ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ตอนที่ 4

เรื่องการเรียนรวมกันระหว่างเด็กทั่วไปกับเด็กพิเศษ ในขณะที่รัฐโดยกระทรวงศึกษาธิการและกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายตรวจระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนให้มากที่สุดโดยให้เหตุผลว่าเพื่อจัดการศึกษาให้เหมาะสมแก่เด็กเป็นรายบุคคล แต่นโยบายเช่นนี้นำมาซึ่งการคัดแยกเด็กและเลือกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เด็กที่ถูกคัดแยก ตีตรา ระบุว่าสติปัญญาบกพร่องหรือปัญญาอ่อนถูกตัดโอกาสที่จะได้พัฒนาทักษะความสามารถที่เขามีไปเสียตั้งแต่ต้นทาง

อันที่จริงแล้วเด็กนักเรียนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ต่างศาสนาและชาติพันธุ์ ระดับสติปัญญาจะแตกต่างกัน รวมทั้งอาจจะมีความบกพร่องเฉพาะด้าน เช่น แอลดี หรือ สมาธิสั้น ทั้งนี้รวมถึงเด็กก้าวร้าว เด็กเกเร เด็กติดยา เด็กหญิงตั้งครรภ์ ฯลฯ ควรมีระบบการศึกษาที่พร้อมจะช้อนรับทุกคนให้เรียนร่วมกัน

คำถามคือ เด็กแตกต่างกันมากมายเพียงนี้ให้เรียนอะไร

คำตอบคือ ให้เรียนรู้ทักษะ ไม่ให้เรียนความรู้

หากให้เรียนความรู้และสอบวัดความรู้ดังที่เป็น เด็กแต่ละกลุ่มเหล่านี้ย่อมทำได้ไม่เท่ากันและถูกตัดสินอย่างไร้ความเป็นธรรม เพราะแท้จริงแล้วเด็กทุกคนในโลกมีพัฒนาการด้านต่างๆเร็วช้าต่างกัน เด็กช้าหรือทำไม่ได้วันนี้มิได้แปลว่าจะทำไม่ได้ตลอดไป และถึงแม้ว่าจะทำไม่ได้ก็มิได้เดือดร้อนใครหากเขาทำอย่างอื่นได้ดีกว่า

ตัวอย่างง่ายๆที่ผู้คนไม่ใคร่ครวญให้ดี เช่น เด็กบางคนเขียนก่อนที่จะอ่านได้ เด็กบางคนคูณก่อนที่จะลบได้ เด็กเรียนเก่งจบแพทยศาสตร์บัณฑิตย่อมจับปลาไหลในท้องนาไม่ได้ เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาไทยควรวัดทักษะหรือความสามารถที่เด็กมีแล้วมุ่งเน้นพัฒนาทักษะหรือความสามารถของเด็กเป็นรายบุคคลตามบริบทของท้องถิ่น มากกว่าที่จะวัดความรู้โดยตรง

ทักษะสำคัญมี 3 ด้าน คือทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีไอที

เด็กทุกคนในประเทศไทยควรได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายคือให้นักเรียนเป็นบุคคลที่ใฝ่เรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในทุกสถานที่และเวลา (ไม่ใช่รู้มากคือผู้ชนะดังที่เป็นอยู่)

เด็กทุกคนในประเทศไทยควรได้พัฒนาทักษะการใช้ชีวิต โดยมีเป้าหมายคือให้นักเรียนเป็นบุคคลที่มีจุดมุ่งหมาย มีความใฝ่ฝัน มีความสามารถที่จะค้นหาทางเลือกของชีวิต ทำงานเป็น ประเมินตนเองได้ และค้นหาทางเลือกใหม่เรื่อยไปไม่สิ้นสุด (ไม่ใช่รู้มากแต่เอาตัวไม่รอด เรียนไม่เก่งแล้วติดยา หรือเรียนเก่งแต่ฆ่าตัวตาย ดังที่เป็นอยู่)

เด็กทุกคนในประเทศไทยควรได้พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีไอที โดยมีเป้าหมายคือให้นักเรียน เป็นบุคคลที่รู้จักแยกแยะและเสพข้อมูลข่าวสาร รู้จักวิเคราะห์และวิพากษ์ รวมทั้งสามารถใช้เครื่องมือไอทีเพื่อประโยชน์ของชีวิต (ไม่ใช่เชื่อข้อมูลทุกอย่างอย่างฉาบฉวยและใช้เครื่องไอทีสมัยใหม่เพียงเพื่อเล่นเกม)

จะเห็นว่าเป้าหมายของการศึกษามิใช่เนื้อหาความรู้ที่ตายตัวและแออัดยัดเยียดอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องของทักษะหรือความสามารถ 3 ด้านซึ่งเด็กทุกคนไม่ว่าจะจะยากดีมีจน ต่างศาสนาและชาติพันธุ์ ระดับสติปัญญาจะแตกต่างกัน รวมทั้งอาจจะมีความบกพร่องเฉพาะด้าน เช่น แอลดี หรือ สมาธิสั้น ทั้งนี้รวมถึงเด็กก้าวร้าว เด็กเกเร เด็กติดยา เด็กหญิงตั้งครรภ์ ฯลฯ สามารถพัฒนาไปพร้อมกันด้วยการออกแบบระบบการเรียนการสอนให้นักเรียนทำงานเป็นทีมในทุกๆสาขาวิชา โดยมีโจทย์ปัญหาที่เหมาะสมต่อชีวิต ชุมชน และสังคมรอบตัวเด็กเอง

เช่นนี้การเรียนรู้ การใช้ชีวิต การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจึงกลืนเป็นเนื้อเดียวกันโดยเด็กๆที่มีความแตกต่างกันสามารถเรียนร่วมกัน การสอบที่แข็งกระด้างเปลี่ยนเป็นการประเมินระดับการพัฒนาของเด็กเป็นรายบุคคล ดังที่เรียกว่าเด็กแต่ละคนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

คุณครูและโรงเรียนยังเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาเสมอ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทและวิธีทำงาน คุณครูควรเลิกสอนหรือสอนแต่น้อยแล้วเปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่ออกแบบโจทย์ปัญหาและกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ 3 ประการ โรงเรียนเปลี่ยนตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีเสรีภาพทางปัญญา แน่นอนว่างานจะมากขึ้น หนักขึ้น แต่ก็จะมีคุณค่าและมีคุณประโยชน์มากขึ้นด้วย