การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (33)

ปรากฏการณ์ทั้ง 2 ประเด็นจึงอาจเป็นสาเหตุของการส่งเสริมให้การพัฒนา แก่นของจิตวิญญาณ และเกิดพฤติกรรมที่เป็นผลของจิตวิญญาณ

ประสบการณ์การที่ทำให้บุคคลตั้งคำถามแก่การเป็น การอยู่ของตนเอง ทำให้เข้าใจความหมายของชีวิต เป็นประสบการณ์ที่ทำให้บุคคลตระหนักรู้และตอบคำถามได้ว่า เราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร การตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ในวัยเด็กมักมีคำถามว่า เขาเกิดมาจากไหน สวรรค์อยู่ที่ไหน นรกมีจริงไหม เมื่อเป็นผู้ใหญ่การพบกับปัญหาในชีวิต หรือการพบกับความตาย จะทำให้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นประสบการณ์ทั้งสองจึงเป็นเหตุให้บุคคลพัฒนาความเข้าใจในความหมายของการมีชีวิตมากขึ้น (Hart, 2006)

นอกจากนี้ การมีประสบการณ์ทางลบ ได้แก่การพบกับความตายของคนใกล้ชิด ความล้มเหลว เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้บุคคลมีความรู้สึกเศร้า ที่ทำให้เกิดความสับสน อยู่กับตัวเอง ทำให้เกิดความเข้าใจในตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้ตาย หรือระหว่างการมีชีวิตกับความตาย (Gayle,2001) จัดเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณได้เช่นเดียวกัน เหตุการณ์ของความสุข ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยเรื่องนี้ แสดงถึงการประสบกับความตายของคนไข้ ความทุกข์ของญาติที่เป็นพ่อ แม่ ลูกของผู้ตายเหตุการณ์เหล่านี้นับเป็นประสบการณ์ทางสังคมที่ทำให้บุคคลเกิดการพัฒนาจิตวิญญาณของตน

การสนับสนุนและบรรยากาศ กับ แก่นของจิตวิญญาณและผลของจิตวิญญาณ

ในงานวิจัยนี้ การสนับสนุนจากที่ทำงาน การสนับสนุนของครอบครัว และ บรรยากาศในการทำงาน เป็นลักษณะที่แสดงถึง การได้รับกำลังใจ การให้ความเห็นชอบ การช่วยเหลือ ในขณะที่บุคคลแสดงพฤติกรรมด้าน การช่วยเหลือโดยเมตตา-กรุณา การทำภารกิจอย่างมีหลัง และ การปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรี ในโมเดลเชิงสาเหตุตัวแปรทั้งหมดนี้ที่หน้าที่เหมือนการส่งเสริมให้บุคคลที่มีจิตวิญญาณแล้ว แสดงออกทางพฤติกรรมได้มากขึ้น ทั้งนี้เมื่อดูประเด็นของการสนับสนุนจากหัวหน้าแล้วพบว่า หัวหน้าจะปล่อยให้บุคคลเป็นอิสระและให้คิดและตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่าการตั้งเป็นระเบียบ บังคับให้ทำตาม ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของทฤษฎีของการกำหนดการกระทำด้วยตนเอง (Deci and Gagne, 2004) กลุ่มตัวอย่างจากงานวิจัยนี้ เป็นผู้ที่มี เป้าหมายในชีวิต เข้าใจในความหมายของการมีชีวิต และมีความพยายามที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น การที่หน่วยงานต้องการสนับสนุนให้เขาได้ทำงานอย่างเต็มที่ และ สมบูรณ์นั้น ก็โดยการสนับสนุนให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ให้เขาได้มีการยืดหยุ่นในการทำงาน ให้เขาได้มีกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทำให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่ดี จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้มีจิตวิญญาณได้เกิดความพึงพอใจและเกิดความสุขในการทำงาน

2.2 แก่นของจิตวิญญาณ กับผลของจิตวิญญาณ และคุณภาพชีวิต

คุณภาพชีวิตและความภาคภูมิใจในตนเอง ในงานวิจัยนี้หมายถึง ความสุขใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่นทำให้ผู้อื่นมีความสุข ความสุขที่ได้ทำดีตามความเชื่อของตน ความภาคภูมิใจที่เกิดจากการทำงาน มีสาเหตุคือ การทำพฤติกรรม ช่วยเหลือโดยเมตตา การทำภารกิจอย่างมีพลัง การปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีผู้อื่น หลักฐานของการเชื่อมโยงนี้มาจากข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อทำพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดผลที่บ่งชี้ว่าบุคคลนั้นมีคุณภาพชีวิต

3. การวัดจิตวิญญาณ และเครื่องมือ

การวิจัยนี้สร้างเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูล และเครื่องมือวัดแก่นของจิตวิญญาณ และผลของจิตวิญญาณ ที่จะใช้ประกอบกับเพื่อประเมินระดับของจิตวิญญาณ โดยเครื่องมือเหล่านี้ได้มีการตรวจสอบคุณภาพในระดับ ความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาอย่างละเอียดแล้ว เครื่องมือมี 3 ประเภท ประกอบด้วย

3.1 เครื่องมือวัดแบบมาตรประเมินค่าเป็นแบบ Likert scale มี 5 ระดับ ของตัวแปร 8 ชุด

ประกอบด้วย 1) แบบวัดความหมายและเป้าหมายของชีวิต 2)แบบวัดการมีอุดมการณ์ 3) แบบวัดศรัทธาในความจริงที่เหนือธรรมชาติ 4) แบบวัดความเชื่อในพลังจิต 5) แบบวัดการเข้าถึงเข้าใจตัวเอง 6) แบบวัดการเข้าถึงเข้าใจผู้อื่น 7) แบบวัดจิตรับรู้ความทุกข์ 8) แบบวัดเข้าถึงคุณค่าของจิต(มิใช่วัตถุ)

3.2 การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพและการประเมินระดับของแก่น และผลของจิตวิญญาณ โดยการใช้ เครื่องมือ ประวัติชีวิต และการบันทึกเหตุการณ์สำคัญ พร้อมตัวอย่างการประเมินและการให้คะแนน

3.3 เครื่องมือวัดพฤติกรรม ประกอบไปด้วยแบบวัดพฤติกรรม 3 ด้าน ด้านละ 1 ฉบับ โดยในแต่ละฉบับจะมีการวัดเป็น 2 กรณี คือ กรณีใช้การสังเกตและบันทึกพฤติกรรม และกรณีที่ใช้เป็นแบบวัดพฤติกรรม ซึ่งแบบวัดพฤติกรรมประกอบได้ด้วย 1 )พฤติกรรมช่วยเหลือ 2) พฤติกรรมมุ่งมั่นในการทำงาน 3) พฤติกรรมการปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรี

การใช้เครื่องมือวัดที่ได้จากงานวิจัยนี้ ยังคงเป็นการใช้ที่มีข้อจำกัด เนื่องจากการตรวจสอบคุณภาพของข้อคำถาม และของเครื่องมือทุกชุด และความเกี่ยวข้องของเครื่องมือทั้งหมดยังมิได้รับการตรวจสอบ รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์ที่จะสามารถตีความของคะแนนได้อย่างแม่นยำ แต่เนื่องจากมีการตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหาและโครงสร้างของเนื้อหาแล้ว จึงอาจมีการใช้ประโยชน์ได้บ้างโดยการประเมินภาพรวมของบุคคลเพื่อทำความเข้าใจจิตวิญญาณในแต่ละด้าน โดยควรใช้เครื่องมือ 2 ชุดในด้านเดียวกันเพื่อให้เกิดการตรวจสอบซึ่งกันและกัน และอาจนำข้อมูลนั้นมาใช้ในการวางแผนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณได้

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย

1. การวิจัยควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดความหมายของจิตวิญาณของบุคลากรสาธารณสุขในกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นเพื่อยืนยันหรือปฏิเสธความหมายและโครงสร้างของตัวแปร ทุกตัว

2. การวิจัยควรตรวจสอบสาเหตุและผลของจิตวิญญาณโดยอาจทำเป็นการวิจัยกรณีศึกษา หรือทำการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อการวิเคราะห์สาเหตุและผล เพื่อยืนยันโมเดลที่ได้จากการวิจัยนี้

3. การวิจัยต่อไปควรเพิ่มความเข้าใจว่าประสบการณ์ประเภทใดควรจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ทำให้เกิดการพัฒนาจิตวิญญาณในองค์การ

4. ควรมีการพัฒนาเครื่องมือประเมินจิตวิญญาณของการทำงานในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพทั้งนี้ควรใช้เครื่องมือในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับหน่วยงาน รวมทั้งมีการสร้างเกณฑ์การตีความที่ชัดเจนด้วย

ข้อเสนอแนะเพื่อการนำผลการวิจัยไปใช้

1. ในเชิงนโยบาย อาจใช้ผลจากการวิจัยนี้ไปใช้เพื่อการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการให้การพยาบาลอย่างเป็นองค์รวม โดยการกำหนดเป็นดัชนีชี้วัดการปฏิบัติงานอย่างมีจิตวิญญาณ

2. การวิจัยนี้พบความหมายของจิตวิญญาณเป็นความหมายที่ได้จากการตีความความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงานด้านการรักษาการดูแลผู้ป่วยอย่างดี ดังนั้นการจัดทำเป็นเอกสารตัวอย่างของพฤติกรรมที่แสดงถึงการมีจิตวิญญาณ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานเริ่มเข้ามาปฏิบัติงานได้เรียน แนวทางการทำงานที่ดี และอาจนำไปใช้ในการทำงานจริง

3. หน่วยงานสามารถนำแบบวัด ไปใช้เพื่อการศึกษาจิตวิญญาณ และการออกแบบกิจกรรมเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณของคนในหน่วยงานต่อไป