามความเข้าใจของผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แบบตะวันตกได้ แม้ว่าจะยังต่างกันอยู่ คือ สำหรับ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ที่อาศัยกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัตินั้น คุณธรรมเป็นเพียงปัจจัยสนับสนุน แต่สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลของไทย คุณธรรมเป็นแก่นของศักดิ์ศรี

การจัดการศึกษาเพื่อให้ประสบความสำเร็จดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรักษาความตระหนักที่ได้ดูจะเป็นเรื่องยากกว่า ลองพิจารณาข้อความที่เรียกร้องความกล้าหาญทางจริยธรรมของครูดังต่อไปนี้

…เราฝึกเด็กมาจนขนาดที่ว่าไม่โกหกเพื่อจะได้อะไร ถ้าได้เพราะโกหกจะไม่เอา เด็กๆเค้าก็พูดตรง พูดตรงแล้วก็ไม่ตรงใจอาจารย์ ก็เกิดเป็นประเด็น มันมีอยู่วันนึง มีการประเมินโรงเรียนในฝันผู้บริหารก็เกิดไปพูดหน้าเสาธง…ผอ.ถามว่าพร้อมที่จะได้โรงเรียนในฝันหรือยัง อันนี้เล่าให้ฟังตรงๆเลยนะคะว่ากลุ่มแกนนำก็ขึ้นไปพูดว่ายังไม่พร้อม เปิดประเด็นขึ้นไปพูดเลย ยังไม่พร้อม วันนั้นลาป่วย เพราะเด็กก็พูดถูกนะคะ เพราะเราประเมินอะไรกันทีนึง เราก็ทำกันทีนึง เรายังไม่ได้ทำลงสู่วิถีชีวิต เค้าพูดคำนี้ออกมาเรายังไม่ได้ทำอะไรไปสู่วิถีชีวิต เราทำแค่ผ่านการประเมินเหมือนโกหก เด็กเค้าก็พูดแต่ยังไม่ใช้คำพูดว่าโกหก ทันทีเลย เก้าโมงเช้า ผอ.เบอร์ขึ้นโทรศัพท์เลย อาจารย์ชะบาอยู่ไหน ขอพบหน่อย หนูลาป่วยค่ะ ท่านก็น่ารักนะ พอรู้ว่าลาป่วยท่านก็ไม่กวน แล้วก็พอเช้าไปโรงเรียนมันเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็มองด้วยสายตาแปลกๆ…พอรู้ว่าเด็กพูดอย่างนี้ หมดแล้วกูงานนี้ แต่ก็บอกเด็กว่า ไม่เป็นไรลูก ครูยินดีจะรับทั้งผิดและชอบในคำพูดของเธอทั้งหมด ไม่ว่าพวกเธอทำอะไร ครูยินดีรับผิดชอบ เราก็เข้าไปคุยกับรองผู้บริหาร รองก็ถามอะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่า เราต้องปกป้องเด็ก เพราะสิ่งที่เด็กพูดคือสิ่งที่ถูก ก็ต้องปกป้องเด็ก ก็บอกว่าหนูยอมรับผิดทุกอย่าง…

ความกล้าหาญทางจริยธรรมสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เด็กธำรงพัฒนาการของตนได้ แน่นอนว่ามีการสร้างสภาพแวดล้อมด้วยองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อกระตุ้นและธำรงพัฒนาการด้านสำนึกความเป็นผู้กระทำ ข้อความต่อไปนี้สรุปรวบยอดไว้อย่างดี

