การขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (5)

ไม่สามารถลงโปรแกรมได้ครบทุก 18 แฟ้ม แต่เป็นผู้บันทึกข้อมูลแฟ้มใดแฟ้มหนึ่งได้ดีเป็นคนเล่าเรื่อง

“…ทุก รพ.สต. ต้องทำข้อมูล J-HCIS เป็นการลงข้อมูล 18 แฟ้ม เพื่อที่ สปสช.จะตรวจข้อมูลเพื่อให้คะแนนและงบประมาณ ในอำเภอมี 3 ตำบลที่ลงข้อมูลผิดพลาด แล้วจังหวัดก็เรียกไป เช่น วินิจฉัยโรคไม่ตรงกับอาการที่มา ให้หัตถการอย่างมีผ่าตัดใน รพ.สต. การ x-ray ใน รพ.สต. ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้น เมื่อเกิดการผิดพลาด จังหวัดเรียกไปให้ไปอุทธรณ์ข้อมูลของตัวเอง เราก็อยากไปฟัง เผื่อว่าจะเกิดข้อผิดพลาดของเรา มันก็เลยเป็นที่มาว่า ในโปรแกรม J มีรายละเอียดเยอะ มีการพัฒนาข้อมูล แล้วถ้าทำผิดพลาดมันมีผลกับเงิน ก็เลยตกลงกันว่าจะมีการ ลปรร.กันทุกเดือนดีไหม น้องจาก รพ.สต.อื่นก็เห็นด้วย จากทุกครั้งจะเรียกประชุมเฉพาะมีปัญหา เราก็เสนอว่าให้แต่ละแห่ง list ปัญหาว่ามีเรื่องอะไร แล้วก็เอาเป็นหัวปลา อย่างประชุมวันนี้เสร็จเราก็เอาเรื่อง EPI เมื่อประชุมเสร็จแล้วก็ถามต่อว่าครั้งหน้าจะแลกเปลี่ยนเรื่องอะไร จะให้ใครเป็นคนเล่า…”

รุ่งตะวัน โคตรวงศ์ รพ.สต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ

“…เลือกประเด็นคอตีบ เพราะมันเกิดขึ้นในรามัน 5 ราย ตายไปแล้ว 2 แล้วงานระบาดมักจะมีการเปลี่ยนคนรับผิดชอบบ่อยๆ พี่ไม่อยากทำ พอมีน้องใหม่มาพี่จะโยนให้ทำ ก็ประชุมทีมงานระบาด SRRT ตัวเองกับเพื่อนก็คุยกันก่อนแล้วเสนอว่าให้ทำแบบ ลปรร….”

รูสลาม สาร๊ะ รพ.สต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา

“…ได้มาอบรมแล้วก็ไปพูดคุยกับทีมจังหวัดว่าจะทำประเด็นอะไร ก็เลยเลือกทำระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ซึ่งเป็นปัญหาของชุมชนที่เรารับผิดชอบ ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 35 ปี มีผู้ป่วย 36 ราย เป็นความดันด้วย 70 กว่าราย เราก็เลยจะทำเรื่องนี้ก่อน แล้วมันตอบ PCA หมวด 5 และหมวด 6 ด้วย จัดครั้งเดียวตอบโจทย์หลายอย่าง…”

ธัญลักษณ์ มุ่งเอื้อมกลาง รพ.สต.ท่าจาม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี

“…เราเริ่มต้นจากอยากพูดคุยกันในกลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติ แล้วค่อยมาหาประเด็นที่จะคุยกัน เราก็เลยดูปัญหาว่างานเรามีปัญหาอะไร ช่วงนี้เราจะทำอะไร อยากรู้อะไรก่อนจะได้เอาไปใช้ได้ แล้วก็ค่อยเลือกว่าเอาใครเป็นคนพูด เอาคนที่ประสบความสำเร็จมาพูด เช่น ทำ pap smear ต้องทำกันทุกคน แต่บางคนทำได้ตั้งเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ บางคนทำได้แค่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ก็เอามาคุยกัน…”

