อุ้มบุญ (11) ปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับขอบเขตของการอนุญาตให้ใช้เทคนิคเจริญพันธุ์

ในการแก้ไขปัญหาผู้ที่ไม่อาจมีบุตรได้ก็มีเพียงสถาบันการรับรองบุตรบุญธรรมเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยองค์กรฝ่ายบ้านเมืองเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการสนองความปรารถนาของคู่สมรสผู้ต้องการรับบุตรบุญธรรมไว้อุปการะ นอกจากนี้การรับรองบุตรยังไม่สามารถสนองความต้องการที่จะให้กำเนิดเด็กซึ่งถือเป็นการพัฒนาส่วนหนึ่งของตนเองในฐานะผู้สืบทอดความเป็นอมตะทางพันธุกรรม ดังนั้นการยอมรับหรืออนุญาตให้มีการใช้เทคนิคดังกล่าวได้จึงเป็นทางเลือกแต่ก็เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมและหากมีปัญหากฎหมายเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เมื่อคำนึงถึงการขาดความชัดเจนในหลักกฎหมายในเรื่องนี้ ก็ต้องอาศัยดุลพินิจของฝ่ายตุลาการเพื่อชี้ขาดซึ่งย่อมก่อให้เกิดความไม่แน่นอน จึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง

เพราะฉะนั้นปัญหาพื้นฐานประการแรกในเรื่องนี้จึงอยู่ที่การพิจารณาความเหมาะสมของการใช้เทคนิคดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ

เทคนิคนี้มีข้อดีในแง่ของการช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ปรารถนาจะมีบุตรซึ่งมีข้อจำกัดทางกายภาพให้บรรลุความประสงค์ได้โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แก้ไขความบกพร่องดังกล่าว อันถือได้ว่าเป็นการบำบัดรักษาทางการแพทย์ประเภทหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในแง่ผลเสีย การใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อสนองความปรารถนาจะมีบุตรเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงข้อพิจารณาอื่นๆทั้งด้านศีลธรรม ศาสนา สังคมวิทยาและกฎหมายย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากการก่อกำเนิดของมนุษย์ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรากฐานของมนุษยชาติเองเพราะเกี่ยวพันกับการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบเรียบร้อย โดยมีองค์ประกอบที่ลึกซึ้งและซับซ้อนหลายประการ ทั้งในแง่ของกายภาพและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของจิตใจ อีกทั้งผลที่ตามมาคือเด็กซึ่งเป็นมนุษย์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งตามธรรมดาแล้วจะเกิดจากการรวมกันระหว่างครอบครัวต่างๆซึ่งประกอบขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งบิดา มารดาและเด็ก ดังนั้นการใช้เทคนิคนี้เพื่อให้กำเนิดทารกในลักษณะและบริบทที่แตกต่างไปจากธรรมชาติจึงมีผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่ออนาคตของสังคมเองด้วย

เพราะฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในกระบวนการก่อกำเนิดทารกจึงต้องอยู่ในกรอบเฉพาะกรณีที่สังคมยอมรับความเหมาะสมได้ ส่วนการยอมรับของสังคมนั้นอาจมีระดับที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละกรณีที่ศึกษาเนื่องจากพื้นฐานทางวัฒนธรรม ประเพณี ศรัทธา ฯลฯที่แตกต่างกันบ้างของแต่ละสังคมที่พิจารณา

แต่การศึกษาทางปฏิบัติของสังคมต่างๆแสดงให้เห็นว่ามีแนวทางที่ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันจากการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียทำให้พอสรุปได้ว่าการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ถือเป็นเทคนิคเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้มีความบกพร่องในการให้กำเนิดบุตร จึงเป็นประโยชน์ในการช่วยให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสได้ให้กำเนิด

อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการอนุญาตให้ใช้เทคนิคดังกล่าว การดำเนินการต้องอยู่ในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น

ขอบเขตของการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์

สำหรับประเทศไทย การที่ประโยชน์หลักของเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์อยู่ที่การบำบัดรักษาผู้ป่วยซึ่งมีความบกพร่องในเรื่องการให้กำเนิดเด็กดังนั้น จึงควรเน้นการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้เพื่อการนี้เป็นการเฉพาะเท่านั้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสมดุลของผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ฝ่ายแรกคือ ผู้ประสงค์เป็นบิดามารดาของเด็กซึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีทายาทไว้สืบสกุลแม้จะมีข้อจำกัดทางร่างกายในการให้กำเนิดตามธรรมชาติ ฝ่ายที่สอง คือเด็กที่จะเกิดมาผู้ต้องได้รับหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตในเงื่อนไขที่อย่างน้อยไม่เสียเปรียบเด็กที่เกิดด้วยวิธีการธรรมชาติ และฝ่ายสุดท้ายคือ สังคมเองซึ่งไม่ควรได้รับผลกระทบในแง่ลบจากการใช้เทคนิคดังกล่าว เช่นการรับภาระปัญหาเฉพาะต่างๆที่เกิดจากเด็กเหล่านี้ ดังนั้นแม้ในบรรดาผู้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังยอมรับว่าการใช้ควรจำกัดอยู่ในขอบเขตบางประการ60  อีกทั้งในกรณีที่อนุญาตให้ดำเนินการได้ก็จำต้องมีการควบคุมและจำกัดเฉพาะในกรณีที่เหมาะสมเท่านั้นดังเช่นในกฎหมายของประเทศต่างๆโดยเฉพาะฝรั่งเศส61  เพราะฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีนี้จึงควรอยู่ในขอบเขตดังต่อไปนี้

ประการแรก ไม่อาจนำไปใช้ในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบกพร่องทางสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของการปรารถนาที่ขัดต่อธรรมชาติ เช่น ชายหรือหญิงที่ต้องการมีบุตรแต่ ผู้เดียวโดยไม่ประสงค์จะมีคู่ ชายหรือหญิงเพศเดียวกันที่ต้องการมีบุตรเพื่อสร้างครอบครัว

หรือประการที่สอง เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเด็กที่จะเกิดมาเองเป็นหลัก อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าแม้ในประเทศที่มีแนวนโยบายที่ค่อนข้างเปิดเสรีในการดำเนินการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ก็ยังมีการถกเถียงอย่างมากรวมทั้งการโต้แย้งตลอดจนปฏิกิริยาต่อต้านในบางสถานการณ์อันแสดงให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ในบางสถานการณ์62  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของมีบุตรจากเชื้อของสามีที่ตายไปแล้ว63  หรือหย่าร้างกัน หรือในขณะที่เป็นนักโทษซึ่งไม่อาจมีความสัมพันธ์ตามปกติได้ หรือหญิงที่พ้นวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงในกรณีของชายหญิงซึ่งมิได้แต่งงานกันตามกฎหมายก็อาจทำให้เด็กขาดสิทธิที่ควรได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของเด็กที่เกิดจากคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจทำให้เกิดความยุ่งยากเมื่อชายหรือหญิงฝ่ายใดมีคู่สมรสอยู่แล้ว

ในทำนองเดียวกันการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์เพื่อคัดเลือกลักษณะเด่นหรือปรับปรุงพันธุกรรมในเด็กก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร64

นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาที่ซับซ้อนและควรศึกษาเป็นการเฉพาะในเรื่องความสมควรในการอนุญาตให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในกรณีการอุ้มบุญด้วย

ส่วนปัญหากฎหมายต่างๆและเหตุผลของแนวทางในการแก้ไขจะวิเคราะห์ในรายละเอียดตามลำดับในตอนต่อไป

———————————————

60 John A. ROBERTSON, op.cit., pp.28-30.

61 Nan T.BALL,”The reemergence of enlightement ideas in the 1994 French Bioethics debates,” Duke Law Journal, November 2000, pp.545-587.

62 Ann MacLean MASSIE, “Regulating Choice: A Constitutional Law Response to Professor John A. ROBERTSON’s Children of Choice”, in Legal and Ethical Issues in Human Reproduction., op.cit., pp.142-144.

63 John A. Robertson, op.cit., p.29.

64 Ibid., p.29