การขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (4)

หัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้เข้าร่วมวง และตัวเจ้าหน้าที่เองเกิดความเข้าใจ

“…หลังจากอบรมกลับไปก็ไฟแรง เอาก็คุยกับเจ้าหน้าที่เราก่อนว่าไปแล้วเราได้อะไรบ้าง น้องก็อยากมาแลกเปลี่ยนว่า อยากมาคุยกันบ้าง เราก็ทำเลย เพราะเดิมเรามีการนั่งคุยกันอยู่แล้ว แต่เราปรับให้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ทุกคนได้พูดเรื่องที่ตัวเองทำกับคนไข้แล้วคนไข้ประทับใจ…”

ธัญลักษณ์ มุ่งเอื้อมกลาง รพ.สต.ท่าจาม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี

“…ผมมีตำแหน่งผู้จัดการโครงการ รพ.สต. โครงการทั้งหมดที่มาก็จะผ่านผมก่อน ปีๆ หนึ่ง 20 โครงการได้ วิธีเลือกสถานที่ผมก็ใช้เอาตามความสะดวกของเขา ก่อนที่จะทำโครงการผมก็จะลงไปก่อน เช่นผู้พิการ ผมก็จะลงไปสอบถามผู้ดูแลกับผู้พิการก่อน ว่าสะดวกตรงไหนอย่างไร ผู้พิการบอกว่าสะดวกที่ รพ.สต. ก็จัดที่ รพ.สต. ส่วนของโครงการสุขภาพดีวิถีไทย จัดที่มัสยิด เพราะเขาสะดวกที่มัสยิด…”

รูสลาม สาร๊ะ รพ.สต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา

“…ของขอนแก่น พอเราไปอบรมมาเราก็บันทึก แต่นอกจากจะบอกถึงข้อเสนอว่าจะทำอะไรต่อไป เราจะบอกถึงประโยชน์ที่จะได้รับไปด้วย ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจากประสบการณ์ที่เราไปเรียนรู้ที่เราไปรับฟังมา จะเกิดประโยชน์อย่างนี้แหละ และบุคลากรจะได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ตรง เราก็เขียนไป ก็ทำประมาณนี้…”

บัวบุญ อุดมทรัพย์ สสจ.ขอนแก่น

“…เราอยากทำกับพยาบาลเวชปฏิบัติด้วยกัน เราก็เริ่มจากพี่ที่เราสนิท ก็เริ่มพูดโน้มน้าว ว่า ลปรร. เป็นยังไง มีประโยชน์ยังไง จะเอามาทำกับกลุ่มไหน เราก็ให้พี่เค้าไปพูดต่อ ใครสนิทกับใครก็ไปพูด เรามาลองคุยกันเป็นกลุ่มเป็นเครือข่ายพยาบาล มีคนถามว่าหัวหน้าจะเห็นด้วยไหม เราก็คิดว่าเราจะทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทำข้อตกลงว่าเราจะทำอะไรบ้าง มีหลายเรื่อง 13 ข้อ รวมเรื่องอื่นๆด้วย หนึ่งในนั้นมี ขอจัด ลปรร.เดือนละ 1 ครั้ง ในวันราชการ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับ รพ.ด้วย เพราะถ้าอำเภอจัดความต่อเนื่องจะน้อย แต่ถ้ารพ. เป็นคนจัดจะมีความต่อเนื่อง โดยการจัดในนาม CUP

เราก็เอามาคิดว่าเราจะเข้าหาใคร ก็เลือกพี่จี เป็นหัวหน้า OPD ที่สนิทที่สุด ใครๆก็นับถือ กับหัวหน้าฝ่ายการฯ เข้าไปพูดเอง บอกว่ามันเป็นการพัฒนางานด้านการพยาบาล แล้วเราขับเคลื่อนไม่ได้ถ้าขาดผู้อำนวยการเองก็ไม่มีน้ำหนัก อยากให้พี่ช่วย พี่เค้าก็บอกว่าดีแล้ว ก็ไปคุยกับ ผอ.ให้ เค้าก็ถามว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ ก็เลยขอแค่ค่าเบรค เพราะเรากินข้าวเที่ยงด้วยกันอยู่แล้ว

พอ ผอ.เห็นด้วย ก็ให้เขียนโครงการ เราเป็นคนเขียนเองแต่ใส่ชื่อพี่จีเป็นคนรับผิดชอบ เป็นการให้เกียรติพี่เค้า ชื่อโครงการ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนด้านการพยาบาลของกลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติ จ.เลย แล้วส่งให้ สสจ. ลงนามอนุมัติ…”

น้ำค้าง สาระแสน รพ.สต.อาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย

วางทีมงานจัดวง ลปรร.

จากจุดเริ่มต้นเกิดวิทยากรระดับจังหวัด เมื่อกลับไปในพื้นที่ หลายแห่งสร้างพัฒนาและหาทีมงานทำวง ลปรร. เช่น

– อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเป็นวิทยากร ลปรร. ที่สามารถไปจัดวง ลปรร.ต่อได้

– หาทีมงานเพิ่มเติมจากงานที่รับผิดชอบ เช่น งานพัฒนาคุณภาพ งานบริการปฐมภูมิ

– หาทีมงานเพิ่มเติมจากผู้สนใจ มีใจที่อยากทำ อยากเรียนรู้

“…ของราชบุรี ก็มอบมาที่กลุ่มงานฝ่ายพัฒนาบุคลากร และภายใต้กลุ่มงานนี้มีคณะทำงานที่ดึงมาจาก QRT แต่ละอำเภอ ทั้งหมด 5 คน มาอยู่ที่นี่…”

จินตนา นาคงาม รพ.โพธาราม จ.ราชบุรี

“…ศรีสะเกษ เวลาเลือก ต้องโทรขอ ผอ.เขาก่อน ต้องเรียนผู้บังคับบัญชาเขาก่อน QRT ของศรีสะเกษ มีประมาณ 20 คน ถ้าในตัว สสจ. เองคือหัวหน้าฝ่าย และคนผู้รับผิดชอบ อย่างเป็นเภสัช เราก็ต้องคุยกับเจ้าตัวและให้หัวหน้าเขารับทราบก่อน ทีมอำเภอจาก รพ.ชุมชน ก็ต้องโทรเรียน ผอ.ก่อน บอกว่าจะจัดเรื่องคุณภาพของจังหวัด ผอ.ราษีไศล จะบ่นว่าเอาแต่ลูกน้องมา อย่างสถิต เป็นระดับอาจารย์ระดับจังหวัด จะมีทุกงาน จะประกวดอะไรต้องมีสถิตเป็นกรรมการ เขาจะรู้เลยว่าเวลาเราตั้งก็จะสนิทเหมือนกัน ต้องคุ้นเคยก่อน เราก็โทรหาเจ้าตัว เขาก็จะตอบว่าขอ ผอ.ให้ก่อน พอเราคุยกับผู้บริหาร โอเค ก็ทำคำสั่งแต่งตั้งเขาออกไป พี่เขาก็ให้ความร่วมมือดี ส่วนใหญ่เป็นพี่ๆ ที่มีประสบการณ์เยอะ พอขึ้นมาเป็นทีมนำของจังหวัด พอเราให้ตำบลมา ด้วยความที่มีความเชื่อถืออยู่แล้ว พอเราปล่อยพวกพี่ๆ ดูแลกลุ่ม เราแบ่งให้ระดับอำเภอดู เขาก็โอเค ค่อนข้างดี…”

จิราพรรณ โพธิ์กำเนิด สสจ. ศรีสะเกษ

“… ที่ระนอง นอกจากมีใจที่เสียสละ มีใจรักแล้ว ยังมองถึงคนๆ นั้นที่จะมาเป็น QRT ได้ มีความมั่นใจแค่ไหน รู้จักแบ่งปันให้ไหม เพราะว่าถ้าเกิดไปดูงานของน้อง มีแต่ติ แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ใช่มีการแบ่งปันกัน ไปเพื่อการจับผิด และสิ่งสำคัญที่สุดต้องยอมรับได้ด้วยว่า มันจะ Feedback จากข้างล่างหรือข้างบนเราต้องรับได้… ”

