การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (32)

Pincharoen, and Congdon(2003) ที่พบว่า จิตวิญญาณของผู้สูงอายุชาวไทยที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบประเด็นหลักของจิตวิญญาณดังนี้

ประเด็นหลัก(theme)

การมีแหล่งที่เข้าถึงจิตวิญญาณ

ความหมาย

การที่สามารถ บุคคล สถานที่ กิจกรรม ที่จะช่วยให้ได้ปฏิบัติด้านจิตวิญญาณ ได้แก่การไปวัดเพื่อได้พบความสงบ การได้รักษาความเชื่อ การได้ปฏิบัติกิจทางศาสนา การได้ทำบุญ

ประเด็นหลัก(theme)

ค้นหาความกลมกลืนระหว่างสุขภาพกายและจิต

ความหมาย

การปฏิบัติเพื่อรักษาอารมณ์ ความรู้สึกให้สงบ ละทิ้งความรู้สึก โกรธ ปัญหา ความขัดแย้ง กังวล เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพการที่ดี

ประเด็นหลัก(theme)

ดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า

ความหมาย

คิดถึงคุณค่าของชีวิต ความสำเร็จของชีวิต ความภาคภูมิใจในชีวิต

ประเด็นหลัก(theme)

คาดหวังความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัวและเพื่อน

ความหมาย

ความคาดหวังที่ต้องการให้ตนเองมีความสัมพันธ์ที่สงบสุข ได้รับการนับถือ จากลูกหลาน และสามารถความรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนฝูง

ประเด็นหลัก(theme)

มีประสบการณ์เกี่ยวกับความหมายและความเชื่อต่อของความตาย

ความหมาย

คิดถึงความตายของตนเอง โดยมองความตายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องประสบ และเชื่อในการไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดี

งานวิจัยข้างต้นพบประเด็นของจิตวิญญาณที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความทับซ้อนในความหมายบางประเด็น กล่าวคือ “มีประสบการณ์เกี่ยวกับความหมายและความเชื่อต่อของความตาย” มีการตีความบางส่วนที่คล้ายคลึงกับ “การตระหนักรู้เกี่ยวกับความตาย” ความแตกต่างของความเหมือนนี้อาจอยู่ที่มุมมอง คือ ในงานวิจัยของ Pincharoen, and Congdon เป็นมุมมองของผู้สูงอายุ แต่ ในงานวิจัยเรื่องนี้เป็นมุมมองที่มองจากการเป็นผู้ปฏิบัติงาน แต่เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความตาย ประเด็นที่แตกต่างกันคือ ประเด็นด้าน “การมีแหล่งที่เข้าถึงจิตวิญญาณ” “ค้นหาความกลมกลืนระหว่างสุขภาพกายและจิต” “ดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า” “ความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัวและเพื่อน”

งานวิจัยที่แตกต่างกันที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นการตั้งชื่อของสังกัปของจิตวิญญาณที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะมีความหมายที่เป็นรายละเอียดของสังกัปแต่ละตัวที่แตกต่างกัน และการแสดงออกของจิตวิญญาณในบริบทที่แตกต่าง เช่น บริบทของการทำงาน บริบทของการดำเนินชีวิต หรือวุฒิภาวะที่ต่างกัน เช่น เพศ วัย ระดับการศึกษา หรือ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามจะพบว่าในหลายๆความหมายเหล่านี้สิ่งที่เป็นภาพเหมือนร่วมกัน คือ การกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับความศรัทธาสูงสุดและสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ความตาย ความเชื่อมโยงกับคนอื่น และความเข้าถึงตนเอง เป็นต้น

2 สาเหตุและผลของจิตวิญญาณ

การทบทวนงานวิจัยพบว่า จิตวิญญาณ มีผลทางบวกต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการหลีกเลี่ยง

การใช้สารเสพติด การปรับตัว ภาวะผู้นำในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับสุขภาพ ความพึงพอใจในงาน และความยึดมั่นกับงาน งานวิจัยนี้ แยกสังกัปที่เกี่ยวข้องกับแก่นของจิตวิญญาณเป็น สาเหตุ และผลของจิตวิญญาณ โดยที่ในส่วนของสาเหตุ ใช้ชื่อว่า “สร้างเสริมแรงบันดาลใจ” หมายถึง ปัจจัยที่ทำให้บุคคลเพิ่มความต้องการที่จะเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ และปัจจัยที่กระตุ้นหรือสนับสนุนการแสดงออกทางจิตวิญญาณ สำหรับผลของจิตวิญญาณแบ่งเป็น ผลด้านพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลทางตรงจากอิทธิพลของจิตวิญญาณ และคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นผลทางอ้อมของการมีแก่นของจิตวิญญาณ

การสร้างโมเดลเชิงสาเหตุของจิตวิญญาณตามภาพข้างต้นนี้ การอธิบายได้ดังนี้

2.1 ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณกับแก่นของจิตวิญญาณ ผลของจิตวิญญาณ

ต้นแบบ ภาพลักษณ์ของจิตวิญญาณกับแก่นและผลของจิตวิญญาณ

จากแนวคิดของการเรียนรู้สังคมของบุคคล ในส่วนของทฤษฎี Social cognitive theory นั้นกล่าวว่าบุคคลเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น แต่เขาเลือกที่จะเรียนรู้บางสิ่งเท่านั้น โดยเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) บุคคลผู้นั้นต้องมีคุณลักษณะที่เพียงพอ หรือ มีลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้แก่มีความสนใจ มีทักษะ 2)บุคคลมีพฤติกรรมเลือกที่จะเรียนรู้และ 3) มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เมื่อมี องค์ประกอบดังกล่าวแล้วต้องเกิดขั้นตอนต่อไปนี้คือ 1)บุคคลเห็นเหตุการณ์ 2)มีความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น 3)มีการเก็บจำเหตุการณ์ 4)มีการซึมซับข้อมูลเพราะสนับสนุนความเชื่อของตน หรือทำให้เกิดความเชื่อที่ชัดเจน เมื่อนำมาอธิบายการสร้างเสริมแรงบันดาลใจสู่จิตวิญญาณ อธิบายได้ว่า การที่ตัวอย่างมีประสบการณ์ได้เห็นคนในครอบครัวได้แสดงพฤติกรรรมที่แสดงออกถึงการมีจิตวิญญาณ เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น การขยันอดทนมุ่งมั่นสู่เป้าหมายของชีวิต อย่างใกล้ชิดและเกิดขึ้นซ้ำๆ ย่อมทำให้เกิดการสังเกต และเก็บจำ และซึมซับความเชื่อนั้นเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่พัฒนาจิตวิญญาณ หรือทำพฤตกรรมตามตัวแบบของตน (Rhodes, 2006) นอกจากนี้พบว่าการให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมทางจิตวิญญาณ ได้แก่การพาไปร่วมกิจกรรม การกำหนดบทบาทของการเข้าร่วมกิจกรรมจะทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจ เพิ่มความนิยมต่อการมีจิตวิญญาณ และพัฒนาจิตวิญญาณจากการที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม(Spitzer & Lee B, 2005)