กองทุนเพื่อปฏิรูปการศึกษา

เผยแพร่21กรกฎาคม2557

1.การศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

1. เด็กนักเรียนเรียนหนัก ต้องกวดวิชา ต้องแข่งขัน

2. เด็กนักเรียนจำนวนน้อยที่ทำเกรดได้ดีถึงดีมาก แต่จำนวนมากกว่าที่ทำเกรดไม่ดีและถูกตีตราว่าเรียนอ่อน

3. การวัดผลการศึกษาใช้การวัดความรู้ (knowledge) เป็นสำคัญ ใครรู้มากกว่าเป็นผู้ชนะ

4. บัณฑิตที่จบการศึกษาทำงานไม่เป็นเป็นส่วนมาก ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะมีเกรดดีก็มิได้ประกันว่าจะใช้ชีวิตได้ดี

5. เด็กนักเรียนที่ถูกตีตราว่าเรียนอ่อนส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ กลายเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มิได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่

6 การตรวจคุณภาพโรงเรียนใช้วิธีตรวจเอกสารเสียมากและบ่อยครั้งที่ไม่สามารถประเมินคุณภาพโรงเรียนได้ตามจริง

7.ระบบการศึกษาทั้งหมดสร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคม

2.มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์และภาคีเครือข่ายขอเรียนเชิญร่วมตั้ง กองทุนเพื่อปฏิรูปการศึกษา ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ โดยมีเป้าหมาย คือ

1. เปลี่ยนแปลงการศึกษาที่มุ่งมอบความรู้ (knowledge) เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะ (skills)

2. เปลี่ยนแปลงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้พัฒนาทักษะ 3 ประการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้(learning skills) ทักษะการใช้ชีวิต(life skills) และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT skills)

3. เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนหน้ากระดานดำเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน(Problem-based Learning: PBL)โดยเด็กนักเรียนได้เรียนจากการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning: AL)

3.กองทุนเพื่อปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ จะดำเนินงาน 3 ขั้นตอน คือ

1. สร้าง เครือข่ายสร้างความสามารถในการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL โดยยึดหลักการประเมินการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง(Continuous Quality Improvement: CQI)

2. ก่อตั้ง สถาบันการจัดการการเรียนรู้ (Learning Management Institute, LMI) เพื่อเป็นศูนย์รวมเครือข่ายโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สนใจ จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนให้มุ่งพัฒนาทักษะสำคัญ 3 ประการ

3. พิสูจน์ ให้สาธารณชนและผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าการศึกษาที่มุ่งพัฒนาทักษะ 3 ประการ จะทำให้เด็กนักเรียนพัฒนาตนเอง เป็นบุคคลที่ใฝ่เรียนรู้และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากทุกสถานที่และเวลา มีทักษะการใช้ชีวิตที่ดี มีคุณธรรม และมีศักยภาพในการใช้เครื่องมือไอทีสมัยใหม่ในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

รายละเอียด

1.เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทยวันนี้

ศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ความรู้มิได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนหรือในตำราอีกต่อไป ด้วยความก้าวหน้าของสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้เด็กไทยเข้าถึงความรู้มหาศาลได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ แต่เด็กไทยกลับไม่สามารถเรียนรู้ได้และเสียโอกาสในการเรียนรู้เพราะต้องเรียนหนังสือมากเกินไป กวดวิชามากเกินไป และถูกจำกัดความคิดด้วยข้อสอบปรนัยที่มีคำตอบตายตัว

เด็กไทยจะรับมือศตวรรษใหม่ได้อย่างไร

ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามายี่สิบปี ทั้งปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปสื่อการสอน ปฏิรูปการสอบและวัดผล แต่การศึกษายังคงใช้กระบวนทัศน์เก่า คือ ครูสอนเนื้อหามากมายและนักเรียนเรียนแบบท่องจำเพื่อสอบ เด็กไทยไม่มีความใฝ่รู้และไม่รู้วิธีเรียนรู้

การสอบที่มีผู้แพ้มากกว่าผู้ชนะ ทำให้เด็กไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ไม่มีคุณค่า ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาที่เป็นอยู่ ไม่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ฝึกทักษะการใช้ชีวิตที่พร้อมจะปรับตัว รับผิดชอบ รับมือ หรือสามารถแก้ปัญหาเมื่อเผชิญอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต

เด็กไทยใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่ขาดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การเรียนหนังสือแยกออกจากการใช้ชีวิต นักเรียนส่วนใหญ่เรียนไม่เก่งและใช้ชีวิตไม่เป็น นักเรียนที่เรียนเก่งก็ขาดทักษะในการดำเนินชีวิต

