อุ้มบุญ (2) กฎหมายชีวจริยธรรม (ต่อ)

สิทธิที่เด็กจะเกิดมาโดยมีความเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป สิทธิในเรื่องการรับมรดก การใช้นามสกุล ฯลฯ

(2) สิทธิและหน้าที่ทางแพ่งและทางอาญาของบุคลากรทางการแพทย์

– สิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ

• ผู้ประกอบวิชาชีพในภาคเอกชน

• ผู้ประกอบวิชาชีพในภาครัฐ

– สิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ทำวิจัยตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ

การนำเสนอข้อมูลเพื่อเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็น

จากข้อมูลการทบทวนทางวิชาการ ได้นำข้อสรุปจากการทบทวนนำเสนอต่อที่ประชุม โดยจัดขึ้น 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ในเดือนมกราคม 2547 มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักกฎหมายและแพทย์ผู้ปฎิบัติงานเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สูตินรีแพทย์

โดยสรุปที่ประชุมเห็นว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ที่ชัดเจน เพื่อให้แพทย์มีแนวปฏิบัติ และสามารถใช้เป็นแนวทางอ้างอิงและสื่อกับผู้รับบริการ เพื่อให้การบริการทางเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคมไทย

ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2547 เป้าหมายเพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง กฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม โดยจัดขึ้นในเดือน ตุลาคม 2547 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างขึ้น จากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อประเด็นวิชาการในข้อเสนอทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม และร่วมกันให้ข้อเสนอแนะในแง่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิเทียมกับการคัดเลือกทางพันธุกรรม

การประชุมครั้งนี้มีประเด็นเพื่อให้ที่ประชุมให้ความคิดเห็น ใน 4 เรื่องหลัก คือ (1) เงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีปฏิสนธิเทียม (2) การคุ้มครองตัวอ่อนนอกครรภ์ (3) การคัดเลือกตัวอ่อน และ (4) การตั้งครรภ์แทน โดยกระบวนการประชุมประกอบด้วยการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ และการตั้งคำถามเพื่อให้ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็น ในลักษณะความเห็นส่วนตัว และการให้ความเห็นในกลุ่มย่อย

ที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นดังกล่าวข้างต้น และสามารถสรุปได้ดังนี้

1. เงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีปฏิสนธิเทียม ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรจะมีการกำหนดขอบเขตในการใช้เทคโนโลยีโดยมีเงื่อนไขในการใช้เทคโนโลยี การกำหนดเงื่อนไขจะต้องพิจารณาทั้งทางด้านการแพทย์ กฎหมาย สังคม จริยธรรม รวมถึงทางจิตใจด้วย โดยน่าจะมีการตั้งกติกาเพื่อมาดูแล ซึ่งหน่วยงานที่น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบได้แก่แพทยสภา แต่จะต้องให้หน่วยงานอื่นเข้ามาพิจารณาร่วมกันด้วย เช่น ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ ฝ่ายกฎหมาย รวมถึงต้องถามความเห็นจากประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งกติกาที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีความยืดหยุ่นแล้วก้าวให้ทันเทคโนโลยี

2. การคุ้มครองตัวอ่อนนอกครรภ์ มีความเห็นว่าควรจะต้องมีการคุ้มครอง แต่จะให้สิทธิใครเป็นผู้คุ้มครองหรือเป็นเจ้าของนั้น ยังมีหลายความคิดเห็น คือมีทั้งให้ตั้งคณะกรรมการมาดูแล หรือให้ผู้บริจาคเป็นเจ้าของ

3. การคัดเลือกตัวอ่อน ที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีการคัดเลือกตัวอ่อนที่เป็นโรคทางพันธุกรรม เพื่อเลี่ยงกรณีเด็กอาจเป็นโรค แต่มีปัญหาในการตัดสินใจดำเนินการเมื่อพบว่าตัวอ่อนเป็นโรค ว่าควรจะทำลายหรือไม่ หากทำลายจะเป็นการทำบาปหรือไม่ ส่วนการคัดเลือกเพศนั้น ขึ้นอยู่กับกรณี ส่วนการคัดเลือกลักษณะเด่นนั้นไม่ควรทำ

4. การตั้งครรภ์แทน ควรจะอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ แต่ห้ามให้กระทำเชิงพาณิชย์ โดยต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิให้เข้ารับบริการ ต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาตั้งครรภ์แทน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะเป็นญาติสนิท รวมถึงจะต้องมีการให้ความรู้กับผู้ที่มารับตั้งครรภ์แทนด้วยว่าจะเกิดผล/การเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับตัวเองบ้าง เมื่อรับตั้งครรภ์แทน

สำหรับการประชุมครั้งที่ 2 มีประเด็นน่าสนใจทางวิชาการและข้อสรุปจากที่ประชุม โครงการชีวจริยธรรม จึงได้รวบรวมเป็นเอกสารและจัดพิมพ์เผยแพร่