การขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (2)

 1) ดำเนินงานเชิงรุก มุ่งเข้าหาประชาชนและชุมชนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุ 2) บริการอย่างต่อเนื่อง สามารถปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือการส่งต่อผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ไม่รับผู้ป่วยนอนค้างคืน มีระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อออกไปรับผู้ป่วยและให้การปฐมพยาบาลก่อนส่งต่อ 3) เชื่อมโยงและร่วมกับบริการสุขภาพระดับอื่นในการดูแลผู้ป่วย และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ตัวแปรความสำเร็จในการยกระดับข้างต้น คือ การพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน รพ.สต. ในการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหลายวิธีการ ในปี 2553 โครงการเสริมศักยภาพบุคลากรเพื่อการสนับสนุนงาน รพ.สต. โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ พัฒนาศักยภาพบุคลากรโดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) เกิดทีมงาน 2 กลุ่ม ที่จะไปพัฒนาศักยภาพบุคลากร รพ.สต. ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารและการจัดการวิธีการปฏิบัติงานที่สนับสนุนการดำเนินงาน รพ.สต.

กลุ่มที่ 1. คือ วิทยากรระดับจังหวัด (ครู ก.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีความสามารถเป็นผู้ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการลปรร.และชี้ประเด็นเรียนรู้ (KM coacher) ประกอบด้วยผู้รับผิดชอบงานบริการปฐมภูมิระดับจังหวัด ระดับ CUP และ รพ.สต.

กลุ่มที่ 2. คือ วิทยากรระดับ CUP (ครู ข.) ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับ CUP และ รพ.สต. ผู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการโดยวิทยากรระดับจังหวัด มีความสามารถเป็นนักบริหารจัดการความรู้ (knowledge management project manager) ผู้นำกระบวนการลปรร. (knowledge management facilitator) นักบันทึก (note taker) ผู้ถอดบทเรียนประสบการณ์ กลุ่มนี้เป็นผู้วางแผนและจัดกระบวนการ ลปรร.วิธีทำงานที่สนับสนุนประสิทธิภาพการดำเนินงานในระดับ รพ.สต.

ผลจากการดำเนินโครงการเสริมศักยภาพบุคลากรเพื่อการสนับสนุนงาน รพ.สต. ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า เป็นการเปิดพื้นที่และโอกาสให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่มีประสบการณ์ตรงในการทำงานเชิงรุก ด้วยรูปแบบและเนื้อหาแตกต่างกันจากหลายพื้นที่ ได้มาแลกเปลี่ยน “วิธีปฏิบัติงานให้สำเร็จ” แก่กันและกัน มีกระบวนการสะท้อน (reflection) และการเสริมพลัง(empowerment) สำทับด้วยกระบวนการจดบันทึก tacit knowledge เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแปลงเป็น explicit knowledge และนวัตกรรม innovation เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่ผ่านกระบวนการ ลปรร. ได้พัฒนาตนเองเป็นบุคลากรที่ใฝ่เรียนรู้และสามารถเรียนรู้วิธีทำงานหลากหลายได้ทุกวัน

กลุ่มจังหวัดที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการ ลปรร. ได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ ต่างผสมผสานการกระตุ้นทั้งในแนวดิ่งเชิงโครงสร้างสายงาน และการประสานเชื่อมโยงเชิงแนวราบด้วยวิธีการหลากหลายอย่างกลมกลืน มสส.และเครือข่ายจึงดำเนินโครงการเครือข่ายวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนงาน รพ.สต. ระหว่างปี 2554-2555 โดยถอดบทเรียน/ประสบการณ์พื้นที่ที่มีเรื่องราวความสำเร็จวิธีการขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อประโยชน์เป็นแนวทางปฏิบัติในการขับเคลื่อนต่อไป

วิธีจัดวงลปรร.เพื่อพัฒนา รพ.สต.

ภายหลังแกนนำระดับจังหวัดและ CUP บริหารและจัดการจนเกิดกระบวนการ ลปรร.ในจังหวัด ซึ่งหลากหลายตามสถานการณ์ลักษณะแต่ละพื้นที่และหน้างานของตน คือ

ก. เจ้าภาพจัดวงลปรร.

1. วง ลปรร. ระดับ รพ.สต. : มีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เป็นเจ้าภาพจัดวง ผู้เข้าร่วมกระบวนการ ลปรร.7 กลุ่ม ภายใต้เป้าหมายเดียวกันที่จะพัฒนางาน รพ.สต. ให้บริการสาธารณสุขครอบคุลมด้านส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ รวมถึงจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน คือ

กลุ่มที่ 1: ระหว่างเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และ อสม. นิยมใช้กระบวนการ ลปรร.แทนรูปแบบการประชุมเดิม ส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนความสำเร็จของการทำงาน ความภูมิใจจากงานที่ทำ

กลุ่มที่ 2: ระหว่างเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ใน CUP เดียวกัน เพื่อขยายความสำเร็จจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่อื่น เช่น ใน CUP มี รพ.สต. บางแห่งยังทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายหรือตามเกณฑ์ที่กำหนด บางแห่งทำประเด็นทำสำเร็จทำได้ดี จึงจัดวงลปรร.แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

กลุ่มที่ 3: ระหว่างกลุ่มวิชาชีพเดียวกัน เป็นการรวมกลุ่มวิชาชีพเดียวกันเพื่อพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดีขึ้น

โดยเลือกประเด็นที่สนใจร่วมกัน เช่น วิธีคัดกรองมะเร็งปากมดลูก วิธีควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ

กลุ่มที่ 4: ระหว่างอสม.ที่ทำงานในชุมชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนประสิทธิภาพการดำเนินงาน รพ.สต. ทั้งทางด้านป้องกัน ส่งเสริม แต่ละคนมีเทคนิควิธีการประสบผลสำเร็จต่างกัน เมื่อได้มาแลกเปลี่ยนวิธีการซึ่งกันและกัน จึงเป็นการขยายรูปแบบวิธีการทำงาน เห็นคุณค่างานที่ทำ เห็นคุณค่าตัวเอง เป็นแรงผลักดันให้ อสม.ทำงานเพื่อชุมชนต่อไป

กลุ่มที่ 5: ผู้ป่วยและญาติ กระบวนการ ลปรร. ระหว่างผู้ป่วยและญาติพบบ่อยในการจัดวง ลปรร.ระดับ รพ.สต. เพราะทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงในการให้ความรู้ดูแลตัวเองจากโรคต่างๆ เช่น โรคเรื้อรัง เบาหวานและความดัน ซึ่งรักษาไม่หายแต่สามารถดูแลตนเองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. จึงจัดวง ลปรร.ระหว่างผู้ป่วยและญาติ ผู้ป่วยเล่าวิธีการดูแลตนเอง ครอบครัวเล่าวิธีการดูแลสมาชิกในครอบครัว พบว่าได้ผลมากกว่าการสอนตามปกติของเจ้าหน้าที่ เพราะผู้ป่วยเข้าใจผู้ป่วยด้วยกันเอง

กลุ่มที่ 6: ระหว่างชุมชน การดูแลสุขภาวะประชาชนมีความหมายกว้างกว่าการดูแลด้านร่างกายและจิตใจ ผู้เข้าร่วมกระบวนการ ลปรร.จึงไม่จำกัดเฉพาะผู้คนในแวดวงสาธารณสุข แต่มีชุมชน ชาวบ้าน อย่างเช่นเรื่องอาหารปลอดภัย มีร้านค้าที่มีวิธีการจัดการร้านใส่ใจผู้บริโภค เป็นผู้เข้าร่วมวง ลปรร.

กลุ่มที่ 7: ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รพ.สต. บางแห่งใช้กระบวนการ ลปรร.เพื่อทำความเข้าใจหาแนวทางในการทำงานร่วมกันกับ อปท. โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆที่ผ่านมาซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ ไม่ใช่การสั่งการจาก รพ.สต.