การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (10)

ไม่เคารพสิทธิ ความเท่าเทียม สอดคล้องกับข้อความต่อไปนี้

…แต่พอเข้าไปปุ๊บ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งเห็นแล้วพวกนี้ สภาพมันไม่เหมือนโรงเรียนอื่นอ่ะ เอ๊ะ เราไปสอบก็เราก็นึกว่าเหมือนโรงเรียนทั่วไป ไปกลับเนี่ยเจอ 24 ชั่วโมง ไปเจอปัญหาเด็ก ความสงสารมันขึ้นอ่ะ ไปขึ้นตรงนั้น …ด้วยว่าความที่ก็เกิดความเมตตาแล้วก็ความเสียสละ แล้วก็มองเรื่องความเป็นธรรมความเสมอภาคของคนในสังคม ก็มองเลยว่า เออ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งนะที่เสียโอกาสมากเลย แล้วก็กลไกการปกครองของประเทศมันถูกผู้ที่มีอำนาจกว่า เจริญกว่า มีการศึกษากว่า จะได้เปรียบทุกอย่างเลยไง แล้วคนกลุ่มนี้จะต้องเสียเปรียบทางสังคม…ไอที่ผมเป็นครูเข้ามานะครับ ผมก็เลยคิดว่าการศึกษานี่เป็นกลไก เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนกลุ่มด้อยโอกาสนั้นน่าจะเป็นพลิกชีวิตเปลี่ยนโอกาสขึ้นมานะครับ…

ทั้งนี้ มีอีกข้อความหนึ่งให้พิจารณา

…เราก็เน้นเสมอเด็กต่างชาติที่อยู่เราต้องรักในหลวง ต้องรักประเทศไทย เราสอนเรื่องประวัติศาสตร์ยากมากเรื่องไทยกับพม่ารบกัน คิดแล้วคิดอีกว่าจะเป็นแง่ลบ แง่บวกกันแน่เพราว่าต้องมีทั้งเด็กพม่า เด็กไทยอยู่ปนกัน ก็เน้นบอกว่าต้องรักประเทศไทย รักในหลวง…

ข้อนี้มีประเด็นคล้ายกับเรื่องการวัดผล คือ มีเงื่อนไขบางอย่างในตัวระบบการศึกษาเองที่ทำให้เกิดคำถามต่างๆ ในยามที่พิจารณาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ กล่าวคือ การศึกษาเองกลายเป็น “สิทธิ(มนุษยชน)ขั้นพื้นฐาน” เป็นเรื่องความเป็นธรรมในสังคมที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้ หรือแม้แต่กระทั่งเป็นกลไกในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ปัจเจกบุคคลและสังคม อีกประการหนึ่งคือการศึกษามีหน้าที่ในการสืบทอดอุดมการณ์บางอย่าง ข้อนี้จึงเกิดคำถามว่าแนวคิดเรื่องสิทธิ ความเจริญก้าวหน้าและอุดมการณ์ดังกล่าวอาจนำสู่การกดทับความเป็นตัวตนเฉพาะวัฒนธรรมหรือไม่ ประเด็นนี้สำคัญ ดังกล่าวแล้วว่าตัวตนทางวัฒนธรรมกินความถึงความมีความหมายของโลกและชีวิตทั้งปวง ซึ่งหมายความว่ามีฐานะเป็นแหล่งของสุขภาวะทางจิตวิญญาณเลยทีเดียว

4.2 จิตวิญญาณและจิตวิญญาณความเป็นครู

ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงการศึกษาก็คือเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระบบสุขภาพแล้ว แม้จะมีภาพของการเปลี่ยนแปลงตนเองและการต่อสู้กับความขัดแย้งภายใน (ดูตัวอย่างการต่อสู้กับความกดดันทางอารมณ์ในเรื่อง “จิตนิ่ง” ข้างล่าง) แต่ก็มีน้อยกว่า และบางครั้งดูเหมือนกับว่าผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมีลักษณะคงที่ เหมือนกับผ่านการหล่อหลอมหรือผ่านการตกผลึกมาแล้ว ข้อนี้ทำให้การสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางจิตวิญญาณของผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ การสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณก็เป็นไปได้ไม่ง่ายนักเช่นกัน เนื่องจากสังเกตได้ว่าผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูจะเห็นว่า “จิตวิญญาณ” และ “จิตวิญญาณความเป็นครู” เป็นเรื่องเดียวกัน แม้ในส่วนกระบวนกรเอง ก็ดูจะมิได้ให้ความสำคัญกับแง่มุมความหมายของคำว่า “จิตวิญญาณ” มากนัก สังเกตได้จากการที่กระบวนการให้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำกิจกรรมดังนี้

…จะให้อาจารย์ทบทวนพลังทั้งหมดที่เรามี 8 ด้านด้วย อาจารย์ดูแลตัวเองและเติมตัวเองในด้านไหนบ้าง ด้านร่างกาย การกินอาหาร การนอนหลับ การพักผ่อน ด้านอารมณ์ ว่าเราได้เติมพลังตัวเองในด้านอารมณ์อะไรบ้าง หรือว่าด้านจิตวิญญาณ ไปทำบุญตักบาตร หรือทางด้านปฏิสัมพันธ์ ด้านบริบทด้านปัญญา ด้านสารอาหาร…

สังเกตได้ว่ามีการแยกระหว่าง “จิตวิญญาณ” และ “ปัญญา” แม้ว่าจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณ” และ “จิตปัญญา” นอกจากนี้ ยังนิยาม “จิตวิญญาณ” เป็นเรื่องทางศาสนาเป็นหลัก

ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงถึง “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้บุคคลมี “จิตวิญญาณความเป็นครู” ดังนี้

…เมื่อก่อนนี้ผมไม่อยากเป็นครูนะ เพราะสมัยก่อนที่ตอนเรียนจบใหม่ๆ เพลง ตชด. ขอร้องกำลังดังอยากเป็นตำรวจชายแดนมาก ไม่รู้ว่ามนต์ภาคเหนือที่ว่ามีดอยมีอะไร แต่พอได้มาเป็นครูจริงๆ เห็นเด็กด้อยโอกาส เห็นอะไรมากก็เลย จากวันนั้นมา 35 ปี ไม่เคยคิดเปลี่ยนใจเลย เพราะว่ารักเด็กมากจนไม่อยากเข้าไปอยู่ในเมือง…ช่วงนั้นผมเข้าไปทดสอบดูปรากฏว่าเด็ก ม. 6 หา ห ร ม. ค ร น. ไม่เป็นผล เลยคิดว่ามันยิ่งทำให้ผมเอาใจใส่ประถมมากขึ้น…