แม้จะมีข่าวว่า เด็กไทยสร้างชื่อเสียงคว้ารางวัลการศึกษาในระดับนานาชาติอยู่เสมอๆ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย สอดคล้องกับสถิติผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในเวทีระดับชาติจากทุกสำนักที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงข้ามยังมีเด็กนักเรียนจำนวนมากขาดทักษะชีวิต พฤติกรรมก้าวร้าว ทะเลาะวิวาท ไม่ใฝ่เรียนรู้ ไร้เป้าหมายในชีวิต ติดการพนัน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ตั้งครรภ์ก่อนวัย ฯลฯ

สถานประกอบการจำนวนมากประเมินว่าบัณฑิตไทยทำงานไม่เป็น ไม่อดทน และไม่พยายามจะเรียนรู้

… เราจะปล่อยให้ศักยภาพในตัวเด็กๆ ซึ่งเป็นความหวังของเราค่อยๆ ถูกทำลายลงเช่นนั้นหรือ

… เราจะช่วยให้เด็กไทยกระตือรือร้น ที่จะ ‘เข้าถึง’ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างไร

… ระบบการศึกษาจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เมื่อปัญหาร้ายแรงและสลับซับซ้อนเกินกว่าโรงเรียนจะแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง

… เราจะปล่อยให้การศึกษาดำเนินอยู่ต่อไปเช่นนี้—หรือเราจะยื่นมือเข้ามา ร่วมด้วยช่วยพัฒนาเพื่อเด็กๆ ของเรา

2.เชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกลุ่มโรงเรียนทางเลือกจำนวนหนึ่ง ที่ได้จัดการเรียนการสอนดังที่เรียกว่า “สอนน้อยได้มาก” หรือ “teach less learn more” ลดชั่วโมงการสอนแบบดั้งเดิมและจัดการเรียนรู้แบบ “Problem-Based Learning: PBL” ขอเชิญท่านที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้นมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มก่อตั้ง “สถาบันการจัดการการเรียนรู้” (Learning Management Institute, LMI)

โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์และโรงเรียนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายสร้างความสามารถในการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน” สำหรับโรงเรียนทั่วไป เพื่อให้โรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในระบบได้มาเรียนรู้ร่วมกัน (joint learning) ช่วยกันสร้างการประเมินคุณภาพรูปแบบใหม่รวมถึงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ PBL อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นฐานคิด อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับโรงเรียน ครู และนักเรียน และมีผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมและโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนต่างๆ อยากเข้าร่วมเป็นเครือข่ายมากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนตระหนักรู้ถึงศักยภาพและความสามารถของตน บนหลักการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ยิ่งประเมินยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นนักเรียนเติบโตงอกงาม เกิดพลังแห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เห็นคุณค่าในตน และรักตัวเองมากขึ้นทุกวัน ครูมีการประเมินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตั้งใจและเต็มใจ ประเมินอย่างไม่รู้สึกเป็นภาระ หรือต้องกังวลถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา นำมาซึ่งความสุขในการทำงานของครู ความสุขจากการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน ทำให้เห็นคุณค่าวิชาชีพครูและงานของครู

3.จะเปลี่ยนแปลงอะไร

1. เปลี่ยนโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้

2. เปลี่ยนห้องสอน (class room) เป็นห้องทำงาน (studio)

3. เปลี่ยนครูผู้สอน เป็นครูผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียน

4. เปลี่ยนการเรียนการสอนที่มุ่งมอบความรู้ เป็น มุ่งพัฒนาทักษะศตวรรษที่21

5. บูรณาการการเรียน 8 กลุ่มสาระวิชาหลัก เป็น 3 วิชาสำคัญ คือ การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ และ 4 วิชาอนาคต คือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความเป็นพลเมือง

6. เปลี่ยนการเรียนแบบท่องจำ เป็น การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Active Learning: AL)

7. เปลี่ยนการสอบเพื่อตัดสินได้-ตก (examination) เป็นการประเมินเพื่อติดตามพัฒนาการของเด็ก (formative assessment)

8. เปลี่ยนวัฒนธรรมการประชุมครูเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครูมืออาชีพ(Professional Learning Community: PLC)

4.รูปแบบการดำเนินงาน

ระยะที่ 1 (phase 1) มูลนิธิฯ จะร่วมกับโรงเรียน 11 แห่ง ก่อตั้ง “เครือข่ายสร้างความสามารถในการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน” ระยะเวลา 1.5 ปี ประกอบด้วย 1) โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ 2) โรงเรียนเพลินพัฒนา กรุงเทพมหานคร 3) โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพมหานคร 4) โรงเรียนกาลพัฒน์ จ.ภูเก็ต 5) โรงเรียนอนุบาลสตูล จ.สตูล 6) โรงเรียนนาแก้ว จ.สตูล 7) โรงเรียนบ้านท่าเสา จ.ระยอง 8) โรงเรียนบ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ 9) โรงเรียนบ้านปะทาย จ.ศรีสะเกษ 10) โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย จ.ศรีสะเกษ และ 11) โรงเรียนปัญญาประทีป จ.นครราชสีมา

ดำเนินงานโดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระดมสมอง จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการอภิปรายกลุ่ม โดยใช้เรื่องเล่าความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ที่เกิดแก่นักเรียนเป็นตัวเดินเรื่องภายใต้ประเด็นคุณภาพ 3 หัวข้อ

หัวข้อแรก คือ การจัดโครงสร้างองค์กร และการเตรียมความพร้อมให้เกิดการจัดการเรียนรู้ PBL

หัวข้อที่สอง คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หัวข้อที่สาม คือ การประเมินผลลัพธ์ทั้งด้านวิชาการและทักษะศตวรรษที่ 21

หลังจากนั้น จัดการให้โรงเรียนทั้ง 11 แห่งแลกเปลี่ยนการตรวจเยี่ยมประเมินคุณภาพซึ่งกันและกัน เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการค้นหาวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียนอย่างดีที่สุด มีกระบวนการทางวิชาการเพื่อผลิตและสังเคราะห์ความรู้เพื่อใช้พัฒนาโรงเรียนอื่นๆ ในระยะที่ 2 (phase2) ต่อไป

5.ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

1. เกิด “เครือข่ายสร้างความสามารถในการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน” และ “สถาบันการจัดการการเรียนรู้”

2. โรงเรียนเรียนรู้วิธีประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง(Continuous Quality Improvement: CQI)อย่างเป็นมิตรและเป็นจริง (friendly and genuinely)

3. เกิดชุดตำราที่เป็นประโยชน์ต่อการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพึงประสงค์ยุคใหม่

3.1 คู่มือประเมินคุณภาพโรงเรียนบนฐานคิดการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21

3.2 คู่มือการจัดการเรียนรู้ PBL บนฐานคิดการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21

3.3 คู่มือพัฒนาคุณภาพโรงเรียนบนฐานคิดการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21

มีผลผลิตระหว่างการดำเนินงาน คือ

เดือนที่ 4 ได้ร่างแบบประเมินคุณภาพโรงเรียน

เดือนที่ 8 ได้แบบประเมินคุณภาพโรงเรียน

เดือนที่ 10 ได้แนวทางการประเมินคุณภาพโรงเรียน

เดือนที่ 18 ได้คู่มือประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ภายใต้โครงสร้างการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21

6.รู้จัก ‘แนวคิดทักษะศตวรรษที่ 21 (The Theory of 21st Century Skills, 21 CSKs)

กรอบแนวคิดเรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มแข็งเป็นระบบ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากองค์กรสนับสนุนการศึกษา นักวิชาการการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาคธุรกิจเอกชน ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปกครอง ชุมชน ฯลฯ ว่าจะเป็นทางออกในการขับเคลื่อนการศึกษาออกไปจากวิธีการเรียนรู้แบบเดิม ไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม มุ่งผลลัพธ์เน้นการฝึกทักษะแห่งศตวรรษใหม่ ช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนหลายด้าน ทั้งรู้จักคิด รู้จักโลก รู้จักตัวเอง พร้อมที่จะเลือกทางเดินของตนได้อย่างมีเป้าหมายชีวิต ทำงานและร่วมมือกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักแก้ปัญหา สื่อสารเพื่อรับมือกับปัญหาเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและความเห็นที่แตกต่างที่ต้องเผชิญไปตลอดชีวิตได้

ทักษะจำเป็นของการใช้ชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง

ทักษะที่ 1: ทักษะเรียนรู้ (learning skills) ประกอบด้วย

1.การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)

2.การสื่อสารความคิด (communication)

3.การทำงานร่วมกัน (collaboration)

4.การสร้างนวัตกรรม (innovation)

ทักษะที่ 2: ทักษะชีวิต (life skills) ประกอบด้วย

1.รู้จักวางแผน

2.รู้จักค้นหาทางเลือก

3.รู้จักตัดสินใจ

4.รู้จักรับผิดรับชอบ

5.รู้จักยืดหยุ่น

ทักษะที่ 3: ทักษะการใช้เทคโนโยลีและสารสนเทศ(IT skills) ประกอบด้วย

1.รู้จักเสพข่าวสาร

2.รู้จักวิเคราะห์ข่าวสาร

3.รู้จักใช้เครื่องมือไอทีสมัยใหม่อย่างชาญฉลาด

ขึ้นชื่อว่าทักษะ แปลว่า ต้องการการฝึกฝน มิได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทักษะศตวรรษที่ 21 ทั้ง 3 ประการซึ่งประกอบด้วยทักษะย่อย 12 ประการ พัฒนาให้เกิดขึ้นพร้อมกันได้ในโรงเรียน ด้วยการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่ให้นักเรียนได้ลงมือทำและทำงานร่วมกันเป็นทีม (learning by action หรือ active learning) เช่น การเรียนรู้ผ่านโจทย์ปัญหา (Problem-Based Learning) หรือเรียนรู้ผ่านโครงการ (Project-Based Learning) เรียกอย่างย่อว่า “PBL” คือการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ไม่ใช่เพียงแค่แบ่งกลุ่มทำรายงานส่งคุณครู หรือไปทัศนศึกษาแล้วเขียนรายงานส่งครู

7.ทำได้อย่างไร

การเรียนรู้ที่ดี ควรถูกออกแบบให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำงานเป็นทีม และทำสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล จัดการให้มีเด็กทุกประเภทเป็นสมาชิกของกลุ่ม เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน ชาติพันธุ์ หรือศาสนาที่ต่างกัน ระดับสติปัญญาหรือนิสัยใจคอที่ต่างกัน เพื่อเป็นการจำลองสภาพสังคมที่เด็กจะต้องออกไปใช้ชีวิตในวันข้างหน้า

ในขั้นตอนการทำงานเป็นทีม เด็กทุกคนจะได้ฝึกทักษะทั้งสามประการอย่างเป็นธรรมชาติ ได้มีโอกาสแข่งขัน (compete) ประนีประนอม (compromise) และร่วมมือกันทำงาน (coordinate) พูดง่ายๆ ว่าเด็กเล็กต้องฝึกทักษะการทะเลาะเบาะแว้งกัน คืนดีกัน และเล่นด้วยกันต่อ ส่วนเด็กโตต้องฝึกทักษะการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างขัดแย้ง หาจุดลงตัวลงรอยกัน และร่วมมือกันทำงานเพื่อส่วนรวม สอดคล้องกับพัฒนาการบุคลิกภาพตามแนวคิดของ อีริก เอช. อีริกสัน (Erik H. Erikson) ที่ว่า เมื่อเด็กทำอะไรได้สำเร็จ จึงจะเกิดความภูมิใจ(self-esteem)และใช้ความภูมิใจนั้นเป็นแรงผลักให้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดไป

ถึงตรงนี้ หลายท่านอาจเป็นห่วงและมีข้อกังขา มัวแต่ทำ PBL แล้วนักเรียนจะได้สาระวิชาการอย่างไร คำตอบก็คือ PBL ที่ดี จะบูรณาการวิชาการที่จำเป็น โดยที่ยังคงมุ่งเน้น 3 วิชาสำคัญ คือ การอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ เพราะวิชาสำคัญทั้งสามวิชานี้มีสำคัญต่อการพัฒนาสมองส่วนหน้าโดยตรง อีกสี่วิชาที่เหลือเป็นวิชาจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษใหม่ คือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง อธิบายว่า เด็กและเยาวชนควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และการเงินของตัวเองด้วยตนเองให้ดีที่สุด รู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพและการเงินที่มีหลากหลายทั้งจริงและลวง รู้วิธีที่จะมีชีวิตอย่างไรอยู่สิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ว่าดีหรือร้าย อีกทั้งเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่าง

“ครู” ยังคงเป็นบุคคลสำคัญและสำคัญมากขึ้นสำหรับการศึกษากระบวนทัศน์ใหม่ แต่ต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ‘ผู้ร่วมเรียนรู้’ ไปพร้อมกับนักเรียน ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกหรือ coach และผู้อำนวยการเรียนรู้หรือ facilitator ให้แก่นักเรียนได้เรียนรู้เต็มศักยภาพและมีเสรีภาพ ชวนนักเรียนมาร่วมออกแบบการเรียนการสอนแบบ PBLด้วยกัน โดยมีหลักสูตรเป็นเป้าหมาย

ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากเด็กไทยได้ฝึกทักษะศตวรรษที่ 21 ทุกวันต่อเนื่อง 12 ปี จะทำให้เด็กมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ได้ตามธรรมชาติ หรือรู้จักจัดการกับอารมณ์ของตนได้ ส่งผลให้การพัฒนาตัวเองไปสู่วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่อย่างดีที่สุด

