การขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (1)

ช่วยให้มองเห็นภาพว่าวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ ลปรร.มีประโยชน์อย่างไร

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิมีภารกิจหลักคือส่งเสริมสุขภาพ มีขอบเขตการดำเนินการคือบริการสาธารณสุขผสมผสานทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู รวมทั้งจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยมีจุดเน้นคือ 1. ดำเนินงานเชิงรุกโดยเข้าหาประชาชนและชุมชนเพื่อสร้างสุขภาวะ 2. บริการต่อเนื่อง มีระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การปฐมพยาบาลและระบบส่งต่อ 3. เชื่อมโยงและมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เพื่อให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.สามารถทำงานทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งตนเองได้เห็นคุณค่าของงานที่ทำ มีความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ที่จะปฏิบัติภารกิจให้ดีที่สุด สำนักงานโครงการสนับสนุนนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายใต้โครงการแผนงานการสนับสนุนกลไกการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ:โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับแผนงานพัฒนาจิต มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาคน พัฒนางานจัดทำ “โครงการเสริมศักยภาพบุคลากรเพื่อสนับสนุนงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ระหว่าง 16 สิงหาคม 2553 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2554 และ “โครงการเครือข่ายวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ระหว่าง 15 มิถุนายน 2554 – 14 สิงหาคม 2555 ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จนกระทั่งประสบความสำเร็จลุล่วง

เพื่อเป็นการสรุปบทเรียนและให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ทั่วประเทศที่สนใจได้ศึกษาวิธีการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างถูกวิธีและมีคุณภาพ โครงการฯ จึงได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์ สามารถจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งใน รพ.สต.ของตนเอง ระหว่าง รพ.สต. ระดับ CUP หรือระดับสาธารณสุขจังหวัด ทั้งระหว่างเจ้าหน้าที่ในระบบสาธารณสุขด้วยกันเองหรือระหว่างภาคีภาคส่วนต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของประชาชน

ขอขอบคุณมูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คุณสมหญิง สายธนู และคณะทุกท่านที่ช่วยขับเคลื่อนผลักดันโครงการฯ จนบรรลุวัตถุประสงค์ เกิดผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ

 

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์

ผู้จัดการโครงการสนับสนุนกลไกการบริหารจัดการ

เพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

31 พฤษภาคม 2555

 

 

คำนำ

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยงานสาธารณสุขที่ตั้งอยู่แนวหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินออกจากโรงพยาบาลก็จะพบประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่โดยรอบในสภาพที่เป็นจริง ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนต้องการไปโรงพยาบาลก็สามารถเดินทางไปถึงโดยง่าย ข้อได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ทำให้ รพ.สต.สามารถทำสิ่งที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ไม่สามารถทำได้

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ได้พบ “ประชาชน” ตามที่เป็นอยู่จริง ส่วนใหญ่จะได้พบ “ผู้ป่วย” ที่ต้องออกจากบ้านและสภาพแวดล้อมของตนเองมานั่งรอนอนรอที่ห้องตรวจ จึงเป็นการยากที่จะเห็นภาพและเข้าใจชีวิตของผู้ป่วย ตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่ได้พบประชาชนทุกวัน ป่วยบ้างไม่ป่วยบ้าง หากจะได้พบผู้ป่วยก็มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ป่วยถึงเตียงนอนในบ้านของเขา ทำให้สามารถเห็นภาพและเข้าใจบริบททั้งหมดของผู้ป่วยโดยง่าย

เป็นเรื่องดีที่ รพ.สต. มีภารกิจหลักคือส่งเสริมสุขภาพตามชื่อ มิใช่เรื่องการรักษา จะส่งเสริมสุขภาพได้ย่อมต้องเข้าใจความเป็นอยู่หรือการใช้ชีวิตของประชาชนมากกว่าที่จะรู้จักหรือสามารถรักษาโรคได้ การที่จะเข้าใจความเป็นอยู่หรือการใช้ชีวิตของประชาชนได้ต้องอาศัยการทำงานเชิงรุกและรุกแบบองค์รวมคือ holistic care ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ

ยกตัวอย่างเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แพทย์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจจะต้องรู้เรื่องทางเทคนิค เช่น รู้วิธีบำบัดความเจ็บปวด รู้วิธีตั้งเครื่องช่วยหายใจ รู้วิธีการบริหารยาเคมีบำบัด เป็นต้น แต่มักจะไม่รู้เรื่อง holistic care ในขณะที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. สามารถดูแลใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วยได้มากกว่าเพราะอยู่ใกล้ชิดบริบทของผู้ป่วยมากกว่า รู้ว่าผู้ป่วยกำลังกลัวอะไร ครอบครัวของผู้ป่วยคิดเห็นอย่างไร ผู้ป่วยคิดเรื่องความตายและชาติหน้าอย่างไร เป็นต้น

ปัญหาเฉพาะหน้าคือ รพ.สต.แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำเพียง 2- 4 คน ในขณะที่มีงานรอให้ปฏิบัติหลายร้อยชิ้น ทั้งงานรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม ป้องกัน เป็นการยากที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. จะทำงานทั้งหมดได้ด้วยวิธีทำงานแบบปกติ การแก้ไขปัญหางานล้นเกินสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีที่หนึ่งคือเพิ่มคน วิธีที่สองคือเพิ่มคุณภาพ

การเพิ่มคนและเพิ่มคุณภาพ เป็นของสองอย่างที่สามารถทำได้พร้อมกันอย่างได้ผล ด้วยวิธีการประชุมที่เรียกว่า “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” การประชุมที่เรียกว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมายถึงการประชุมที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในการทำงาน ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับวิธีทำงานของตนเองสู่กันฟัง นั่นคือนำ tacit knowledge มาแลกกัน ตามด้วยการจัดการที่ดี ให้มีการจดบันทึก การถอดบทเรียน และการสังเคราะห์วิชาการ กระบวนการทั้งหมดนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคิดค้นวิธีทำงานแบบใหม่ต่อปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ นี่คือเพิ่มคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ได้ภาคีร่วมทางเพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ นี่คือเพิ่มคน

เจ้าหน้าที่ รพสต.ไม่เพียงสามารถใช้เทคนิคนี้กับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ด้วยกันเอง แต่ยังสามารถใช้กับเจ้าหน้าที่ต่าง รพสต. เจ้าหน้าที่ระดับCUP เจ้าหน้าที่ระดับสาธารณสุขจังหวัด รวมถึงภาคีภาคส่วนต่างๆในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครอง ครู ตำรวจ ชมรมต่างๆ หมอพื้นบ้าน ผู้จัดรายการวิทยุ ผู้ประกอบการ หรือ อสม. เป็นต้น การชักชวนผู้คนจากภาคส่วนต่างๆมาร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ วิธีเพิ่มคนทำงานให้แก่ระบบสุขภาพโดยไม่ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าวิธีจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยเริ่มตั้งแต่แนวคิด หลักการ วิธีการ และการสรุปผลงาน โดยที่เนื้อหามิได้เป็นเพียงทฤษฎีแต่เป็นประมวลเรื่องเล่าจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่ได้ผ่านวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาด้วยตนเอง เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น และพบว่ามีคุณค่ามากกว่าการประชุมในรูปแบบทั่วไป

คณะทำงานของแผนงานพัฒนาจิต คือ คุณสมหญิง สายธนู คุณเจิมขวัญ ศรีสวัสดิ์ และคุณนริศรา นิธิกาญจนกุล ร่วมกับคณะวิทยากรกลาง คุณฉัตรลดา กาญจนสุทธิแสง กรมอนามัย คุณสมพร อินทร์แก้ว กรมสุขภาพจิต คุณภัคนพิน กิตติรักษนนท์ กรมสุขภาพจิต ดร.จิรัชฌา วิเชียรปัญญา มหาวิทยาลัยรังสิต คุณเกศราภรณ์ กันพ้นภัย รพ.บ้านตาก คุณสิริพินท์ ศิริโสภาพงษ์ คุณไปยดา วิรัศมี คุณปิยนุช พันธ์ศิริ ศูนย์อนามัยที่ 7 คุณตติยา สารธิมา ศูนย์อนามัยพื้นที่สูง จ.ลำปาง ดร.สุดารัตน์ ธีระวร ศูนย์อนามัยที่ 12 จ.ยะลา คุณสาโรช สิมะไพศาล และดร.ชัยณรงค์ แก้วจำนง ศูนย์อนามัยที่ 11 จ. นครศรีธรรมราช ได้ช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนโครงการจนบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ขอขอบพระคุณคณะทำงานไว้ ณ ที่นี้

และเหนือสิ่งอื่นใด แผนงานพัฒนาจิต มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด CUP และรพ.สต.ทุกท่านที่ได้มาร่วมกันเรียนรู้วิธีการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยกันเติมเต็มหนังสือเล่มนี้จนกระทั่งเสร็จลุล่วงสมบูรณ์สามารถใช้อ้างอิงและเป็นคู่มือปฏิบัติสำหรับผู้สนใจต่อไป

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

 

 

คำนำ

สถานีอนามัย หรือที่มีชื่อเรียกสมัยใหม่ว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นจุดยุทธศาสตร์ของอนาคตระบบสุขภาพไทย เป็นแหล่งสร้างสรรค์นวัตกรรมการทำงานสุขภาพระดับชุมชนมากกว่าหน่วยบริการใดๆ ในระบบสุขภาพไทย

นี่ไม่ใช่ความเห็น หากเป็นความจริง ที่มีตัวอย่างทั้งจากประสบการณ์ในต่างประเทศ หรือเรื่องจริงในส่วนต่างๆ ของประเทศไทยเอง

ระบบสุขภาพไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน อันเป็นผลจากความเอาจริงเอาจัง หาแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมของเจ้าหน้าที่ในระดับตำบล ที่กระจายตัวอยู่ในทุกส่วนทั่วประเทศ

แม้ล่าสุดประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับและจับตามอง เพราะนโยบายหลักประกันสุขภาพ ที่ใช้ภาษีอากรมาทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดแตกหักของอนาคตระบบประกันสุขภาพ อยู่ที่การวางรากฐานให้มั่นคงในระดับปฐมภูมิ ซึ่งมี รพ.สต. เป็นกำลังสำคัญ

แต่ต้องเป็นระบบปฐมภูมิที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของประชาชน มีการสนับสนุนจากระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ และที่สำคัญมีพัฒนาการของการทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

และต้องยอมรับว่า แม้สถานีอนามัยจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ และยังคงมีนวัตกรรมในการทำงานอย่างไม่ต่อเนื่อง แต่ก็ยังจำเป็นต้องทำให้เกิดพัฒนาการดีๆ ให้ทั่วถึง ไม่ใช่ด้วยการฝึกอบรม หรือทำคู่มือให้ปฏิบัติเหมือนๆ กัน

แต่เป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้จากการทำงานจริง และนำปัญญาปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ไปประยุกต์ หรือปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละที่

เป็นการเรียนรู้จากฐานการทำงานที่แท้จริง

แนวทาง อย่างหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้จากการทำงานจริง คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่ผู้ปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัญญาปฏิบัติ แตกต่างจากการประชุมระดมสมองหรือการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น เพราะจุดเน้นอยู่ที่การเรียนรู้วิธีการทำงานในทางปฏิบัติ ไม่ใช่การวิเคราะห์ เพื่อหาหลักการ หรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ถ้าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ ก็ว่า เน้นที่ know how ไม่ใช่ know why

แต่คำว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูนำไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อจนหมดคุณค่า เพราะเมื่อไรที่มีการประชุมเพื่อเล่าเรื่องการทำงาน ก็เรียกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งที่อาจมีเพียงการแลกเปลี่ยนด้วยการผลัดกันเล่าเรื่อง แต่ไม่เกิดการเรียนรู้อย่างจริงจัง เพราะไม่มีคนฟังอย่างตั้งใจหรือไม่ก็พากันวิเคราะห์หาหลักการทั่วไป หรือแสดงความเห็นวิจารณ์มากกว่าการฟังอย่างตั้งใจ แล้วนำสิ่งที่ได้รับรู้ไปปรับใช้ทดลองทำ และสรุปบทเรียนหลังจากไปลองใช้ เพื่อเป็นปัญญาปฏิบัติของตัวเอง เกิดสิ่งที่เรียกว่าการหมุนเกลียวความรู้อย่างที่มีผู้สรุปวงจรแห่งการเรียนรู้ที่ดีไว้ว่า ต้องประกอบด้วยการศึกษาจากตำรา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการทำจริง การนำความรู้ไปปฏิบัติจึงจะเกิดการผนวกเข้าเป็นความรู้ใหม่ในตัวของแต่ละคน

นี่คือเหตุผลที่มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ ที่มีเป้าหมายสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และเชื่อว่าหากคนทำงานที่มีความตั้งใจพัฒนางานที่ทำอยู่ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ จะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองกับงานที่ทำ และกับประชาชนที่จะเป็นผู้รับประโยชน์จากงานนั้น

เจ้าหน้าที่ รพ.สต. เป็นทรัพยากรที่มีค่าของระบบสุขภาพไทย หากได้เรียนรู้และมีโอกาสเข้าร่วมหรือสามารถจัดให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของการสร้างสุขภาพ หรือภาคีภาคประชาชน ชุมชนที่มาร่วมกันทำงานเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้เกิดขึ้น

คนทำงานในระบบสุขภาพถือว่าโชคดี เพราะได้ทำสิ่งที่มีค่าคือการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้อื่น แม้ไม่ได้เป็นญาติพี่น้อง การมีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น นอกจากจะเพิ่มความรู้ ยังเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง ทำให้เห็นคุณค่าของงานที่ทำได้ชัดเจน กลับมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดกำลังใจและพลังในการสร้างสรรค์งานต่อ

เมื่อสิ่งที่เรากำลังพยายามทำร่วมกัน คือการสร้างปัญญาปฏิบัติ จึงไม่มีอะไรดีกว่าการลงมือทำ

ไม่ใช่เพียงลงมือทำให้เกิดบริการ หรือการทำงานสร้างสุขภาพอย่างจริงจัง

แต่รวมไปถึงการลงมือทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพกับเพื่อนร่วมวงการ กับภาคีสร้างสุขภาพ

สิ่งที่จะตามมาคือ สุขภาพที่ดีของประชาชนพร้อมกับสุขภาวะของคนทำงานที่ได้เรียนรู้ และเห็นคุณค่าของงานและของตนเอง

ไม่ต้องเชื่อ แต่ต้องลองทำดู

ขอให้ทุกท่านทำงานที่มีคุณค่า อย่างเห็นคุณค่า ด้วยสามารถทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และต่อเนื่อง

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