การขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (9)

ที่เรียนรู้จากวง ลปรร. ไปทดลองทำจนเกิดการปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของตน ครอบครัว ชุมชน ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนางาน รพ.สต.

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่มีความหมายสำหรับคนทำงาน คือ “การเกิดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน” จากเป็นเพียงแค่คนรู้จัก รู้ว่าทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร เมื่อได้เข้ามา ลปรร. ทำให้รู้จักกันมากขึ้น รู้ว่าคนนี้ทำงานอะไร ทำงานอย่างไร เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

“…พอเรารู้จัก ลปรร. แล้ว ก็คิดว่าจะทำยังไงให้เกิดการแลกเปลี่ยนในทุก CUP เราก็ทำทีมนำในทุก CUP แล้วเค้าก็เอาไปใช้ อย่างในโรงพยาบาล เดิมจากที่พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. โดยการประชุม อบรม แต่หลังจากเข้าใจ ลปรร. เค้าก็เอา ลปรร.ไปใช้ เอาแต่ละที่มาพูดคุย มานั่งคุยกันว่าดูแลอย่างไร เอาพื้นที่ที่ทำได้ดีมาแลกเปลี่ยน ก็เห็นความสำเร็จของกันและกัน เขาได้เรียนรู้กัน ก็ได้เอาไปปรับใช้กับตัวเอง

เรื่องความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ พอเกิดการตั้งวง ความสัมพันธ์ระหว่าง CUP กับพื้นที่ รพ.สต. ดีขึ้น ระหว่าง รพ.สต. ด้วยกัน พอได้มาพูดคุยกัน เห็นแนวทางการทำงาน ได้แลกเปลี่ยนตรงนี้ด้วยและอีกอย่างหนึ่งเหมือนเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน เกิดการทำงานเป็นทีมขึ้น เกิดการทำงานที่เป็นเครือข่าย เช่น ตรงนี้มีปัญหาก็จะช่วยเหลือกัน เกิดการช่วยเหลือกันระหว่างการทำงาน ถ้าไม่มีวงตรงนี้ก็ต่างคนต่างทำงาน อันนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง…”

นุชนภางค์ ภูวสันติ สสจ.สระบุรี

“…ตอนแรกจริงๆ แล้ว ก็อาจจะไม่ศรัทธาวิธีการนี้มากนักโดยส่วนตัว แต่พอทำแล้ว ก็รู้สึกดี คนเล่าเขามีความสุขที่ได้เล่า เราก็ได้เนื้อหา ว่าเรื่องแบบนี้ทำไมที่นี่ทำได้ดี แต่อีกที่ไม่ดี เราก็มาแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องไปหาทฤษฎี เราหาจากคนของเรามีเยอะแยะเลย เอามาแชร์กัน ทุกคนอยากเล่าอีก แต่เวลามันน้อย จากที่เราไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ ก็เลยรู้สึกว่าวิธีการเล่าเรื่องเราก็ได้วิธีการทำงานที่ดีในพื้นที่เราอีกเยอะ ในส่วนตัวที่ได้ หลังจากนั้นก็เอาไปลองทำเอง เราประทับใจว่าเราทำได้ ก็ลองไปทำเอง น้องๆ ที่ทำก็รู้สึกดี เราทำเรื่องเจาะเลือดเบาหวาน น้องๆ ที่ทำก็ได้ประโยชน์ว่าเอาไปใช้ได้ดีนะพี่ จากเมื่อก่อนเราเจาะเลือดเราต้องตีคนไข้ นวด เราได้เทคนิคใหม่ ทุกคนก็แชร์กัน เราก็เอาไปในพื้นที่ 3-4 ที่ ร่วมกับทีมผู้บริหาร จากผู้บริหารไม่เคยไปพื้นที่ก็ได้ไปพื้นที่กับเรา เกิดเครือข่ายการทำงานกับ รพ.สต. ในพื้นที่ หมอที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมก็เริ่มเข้ามา ชวนก็ง่ายขึ้น เข้าใจคนไข้ เข้าใจเจ้าหน้าที่ รพ.สต. มากขึ้น เวลามีงาน สสอ.ท่านจะไปทุกงานเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ก่อนเราจะแยกส่วนพอสมควร แต่ตอนนี้แพทย์ก็เริ่มไป เริ่มเป็นแบบว่างาน รพ.สต. หรือสสอ. ก็มีความสุขได้ไปกับเขา รู้สึกว่าเรื่องระบบนี้ตรงนี้เอามาใช้ทำให้เกิดการทำงานที่เป็นเครือข่าย และก็เจ้าหน้าที่เป็นเนื้อเดียวกัน คนไข้ได้ประโยชน์ที่เราไปคุยกัน เราสามารถช่วยให้คนไข้ได้ประโยชน์มากขึ้น…”