…เท่าที่คุยกันนะคะ พี่แก้วก็เป็นคนที่มีระเบียบในการทำงาน แล้วก็ประสบการณ์ในการทำงานสูง แนะนำคนอื่น แล้วก็ ข้อนึงที่ชอบก็คือพี่แก้วจะบอกว่าเขาจะมีความอ่อนโยนมาก เพราะว่าอาจจะเป็นด้วยพี่เขาอยู่กับเด็ก ๆ ป. 1 อะนะคะ พี่เขาประจำชั้น ป.1 เพราะนั้นก็เลยมีความรู้สึกว่าข้อนึงที่ ที่ ที่เราคิดว่าเออเป็นข้อดีของพี่เขาเลยก็คือว่า ข้อของความอ่อนโยน นะคะ อ่อนโยนแล้วก็เข้าใจเด็กให้เด็กรู้สึกว่าไว้วางใจตัวเขาเอง คือการเป็นครูเนี่ย ดิฉันก็คิด คิดเหมือนพี่แก้วอย่างหนึ่งก็คือว่าทำอย่างไรถึงจะได้ใจเด็ก การได้ใจเด็กของเด็กประถมมัธยมก็ต่างกัน จะอย่างเด็กประถมพี่แก้วก็จะมีเทคนิควิธีการของเด็ก ๆ ในการที่จะถามเขา เอ่อ ให้ความปลอดภัยเขา รับฟังเขา แต่ของเด็กมัธยมเนี่ย มันมีทั้งความสนใจเขา ให้ความยุติธรรม ให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ คือต้องให้หลายอย่าง เพราะนั้นข้อนึงที่ดิฉันคิดก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะได้ใจเด็กก่อน เพราะถ้าเราได้ใจเด็กปุ๊บเนี่ย ดิฉันเชื่อเลยว่าเราพูดอะไร เราขอความร่วมมือเขาอย่างไร เราแนะนำ เราสอนเขาอะไรในสิ่งที่ถูกเนี่ย คือเขาให้เราเกินร้อยเหมือนกัน เขาก็จะ เราจะได้กลับมาเกินร้อย อย่างเราบอกงาน เรามอบหมายภาระหน้าที่เขาแค่ แค่นิดเดียวเนี่ย แต่พอเวลางานเขาออกมาคุณภาพงานเนี่ย โหว่าความเต็มที่ของงานที่ทำเนี่ย มันจะมากกว่าที่เรามอบหมายงานค่ะ เพราะนั้นตรงแง่คิดนี้ก็จะได้จากพี่แก้วเยอะเหมือนกันว่า เอ่อ ให้เขารู้สึกว่าเขาไว้วางใจเรา พี่แก้วจะใช้คำพูดนั้นค่ะ อย่างของนานี่ก็ว่าหนูใช้คำว่าได้ใจดีกว่า เพราะถ้าเราได้ใจปุ๊บเนี่ยทุกอย่างมัน มันไปได้สวยโดยเฉพาะกับเด็กที่โต…

สังเกตได้ว่า “เกินร้อย” แสดงถึงประเด็นเรื่องสำนึกในความเป็นผู้กระทำ โดยเลยไปถึงความรับผิดชอบอย่างชัดเจน

แน่นอนว่ามีการกล่าวถึงปัจจัยที่พื้นฐานไปกว่านี้ที่จะสนับสนุนให้เด็กเป็นผู้กระทำได้

…ข้อ 1-2 เป็นข้อที่สำคัญมาก ก็คือ ความดี และสุขภาพดี ก็เลยอธิบายให้เขาฟังว่า ความดีและสุขภาพดีมันต้องมาด้วยกัน เราจะสังเกตเห็นว่าหนึ่ง คนไม่ดี สุขภาพไม่ดี สังคมจะเป็นอย่างไร ครูสอนเท่าไหร่ก็ไร้ผล ลองสร้างภาพดูสิครับว่า เห็นคนไม่ดี และสุขภาพไม่ดีเป็นปัญหาสำหรับเราไหม อย่างที่สอง คนไม่ดีแต่สุขภาพดีพวกนี้แหละที่นั่งรถทัวร์ นั่งรถบัสเดินขบวน เปิดเสียงไล่ด่ากันอยู่ทุกวันนี้ คนไม่ดี แต่สุขภาพดีก่อปัญหาให้กับสังคมมากมาย อย่างที่สาม ดีขึ้นมาหน่อย คนไม่ดี สุขภาพไม่ดี พวกนี้ก็น่าสงสาร พอเรียนหนังสือไปหน่อย “คุณครูครับผมปวดท้อง” “คุณครูคะหนูปวดหัว” สอนไม่ได้เลย โรงเรียนถึงนำสิ่งเหล่านี้มาแก้ไขเป็นบริบทของโรงเรียนไว้ก่อน อย่างที่สี่ ที่โรงเรียนต้องการมากที่สุดก็คือ คนดี และสุขภาพดี…

สรุปว่าในการพิจารณาข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แม้จะไม่เข้ากับ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ตามกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ อันแอบแฝงอยู่ในแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณของตะวันตก และแม้จะมีจุดที่ไปเน้นคุณค่าของบุคคลแทน แต่ในที่สุดก็พบองค์ประกอบที่น่าสนใจ โดยมีลักษณะสอดคล้องกับข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับ“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ตามกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติได้ องค์ประกอบดังกล่าวก็คือ “ความเป็นผู้กระทำ” นั่นเอง