น้ำค้าง สาระแสน รพ.สต.อาฮี จ.เลย

“..ในภาพจังหวัด ตอนที่เราจัดเวที CUP กับ รพ.สต. ศรีสะเกษจะมีโครงการหนึ่งคือจัดลำดับอำเภอ เรียกว่า ranking เราจะเรียงว่าอำเภอไหนได้คะแนน 1-22 มีผลกับการให้ขั้นเงินเดือนกับโบนัส เป็นเงินของจังหวัดต่างหากไม่ใช่เงินของ สปสช. จะได้ 3-4 แสนบาท ถ้าใครได้ สสอ.เอาไปเลย 2 ขั้น จะเห็นว่าแต่ละอำเภอก็อยู่อันดับแตกต่างกัน เราก็เลยเอา KPI ของ ranking มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำเป็นวงแต่ละ KPI เลย ให้คนที่อยู่อันดับท้ายๆมาแลกเปลี่ยนกับคนที่อยู่อันดับต้นๆ…”

จิราพรรณ โพธิ์กำเนิด สสจ.ศรีสะเกษ

2. นำประเด็นที่ต้องการพัฒนาทำให้ดีขึ้นมาเป็นหัวปลา เป็นการหาประเด็น ลปรร.จากงานที่ทำกันอยู่แต่ต้องการพัฒนาให้ดีชึ้น

“…ตัวเองจะไปช่วยเขาเจาะเลือด วันพฤหัสกับวันศุกร์ เราจะไปช่วยเขาเจาะเลือดตอนเช้า เป็นจิตอาสาด้วย คนไข้เขารอคิวเจาะเลือด เวลาถึงคิวเขาก็ไม่เข้าไปหาคนนี้ มีคนเจาะ 2-3 คน ถึงคิวก็ไม่ยอมไป รอว่าหมอคนนี้เป็นคนเจาะถึงจะเข้าไป ก็คิดว่ามีอะไรดีๆ ในหมอคนนี้พอสมควรเขาถึงรอ ก็คิดว่าเรามาคุยกันดีไหม ว่าทำไมเราจะเจาะเลือดได้ดีขึ้น ก็ไปคุยกับทีม fa. ที่เราเคยทำเอาไว้ ว่าเราอยากทำเรื่องนี้…”

สถิต สายแก้ว รพ.ราษีไศล จ. ศรีสะเกษ

3. นำนโยบาย ภารกิจ หรือ KPI มาเป็นหัวปลา มักมีขึ้นตามแผนงานหรือนโยบายที่ลงมายังพื้นที่หรือตอบสนองตัวชี้วัด

“…เลือกการคุ้มครองผู้บริโภคเพราะว่า การทำงานคุ้มครองมีแต่ให้รายงานปีละ 1 ครั้ง นโยบายให้ความสำคัญน้อย แต่เรามาทบทวนกันร่วมกับประธานชมรม อสม. และคนทำงานก็มาดูว่าประเด็นดังกล่าวหากมันเกิดเพิ่มขึ้นมันจะรุนแรง สร้างผลกระทบมาก ส่งผลไปยังทุกคนในชุมชนในแง่การกินอยู่ไม่ปลอดภัย ก็เลยจับมาเป็นประเด็นจะพัฒนางาน หัวปลาที่จะใช้กำหนดเป้าหมายว่าเป็นกลางๆ สามารถใช้ได้กับทุกกลุ่ม ชุมชนห่วงใยใส่ใจสุขภาพผู้บริโภค เราใช้หัวปลาจากการพูดคุยกันว่าเป็นกลางๆ ใช้กับบทบาทของคน 4 กลุ่มที่มีบทบาทในการคุ้มครอง…”

วัลลพ ฤทธิ์บำรุง รพ.สต.บ้านสายลำโพงใต้ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

“…เลือกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะเป็นนโยบาย เพิ่งมา กำลัง hot มีทั้งคนทำสำเร็จและกำลังทำอยู่ ถ้าเป็นเรื่องเดิมๆ เช่น เยี่ยมบ้าน คนที่เข้าร่วมกระบวนการจะชิน ไม่ตื่นตัว…”