สถิต สายแก้ว รพ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

“…ตอนแรกได้ฟังว่า ลปรร. เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ฝังลึก มันก็ยังงงๆ ไม่เข้าใจ แต่พอได้มาจัดวง ลปรร. ก็เริ่มรู้แล้วว่าฝังลึกคืออะไร บางอย่างที่อยู่ในชาวบ้านบางทีเรายังไม่รู้เลย หมอจะไปตรวจร้านค้า อสม.ถามผมนะ ว่าหมอรู้จักร้านค้านี้อย่างไร รู้จักหรือยัง เขาเป็นใครรู้จักไหม เขาบอกผมอย่างนี้ เราจะตรวจเขาและให้เขาไว้วางใจเราต้องไปรู้จักเขาก่อน สร้างความคุ้นเคยกับเขา จะไปเตือนอะไรบางอย่างหรือไปว่าเขาผิด ถ้าไม่รู้จักกับเราหรือไม่คุ้นเคยกับเราก็จะถูกคัดค้าน มองต่างมุมกัน เมื่อก่อนได้ยินอย่างนี้ก็รู้สึกค้านนะ แต่พอมาจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ใช่ บางทีเรามองข้ามไป ไม่ใช่ว่าเราอยู่ในตำแหน่งของตรงนี้ ที่อะไรก็ต้องเรา เราควบคุมดูแล แต่บางอย่างเราก็ขาด การยั้งคิด ไม่คิดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่บางครั้งมันส่งผลให้งานสำเร็จได้…”

วัลลพ ฤทธิ์บำรุง รพ.สต.บ้านสายลำโพงใต้ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

“…เราเป็นคนจัดคลินิกเบาหวาน เวลาคนไข้มา แล้วน้ำตาลสูง คนไข้สะท้อนมาว่า หมอต้องด่าแน่ๆเลย เราก็พยายามหาวิธีการคุยว่าจะทำยังไงไม่ให้เป็นการซ้ำเติมเค้า ไม่ให้เค้ากดดันหรือเครียด แล้วพอได้มาเรียนรู้เรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตอนที่อบรมเป็นครู ข. เวลาเราเข้าวงเราสนใจมาก โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาของเรา เราจำได้ ไม่ได้บันทึกก็จำได้ เราก็คิดว่ามาทำอย่างนี้น่าจะดี ก็ลองมาทำดู…”

รุ่งตะวัน โคตรวงศ์ รพ.สต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ

“…ตอนนี้ทุกคนคุยกันได้ สนิทสนม กล้าพูดด้วยกัน สัมพันธภาพเปลี่ยนไป คุยกันได้ทั้งหมด บางคนที่ไม่ค่อยทำงานด้วยกัน เค้าก็จะออกมา เก็บตัวน้อยลง ร่วมมือกันทำงานมากขึ้น ลดปัญหาการทำงาน เวลามีปัญหาก็โทรถามกัน ก็จะมีเสียงว่า ทำอย่างนี้สิ เหมือนอย่างปากคานเค้าทำอย่างนี้ไง รู้ว่าใครมีเครื่องมืออะไรทำอะไรยังไง รู้จักกันมากขึ้น ตัวเราเองก็ภูมิใจ แล้วเพื่อนๆพี่ๆที่ทำกระบวนการด้วยกันก็เข้าใจมากขึ้น…”

น้ำค้าง สาระแสน รพ.สต.อาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย

“… ตั้งประเด็นว่า ทำไมเขาถึงติดยาเสพติด ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ให้เขาเล่า แรกๆ เขาก็ไม่เล่า หลังจากพี่ติ๊บได้คุยกัน ก็สนิทสนมพยายามใกล้ชิด ให้ความเห็นอกเห็นใจเขา เขาก็กล้าเล่าให้ฟัง ว่าเป็นอย่างไร คือเขาติดยาเพราะตามเพื่อน บางครั้งก็อยากลอง บางครั้งก็ขาดความอบอุ่นในครอบครัว หลายๆ อย่าง เขากล้าเล่าให้เราฟัง จนเกิดความสนิทกันขึ้น จนกระทั่งอบรมเสร็จ เข้าค่าย10 วัน เสร็จแล้ว เขาก็โทรศัพท์ มาหาเรา บอกว่าเขาอบอุ่นขึ้น ทำให้เขามีค่าขึ้น เพราะไม่มีใครรังเกียจเขา เขาจะไม่หันไปติดยาอีกแล้ว ยังขอสปอนเซอร์ ให้เราทำเรื่องกีฬาด้วยได้ไหม เพราะเขาจะเล่นกีฬา บางครั้งการทำงานตรงนี้เราก็ต้องเสียสละเงินส่วนตัวให้เขาไปบ้าง แล้วเขาจะได้ไปคุยให้เพื่อนคนอื่นที่ติดยา ให้กลับมา ตรงนี้เป็นประโยชน์ที่ว่าเกิดความสำเร็จในใจของพี่ติ๊บ คือตรงนี้หลังจากพี่ติ๊บได้เข้าอบรม KM แล้ว เอา KM ไปใช้ในกลุ่มงานอื่นๆได้…”

ศจี ชูศรี สสอ. เมือง จ. ระนอง