8.‘ประเมินเพื่อพัฒนา’ เริ่มต้นที่คำถามว่า “เด็กได้อะไร”

ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นระบบหนึ่งที่จะสนับสนุนให้การศึกษาบรรลุผลได้อย่างเหมาะสมและเป็นทางลัด ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบประเมินภายนอก มีผู้ประเมินภายนอกทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะถูกประเมินทุก 5 ปี ปัจจุบันเป็นการประเมินรอบที่ 3 (พ.ศ.2554-2558)

แม้การประเมินคุณภาพการศึกษาจะทำไปเพื่อนักเรียน แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดปัญหาขยายเป็นวงกว้าง เป็นการเพิ่มภาระงานเอกสาร ทำให้ครูมีเวลาในการเตรียมสอนน้อยลง หลักฐานสำหรับประเมินไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ผลประเมินจึงไม่สามารถนำไปพัฒนาโรงเรียนได้

การประเมินคุณภาพที่ดีควรตอบคำถามที่สำคัญที่สุดได้คือ “นักเรียนได้อะไร”

9.ขอเชิญเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จึงขอเชิญชวนท่าน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยยุทธศาสตร์จากล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ผ่านการสนับสนุนทางเงินเพื่อตั้ง กองทุนเพื่อปฏิรูปการศึกษา เพื่อดำเนินงาน “เครือข่ายสร้างความสามารถในการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน” และก่อตั้ง “สถาบันการจัดการการเรียนรู้”

องค์กรผู้สนับสนุนจะมีชื่อปรากฏในหนังสือชุดตำราทุกเล่มที่เกิดจาการดำเนินงาน โดยมูลนิธิ ฯ จะรายงานความก้าวหน้าระหว่างดำเนินงาน

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และโรงเรียนทั้ง 11 แห่ง มีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า “สถาบันการจัดการการเรียนรู้” ที่เริ่มต้นด้วยการก่อตั้ง“เครือข่ายสร้างความสามารถในการทบทวนประเมินตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน” โดยมีทุกท่านที่ให้การสนับสนุนนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มโรงเรียนพึงประสงค์ยุคใหม่จำนวนมากให้กระจายอยู่ตามพื้นที่ห่างไกล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

10.มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดำเนินการโดยมิได้แสวงหากำไร มุ่งสร้างประโยชน์แก่สังคม

ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2537 ตามเจตนารมณ์ของพลตรีนายแพทย์สฤษดิ์วงศ์ และคุณหญิงสดศรี วงศ์ถ้วยทอง ที่จะสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และนวัตกรรมทางการศึกษา มีความเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาในสังคมจักต้องอาศัยวิธีคิดที่มีลักษณะ สร้างสรรค์ (innovative) และมีจินตนาการ (imaginative) ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิจึงมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อกระตุ้น ประสาน และส่งเสริมให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคิดค้นสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้บรรลุปัญญา ความดี ความงาม มิตรภาพและสันติภาพ โดยจะสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรที่มีศักยภาพโดดเด่น หรือกลุ่มบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์

วัตถุประสงค์

• สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพมนุษย์เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย

• ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

• เพื่อดำเนินการสาธารณะประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

• รวบรวมองค์ความรู้และศึกษาวิจัยในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทย

• ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง

มูลนิธิฯ ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลและไม่ได้มีเงินลงทุนเป็นของตนเอง การดำเนินงานจึงต้องอาศัยแหล่งทุนรองรับ มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและควบคุมดูแลกิจการต่างๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ มีระบบการควบคุมและตรวจสอบภายในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเงิน บัญชี และพัสดุ โดยผู้ตรวจสอบภายนอกซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินประจำปี ในการดำเนินงานที่ผ่านมามีผลประกอบการที่ดี มีสภาพคล่องทางด้านการเงิน

รายนามคณะกรรมการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการ

ศ.นพ.ประเวศ วะสี รองประธานกรรมการ

ศ.นพ.อารี วัลยะเสวี กรรมการ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กรรมการ

นพ.ปสารพงษ์ ปุณศรี กรรมการ

นางสาวพเยาว์ ปฏิมาภรณ์ชัย กรรมการและเหรัญญิก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กรรมการและเลขาธิการ

สนใจมีส่วนช่วยเหลืองานปฏิรูปการศึกษาไทยและร่วมสมทบทุน กรุณาติดต่อ

คุณสมหญิง สายธนู หรือ [email protected]

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ 1168 ซอยพหลโยธิน 22 ถ.พหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทร. 0-2511-5855 โทรสาร 0-2939-2122 Email : [email protected] www.thaissf.org