ศิรินทิพย์ ธรรมสกุล รพ.สต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

“…ผอ.ท่านบอกว่า เดือนเมษายนเราจะทำ แล้วสิ่งหนึ่งคือ เขาเสนอว่าเนื่องจากเป็นทั้งนโยบายและสิ่งที่เขานำไปใช้ก็คือ เขาบอกว่าผู้สูงอายุประเภท 2-3 จะต้องได้รับการดูแล 100% มันก็มีเกณฑ์ มีหนังสือมาจากส่วนกลาง แต่ส่วนของการนำไปใช้มันยังมีแต่ตัวหนังสือ เราก็เอามาทำวง ลปรร. ในการดูแลผู้สูงอายุ เอาจากหลายๆ รพ.สต.มาคุยกัน แล้วมันชื่นใจตรงที่เป็นการเปิดมุมมองให้ รพ.สต.อื่นคิดว่าอย่างนี้เราก็ทำได้นะ เมื่อก่อนเราชอบทำอะไรที่มันง่าย แต่พอมาเจอเคสยากของที่อื่น เห็นเค้าทำได้เราก็ทำได้…”

ลักขณาภรณ์ เสนชัย รพ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ

“…มาจากนโยบายกระทรวงที่ว่ามี 12 ประเด็น หัวปลา ระนองเอา 12 ประเด็นนี้แจ้งพื้นที่ตามที่เราจัดสรรเงินไป หัวปลาก็ตามประเด็นการพัฒนา รพ.สต. มี 12 ประเด็น ก็แจ้งพื้นที่ไป ให้พื้นที่เลือกประเด็นของ รพ.สต. ว่าตัวเองมีประเด็นอะไรที่ว่าจะเล่า ก็เล่าภายใน รพ.สต. และคัดเลือกส่งมาที่อำเภอ และอำเภอส่งมาที่จังหวัด และมีการแบบว่าคลี่กันจนออกมาเป็นจับกลุ่ม ทำ best practice ออกมา…”

บุษกร อุ่ยเต็งเค่ง สสจ.ระนอง

4. นำประเด็นที่ทำสำเร็จแล้วมาเป็นหัวปลา

ให้คนที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จมาเล่าวิธีการทำงานของตนเองให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ ผู้จัดมักจะใช้วิธีมองหาบุคคลที่ได้รับรางวัล ผลงานที่ได้รับการยอมรับ มาเป็นประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“….เราก็มาคิดว่าอำเภอเรามีเรื่องสำเร็จ มีคนที่ได้รับรางวัลในเรื่องแกนนำสุขภาพจิตดูแลผู้ป่วยเรื้อรังลดปัญหาฆ่าตัวตาย แล้วเรื่องสุขภาพจิตก็ต้องทำทุก รพ.สต. ก็เลยเอามาทำเป็นประเด็น….”

สุมาลี คุ้มสุวรรณ รพ.สต.คลองเรือ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี

“…ได้มีโอกาสเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้สูงอายุต้นแบบในชุมชน ก็ได้ไปเจอท่านหนึ่งดูแลสุขภาพดีมาก แต่มีโรคประจำตัว เป็นเบาหวานแต่น้ำตาลไม่เกิน พอเราได้ไปอบรมการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วก็อยากจะมาลองฝึก ก็เลยคิดถึงป้าคนนี้ อยากให้มาเล่าให้คนอื่นฟัง ก็เลยจัดกระบวนการประเด็น “เคล็ดลับการมีสุขภาพดีในผู้สูงอายุ” ให้ป้าเล่าการกินการอยู่ เมื่อรู้ว่าป่วยรู้สึกยังไง ชีวิตเปลี่ยนแปลงยังไง แล้วจัดการยังไง ดูแลตัวเองยังไง…”

ศิรินทิพย์ ธรรมสกุล รพ.สต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี