6 การศึกษาในศตวรรษที่21เสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร

โรงเรียนที่ดี ครูที่ดี โดยเฉพาะสำหรับชั้นเด็กเล็ก การออกแบบกิจกรรมหรือบทเรียนให้เด็กเล็กได้ทำงานเป็นทีมในทุกๆวันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิวัติการศึกษา การทำงานเป็นทีมมิใช่การแบ่งกลุ่มทำรายงานส่งครูหรือการแบ่งกลุ่มไปทัศนศึกษา

การทำงานเป็นทีมหมายถึงการแบ่งกลุ่มเรียนรู้ด้วยการกระทำ คำสำคัญคือการกระทำหรือการทำงานคือ action กลุ่มที่ดีจะถูกออกแบบให้เด็กทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มได้เรียนรู้ผ่านการกระทำหรือการทำงานคือ learning by action หรือ Active Learning(AL)

บ้างเรียกว่าการเรียนรู้ผ่านปัญหาคือ Problem-based Learning หรือการเรียนรู้ผ่านโครงงานคือ Project-based Learning มักเรียกย่อๆกันว่า PBL

จะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม สาระคือเด็กต้องได้เรียนรู้จากการทำงาน หากเด็กมิได้เรียนรู้ได้แต่ความรู้ เช่น แบ่งกลุ่มไปทำรายงานมาส่งครู เช่นนี้ไม่มีประโยชน์ หรือแบ่งกลุ่มไปทัศนศึกษาแล้วเขียนรายงานมาส่งครู เช่นนี้ได้ประโยชน์น้อย คำสำคัญที่อย่าหลงลืมคือการเรียนรู้ผ่านการทำงาน

ในการแบ่งกลุ่มทำงานใดๆ เด็กทุกคนต้องได้ลงไม้ลงมือกระทำหรือทำงาน ไม่เปิดโอกาสให้เด็กบางคนอยู่เฉยๆ ถ้าทำได้และควรทำอย่างยิ่งคือให้มีเด็กทุกประเภทเป็นสมาชิกของกลุ่มคือ เด็กเรียนเก่ง เด็กเรียนไม่เก่ง เด็กฉลาด เด็กที่ดูคล้ายจะช้า(ซึ่งมิได้แปลว่าโง่) เด็กที่ดูคล้ายจะซน(ซึ่งมิได้แปลว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น) เด็กแอลดี เด็กพิการ เด็กชาติพันธุ์และศาสนาต่างๆ ฯลฯ

เรามีเด็กหลากหลายประเภทเช่นนี้ในกลุ่มก็จริง แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าเราได้เด็กหลากหลายนิสัยเข้ามาอยู่ในกลุ่มโดยไม่รู้ตัวด้วย เด็กขยัน เด็กขี้เกียจ เด็กมีวินัย เด็กไม่มีวินัย เด็กรวย เด็กจน ลูกเจ้าสัว ลูกกรรมกร เด็กเร็ว เด็กช้า เด็กขี้ประจบ เด็กฉอเลาะ เด็กมารยาสาไถย เด็กหญิงผู้ใจบุญ เด็กชายผู้ใจร้าย เด็กอู้งาน เด็กเอาหน้า เด็กละโมบ เด็กเผื่อแผ่ เด็กเกเร ฯลฯ พูดง่ายๆว่ากลุ่มของเด็กคือตัวแทนของสังคมที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ในวันหน้า

การเรียนรู้ที่ดีจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการใช้ชีวิตที่ดี

กลุ่มที่ดีนอกจากให้เด็กได้เรียนรู้จากการกระทำแล้ว ยังต้องมีกระบวนการพูดคุยเพื่อประเมินการเรียนรู้หลังการทำงานดังที่เรียกว่า After Action Review หรือ AAR ซึ่งเป็นทักษะที่ครูสมัยใหม่ต้องทำเป็น เมื่อแบ่งกลุ่มเด็กไปเรียนรู้โครงการอะไรบางอย่างด้วยการลงมือทำงานแล้ว เด็กจะต้องกลับมาพูดคุยกันเพื่อประเมินการเรียนรู้โดยมีครูนำกระบวนการ ครูทำหน้าที่เป็นทั้งครูฝึก(coach)และผู้นำกระบวนการ(facilitator) ครูมิใช่ผู้สอนหรือผู้มอบความรู้อีกต่อไป ความรู้อยู่ข้างนอกนั้นให้นักเรียนไปหาเอาเองเมื่อจำเป็นแต่วันนี้นักเรียนควรได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ก่อน

การเรียนรู้เป็นทีมเสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร

การเรียนรู้เป็นทีมด้วยกันระหว่างเด็กหลากหลายประเภทที่มีนิสัยต่างๆกันจำเป็นต้องอาศัยทักษะการทำงานเป็นทีมคือcollaborationดังกล่าวแล้ว การทำงานเป็นทีมสอดคล้องกับพัฒนาการบุคลิกภาพของ Erik H.Erikson ขั้นตอนที่ 5 ที่เรียกว่า Industry คือเด็กพัฒนาบุคลิกภาพด้วยการปฏิสังสรรค์กับคนอื่นในสังคม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างร้อนแรงและเป็นครั้งแรกของมนุษย์ทุกคนเมื่อก้าวออกจากบ้านเข้าสู่ระบบการศึกษา

ในขั้นตอนการทำงานเป็นทีมนี้ เด็กทุกคนต้องฝึกทักษะ 3 ประการโดยธรรมชาติ นั่นคือ การแข่งขัน การประนีประนอม และการร่วมมือกันทำงาน คือ compete,compromise และ co-ordinate ตามลำดับ เราอาจจะเข้าใจง่ายขึ้นหากพูดว่าเด็กเล็กต้องฝึกทักษะการทะเลาะเบาะแว้ง คืนดี และเล่นด้วยกันต่อ เด็กโตต้องฝึกทักษะการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง การลงรอยกัน และร่วมมือกันทำงานต่อไป

ทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดีเกิดจากการออกแบบโครงงานที่ดี การออกแบบโครงงานที่ดีจะต้องช่วยให้เด็กทุกคนในกลุ่มได้ลงมือทำและทำสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล แต่ทุกคนได้ทำและทำสำเร็จ แล้วจึงมาพูดคุยกันหลังกลุ่มเพื่อประเมินการเรียนรู้ว่าใครได้เรียนรู้อะไรและอย่างไร

เวลาเด็กหนึ่งคนทำอะไรได้ พัฒนาการบุคลิกภาพของอิริคสันเรียกว่า autonomy เกิดความภาคภูมิใจว่าเราทำได้ เวลาเด็กหนึ่งคนริเริ่มสิ่งใหม่ๆเรียกว่า initiation เกิดความภาคภูมิใจว่าเรามีความสามารถ ทั้งสองประการนี้เกิดในทีมโดยธรรมชาติและนำไปสู่การสร้างตัวตนของเด็กคือself

เด็กที่มีตัวตนจะรู้จักรักตนเอง ไม่ใช้พฤติกรรมเสี่ยง เด็กที่ไม่มีตัวตนให้รักจึงไม่ตั้งใจเรียน ไร้วินัย เข้าหาอบายมุข ควบคุมพฤติกรรมทางเพศไม่ได้ และใช้ชีวิตล่องลอยไม่มีอนาคต

จากความสามารถ autonomy และ initiation และการทำงานเป็นทีมคือ industry ดังกล่าวแล้ว นักเรียนคนหนึ่งจึงจะพัฒนาตนเองไปเป็นวัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะพร้อมๆกับทักษะการเรียนรู้ที่ดี

ทั้งหมดนี้คือกลไก(mechanism)การศึกษาในศตวรรษที่21