ศจี ชูศรี สสอ.เมือง จ.ระนอง

“…ขอนแก่นจะดูที่เขาเป็นคนชอบประสานงานและบริหารจัดการ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ถ้าเขามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายเขา หรืออะไรด้วย ถ้าเขามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี กับเจ้านายเขา เช่น กับผอ.หรือสสอ. ถ้าเขาได้ทำอะไรจะได้รับการสนับสนุน ก็จะเลือกประมาณนี้ ขอนแก่นมีประมาณ 15-16 คน…”

บัวบุญ อุดมทรัพย์ สสจ.ขอนแก่น

หลังจากได้ทีมงานแล้ว มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามตำแหน่งของกระบวน ลปรร. คือ ผู้นำกระบวนการ ลปรร.หรือกระบวนกร (facilitator) ผู้บันทึก ผู้ดูแลประสานงาน ตามความถนัดและความสมัครใจ และด้วยแต่ละคนต่างมีประสบการณ์ ทัศนคติเกี่ยวกับกระบวนการ ลปรร. หลากหลายจากหลายสถาบัน จึงมีการจูนเป้าหมายและวิธีการ ลปรร. ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

“…สืบเนื่องมาจากปฐมภูมิ การอบรมผู้นำกระบวนการจากหลายแหล่ง เช่น CUP ละ 1 ล้านบาทของระนองจะคัด Core team จาก 2 อำเภอ ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไข อำเภอกะเปอร์ กับ กระบุรี อบรมโดย มสช. พอ มสส.มาก็มีจังหวัด อำเภอ คน รพ.สต. เอา CUP กระบวนการมารับรู้ไม่เหมือนกัน ของ มสช.จะอ่อนๆ ทาง มสส.จะเข้มข้น แบบได้กระบวนการที่ชัดเจน ตัวเองเป็น core team ของเขาทั้งสอง คืออยู่ตรงกลางจะรู้เลยว่าอันไหนดีไม่ดี ก็จับทีมชุดโน้นกับทีมชุดนี้มารวมกัน ก็จะมี core team 9 คน ที่ทำ ลปรร. เราก็เอาทั้งหมดมาสอนกระบวนการให้ไปเป็นเนื้อเดียวกัน ต้องมา concept นี้ และเอาเอกสาร ถ่ายทอดกระบวนการ พอเสร็จแล้วเขาก็จะรู้ว่า ต้องทำกระบวนการตามนี้…”

บุษกร อุ่ยเต็งเค่ง สสจ.ระนอง

นอกจากหาทีมงาน ยังเพิ่มศักยภาพทีมงานให้เข้าใจหลักหรือแนวคิดของกระบวนการ ลปรร. ได้ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งส่งไปอบรมเพิ่มเติมความรู้ หาความรู้จากเอกสาร จาก อินเทอร์เน็ต จากนั้นมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

“…ทีมจะมีการประสานกันไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ ทางอีเมล์ ในเรื่องของเนื้อหาต่างๆ บางทีจังหวัดไปประชุมมาเขาได้เนื้อหาใหม่ๆ มา เขาก็จะส่งมาให้อ่าน เพื่อที่จะได้เรียนรู้เพิ่มเติม และการนัดหมายก็จะนัดกัน และประชุมเพื่อที่จะวางแผน เรื่องของการพัฒนาคน ว่าจะทำอย่างไร จะทำระบบอย่างไร…”

จินตนา นาคงาม รพ. โพธาราม จ.ราชบุรี

“…ถ้าจะให้บอกว่าเกิดกระบวนการพัฒนาอย่างไร เกิดจากที่ว่าพอเป็น QRT แล้วทุกคนมีโอกาส ที่จะได้เข้าวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดหรืออำเภอหรือจะเป็นอำเภอและมาที่จังหวัด เมื่อไหร่ที่มีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไหน คนเหล่านี้จะถูกเชิญเข้ามา มาในฐานะเข้ามาช่วยเป็น fa. หรือ co-fa. มาในฐานะ observer หรือมานั่งในวง ถ้าเราทำหลายๆ ครั้งก็จะเกิดทักษะทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่เราได้รับจากวง เหมือนบุญ และเราก็เอาบุญไปถ่ายต่อ และมาบอกเล่าแบบนี้ มันก็เลยทำให้ QRT ได้พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง…”

บัวบุญ อุดมทรัพย์ สสจ.ขอนแก่น