การขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (14)

เจ้าหน้าที่เวชปฏิบัติ ทั้งหมด 10 CUP กำหนดว่า 6 เดือนแรก จากมี 6 ตำบล ให้มีเรื่องมาเล่าตำบลละ 1 เรื่อง ที่ไปทำอะไรมากับกลุ่มคนไข้เรื้อรัง ให้คนไข้มาแลกเปลี่ยนในกลุ่ม ให้น้องเจ้าหน้าที่สกัดเป็นความรู้ และกำหนดว่าถ้าทำจนครบทั้ง 6 วงแล้ว จะมีการให้รางวัลเล็กน้อยด้วย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มาแลกเปลี่ยนเป็น NP มีบทบาทหน้าที่หลักในงาน รพ.สต. คือการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งควรต้องแม่นทั้งระบบ…”

เสาวดี สังข์ทอง สสอ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

“…ในภาพจังหวัด ตอนที่จัดเวที CUP กับรพ.สต. มีโครงการจัดลำดับอำเภอ เรียกว่า ranking โดยเรียงลำดับอำเภอไหนได้คะแนน 1-22 ซึ่งมีผลกับการให้ขั้นเงินเดือนและโบนัส ใช้งบประมาณของจังหวัด ซึ่งทำมา 7 ปีแล้ว…”

จิราพรรณ โพธิ์กำเนิด สสจ.ศรีสะเกษ

 

ค. การได้มาซึ่งงบประมาณ

ด้วยความหลากหลายวิธีการทำให้เกิดกระบวนการ ลปรร.ในจังหวัด ทำให้มีทั้งใช้งบประมาณและไม่ใช้งบประมาณในการดำเนินการ คือ

1. ไม่ใช้งบประมาณในการจัดวง ลปรร. หรือ ไม่ต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการจัดวง ลปรร. แต่เป็นการนำกระบวนการ ลปรร. ไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินโครงการที่มีอยู่เดิม อย่างเช่น การประยุกต์นำ ลปรร.มาใช้แทนรูปแบบประชุมประจำเดือนที่จัดกันตามปกติ

“…ทุกครั้งที่มาทำงานจะไม่มีงบประมาณ ตัวเองก็ไม่ได้ไปขอ ผอ.เรื่องงบประมาณ เพราะฝ่ายเราจะมีกาแฟ ชา มีอะไรของเรากินอยู่แล้ว มีมะม่วงพริกเกลือ บรรยากาศที่เราจัดจะเป็นบรรยากาศที่เป็นกันเอง มีมะม่วงมีพริกเกลืออยู่ข้างหน้า ก็จัดวงแบบนี้ ก็คุยกันไป เราก็จะเปิดประเด็นว่าเราอยากจะฟังว่าที่เราทำงานเรื่องผู้สูงอายุมาตั้งนาน ก็อยากจะฟังว่าเป็นอย่างไร…”

ลักขณาภรณ์ เสนชัย รพ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ

“…ในแผนของ คปสอ.ไม่มีคำว่า ลปรร.ในแผนแม้แต่โครงการเดียว ผมคิดว่ามาเห็นของศรีสะเกษ มีนราธิวาสที่เขาทำ โดยไม่ใช้งบประมาณ เราน่าจะกลับไปทำได้ คิดว่าเราจะประยุกต์เอาของเขามาใช้ เพราะเรามีการประชุมประจำเดือนอยู่แล้ว ที่สสอ. ช่วงเช้าสละเวลานิดหนึ่งชวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะมาเรียนรู้มาคุยกันก่อน และช่วงบ่ายก็เอาเรื่องจากเวทีนี้ไปสรุปอีกทีหนึ่ง ถ้ามันเป็นประโยชน์แก่การทำงาน ก็ตกลงทำกันตั้งแต่เดือนมกราคม…”

วิชิต ยศสงคราม สสอ.หนองแสง จ.อุดรธานี

2. ใช้งบประมาณหรือตั้งงบประมาณขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่รองรับค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้เข้าร่วมที่มาจากต่างแดนกัน งบประมาณที่ว่ามาจากหลายแหล่งขึ้นกับการประยุกต์ให้เข้ากับเกณฑ์การจัดสรรแหล่งงบประมาณ

3. งบประมาณตั้งขึ้นเพื่อใช้สำหรับการทำความเข้าใจกระบวนการ ลปรร. สร้างทีมงานในระยะเริ่มต้นขยายเป็นครือข่าย โดยเขียนเป็นโครงการระบุรายละเอียดแผนการดำเนินงาน บอกผลลัพธ์และวิธีการวัดผลชัดเจน โดยมีบางแห่งทำเป็น MOU ร่วมกับ CUP

“… อย่างศรีสะเกษทำแผนงานโครงการ ก็ไม่ได้ทำรวมกับโครงการอื่น ก็ทำเป็นงานพัฒนาศักยภาพของเราขึ้นมาเอง แต่พอเงิน defend ขอเป็นเงินของจังหวัด แต่เงินที่เราเอาไปทำใช้เงิน CUP เพราะว่ามีเงินสนับสนุนใน CUP อยู่แล้วเรียบร้อย ยังไม่เคยสนับสนุนเงินลง CUP 13 CUP ที่ทำใช้เงินตัวเองหมดเลย ทำออกมาได้ ถามว่าแผนงาน โครงการมีส่วนช่วยไหม เรามีความรู้สึกว่าจะเขียนให้ชัดเจนได้อย่างไร ท่านก็ต้องอนุมัติอยู่แล้ว ก่อนที่จะไปถึงท่านนายแพทย์ ก็ต้องผ่าน ท่าน ส. ที่ดูแลอยู่ ท่านก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นการเขียนแผนงานโครงการ ถ้ามันชัดเจนในประเด็นในแผนนั้นอยู่แล้ว ก็คือจะไม่เหมือนกับที่อื่น ว่ามียุทธศาสตร์จังหวัด แต่เป็นโครงการพิเศษ ที่เร่งรัดมา และบังเอิญคำว่า รพ.สต. ฮอตช่วงนั้น ทุกกรมทุกกองเอางานลงหมด ท่านก็เห็นว่าโครงการไหนควรสนับสนุนท่านก็ผ่านตลอด…”

จิราพรรณ โพธิ์กำเนิด สสจ. ศรีสะเกษ

 

“…ใช้งบประมาณที่ให้ไปและขอจากจังหวัดเสริม มีงบพัฒนาคุณภาพส่วนหนึ่ง อบรมให้ครอบคลุมทั้ง 3 CUP เพื่อสร้างความเข้าใจ ลปรร. และสร้างทีม ฝึกทักษะการเป็น fa., note taker…”

จุฑามาส มาฆะลักษณ์ สสจ.สมุทรสงคราม

“…จากชื่อโครงการว่า การดูแลต่อเนื่องเชื่อมต่อจากโรงพยาบาลถึงบ้านด้วยกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนา รพ.สต. ให้ทุกคนเป็นเจ้าภาพหมด ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหล่อเลี้ยงเรื่องการดูแลผู้ป่วยเตียง 1-3 มีเบื้องหลังวิธีคิดเพื่อพัฒนา รพ.สต. เป็นโครงการที่ทำเรื่องให้โรงพยาบาลศูนย์ส่งคนไข้คืนให้โรงพยาบาลชุมชน ได้ case ละ 1,000 บาท โดยจากโรงพยาบาลไปถึง รพ.สต. ก็แบ่งเป็นเตียงให้ดูแลโดยไม่ต้องจัดอบรมอะไร แต่ให้ใช้กระบวนการลปรร.ไปทำ เขียนโครงการที่อยากให้เขาเป็นเจ้าภาพและให้เจ้านายรู้ว่าทำอะไร เป็นการบูรณาการลปรร.เข้ากับหน้างาน เชื่อมเป้าประสงค์ของลปรร.ไปยังงานรพ.สต. และให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างโรงพยาบาลกับรพ.สต. ซึ่งได้ชื่อมาจากโครงการปีที่ผ่านมาเป็นโครงการต่อเนื่องการดูแลถึงบ้าน มาเพิ่มการพัฒนารพ.สต.ด้วยกระบวนการเรียนรู้ให้ในปีนี้…”

รตญ. อมรพรรณ พิมพ์ใจพงษ์ สสจ.อุดรธานี

“…ของขอนแก่นจะให้ความสำคัญกับแผนงานโครงการค่อนข้างมาก เพราะมองว่าถ้าแผนงานโครงการมีความชัดเจน และก็ส่วนสำคัญถ้ามีงบประมาณในการสนับสนุนที่จะที่จะสนับสนุนลงไปในระดับ CUP ให้เขาขับเคลื่อนให้เกิดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของ รพ.สต. ก็จะเป็นส่วนที่สำคัญก็จะตั้งต้นจากแผนงาน อย่างที่ขอนแก่นก็มียุทธศาสตร์เหมือนทางพิจิตร ทุกคนก็จะมา defend งบประมาณมาเป็นกองกลาง ทั้งหมดจะถูกผลักเข้าสู่กองกลาง จะทำโครงการและมา defend งบประมาณ ตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสหนึ่งที่จะให้เราพูดผ่านหูนาย เหมือนที่พี่หน่อยบอกว่าผ่านหูนาย คือเราจะบอกว่าทำตรงนี้แล้วเกิดอะไรขึ้นเราจะเอางบประมาณไปใช้ทำอะไร โชคดีของงานปฐมภูมิที่เรามีงบจาก สปสช.เป็นเรื่องงบสนับสนุนบริการปฐมภูมิ จังหวัดขอนแก่นมีประชากรเยอะเราก็ได้ค่อนข้างมาก ทำโครงการเสริมศักยภาพบุคลากร เราใช้คำว่าบุคลากรปฐมภูมิโดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ชัดเจนว่าเงินเหล่านี้เราจะเอาไปใช้กิจกรรมอะไร เหมือนเป็น MOU ระหว่างจังหวัดกับ CUP เงินตรงนี้เราจะเอาไปทำโครงการใหญ่ของจังหวัดเอาไว้ จังหวัดก็จะมีกระบวนการในเรื่องของการพัฒนากระบวนการให้กับคนทำงานในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งก็ถูกเลือกเข้ามาไม่เหมือนกัน ตามประเด็นหัวปลาเป็นครั้งๆ ไป แล้วก็อีกส่วนหนึ่งสำคัญก็คือเราใช้งบประมาณจัดสรรงบให้กับ CUP และระบุกิจกรรมที่ชัดเจนว่าเงินตัวนี้ที่ให้ไปให้ไปใช้ทำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหน้างาน ใน CUP โดยให้ QRT ของ CUP เป็นพี่เลี้ยง และเขาจะเรียก รพ.สต. เข้ามาทำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และผ่องถ่ายลงไปว่า บางครั้งอาจจะบริหารจัดการ เหมือนกับจังหวัดก็ได้ เงินที่ให้ไปใช้กี่เปอร์เซ็นต์ของ CUP ทำ และอีกกี่เปอร์เซ็นต์ ให้ รพ.สต. เขาทำ เหมือนกับว่าถ้า CUP ได้ตังค์ ทำไม รพ.สต.ไม่ได้ เขาก็จะทำลักษณะแบบนี้ก็จะสอดรับกันไปเรื่อยๆ ค่ะ…”

บัวบุญ อุดมทรัพย์ สสจ.ขอนแก่น