การขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (18)

ลักษณะและปัญหา อย่างเช่น การได้มาซึ่งประเด็น ลปรร. วิธีการคัดเลือกคนในพื้นที่เข้าวง ลปรร. วิธีการนำ ลปรร.ไปเป็นเครื่องมือในการทำงานประจำ ดำเนินโครงการตามนโยบายจากส่วนกลาง

ประเด็นเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการ

1. ภาพรวมระดับจังหวัด คือ

• สื่อสารเป้าหมายรายทางและเป้าหมายสุดท้าย วิธีการไปถึงเป้าหมาย บทบาทความรับผิดขอบของผู้เกี่ยวข้องทั้งทีมทำงานและผู้เข้าวง ลปรร. ผ่านช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่เป็นระยะ

• จัดหาวิธีการรวบรวมและทีมติดตามผลลัพธ์การจัดวง ลปรร. ที่เหมาะกับจังหวัดของตน โดยเป็นรูปแบบการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่าเป็นการประเมิน ทั้งวิธีตั้งรับและเชิงรุก อย่างเช่น การลงพื้นจะทำให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคจริง คอยเป็นพี้เลี้ยงที่ “ชี้” ประเด็นการเรียนรู้ “ช่วย” เติมเต็มเทคนิค ลปรร. และ “เชียร์” ให้กำลังใจเมื่อยามท้อแท้ ไม่ละเลยที่จะนำผลลัพธ์จากการรวบรวมมาเป็นข้อมูลในการวางแผนปรับปรุง พัฒนาในครั้งต่อๆไป

• รวบรวมรายงานถอดบทเรียน/ประสบการณ์ ความสำเร็จวิธีทำงานใหม่ๆ วิธีทำงานยากๆ เป็นคลังความรู้จากพื้นที่ต่างๆ มาสื่อสารขยายผลให้เกิดการเรียนรู้และปฏิบัติในวงกว้าง

• จัดทำผลลัพธ์ภาพรวมของกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นรายทาง โดย mapping ความสำเร็จพื้นที่ ให้ความสำคัญของผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพมากกว่าการบันทึกตัวเลขรายงานตัวชี้วัด เช่น การเรียนรู้ของบุคลากรนำสิ่งที่เรียนรู้จากวง ลปรร.ไปปรับปรุงวิธีทำงาน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร ประชาชนมีคุณภาพชีวิต สุขภาวะที่ดีขึ้นอย่างไร

2. การจัดวง ลปรร.

• ตั้งต้นที่การมีเป้าหมายชัดเจน สิ่งที่อยากเห็นหรือความคาดหวังของการจัดวง ลปรร. มีตั้งแต่ถอดบทเรียนวิธีทำงาน mapping ความสำเร็จพื้นที่ ติดตามประเมินนำวิธีการทำงานนั้นๆไปใช้ในพื้นที่ หรือเพียงให้ผู้เข้าร่วมรู้จักกระบวนการ ลปรร. ฯลฯ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปที่การตั้งประเด็น ลปรร. หรือหัวปลา วิธีการรวบรวม ค้นหา เลือกผู้เข้าร่วม และการออกแบบกระบวนการ ลปรร.

• ตั้งประเด็น ลปรร. มีประเด็นย่อยในการพูดคุย ไม่กว้างหรือใหญ่เกินไปจนไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะจะทำให้การเล่าเรื่องไม่สามารถลงรายละเอียดวิธีทำงานลงลึกได้ คือ เห็นแต่ว่าทำงานอะไร แต่ไม่เห็นว่าทำงานอย่างไร

• มีกระบวนการค้นหา รวบรวม คัดเลือก และวิธีทำให้แน่ใจว่า ผู้เข้าวง ลปรร. เป็นผู้มีประสบการณ์จริงตามประเด็น ลปรร.

• ทีมงานที่ประกอบด้วย KM PM, กระบวนกร ผู้บันทึก และผู้ถอดบทเรียน คุยสื่อสาร

– จูนเป้าหมาย ทำความเข้าใจความหมายของแต่ละประเด็นย่อยหรือหัวปลาย่อย

– บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นระยะตั้งแต่เริ่มต้น (Before Action Review)

– ทำการประเมินโดยใช้หลักการจัดการความรู้ (After Action Review) และนำผลการประเมินนี้ไปปรับปรุงออกแบบกระบวนการ ลปรร. ในครั้งต่อๆไป โดยมีการพูดคุยปรับกระบวนการได้ระหว่าง ลปรร. (During Action Review) หากเห็นว่าการทำวง ลปรร.เริ่มเบ้ออกนอกทางไม่เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

• สื่อสารทำความเข้าใจเป้าหมาย บทบาทของผู้เข้าร่วมวง ลปรร. ตั้งแต่ขั้นตอนการเชิญและเข้าร่วมวง โดยเฉพาะหากมาจากพื้นที่ต่างกัน

• หลายพื้นที่เป็นห่วงและมีปัญหาเรื่องถอดบทเรียน แต่เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดพบว่า เป็นผลพวงจากต้นน้ำ คือ เริ่มตั้งแต่เป้าหมายการจัดวง ลปรร.ไม่ชัดเจน หัวปลาใหญ่เกินไปสำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่มีหัวปลาย่อย ทีมงานเข้าใจความหมายหัวปลาต่างกัน กระบวนการ mapping ไม่ดีพอทำให้ผู้เข้าร่วมไม่มีประสบการณ์ตามหัวปลาจึงเล่าเรื่องไม่ได้ ขาดการเตรียมตัวคนเล่าเรื่องทำให้เล่าไม่ตรงประเด็น เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อนักบันทึกเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการถอดบทเรียน