การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (25)

ความคิดอ่านก็จะเปลี่ยนไป ก็คิดเชิงบวกมากขึ้น คิดให้อภัยกันเป็น คิดให้โอกาสกันเป็นมากขึ้น ใจอยู่ตรงความคิดอ่านซึ่งมันจะเป็นผลต่อการกระทำ การกระทำเราก็จะเปลี่ยนไป”(อีสาน 3)

“บางครั้งมันก็ยังมีปัญหาที่แบบโอ้โห มันมาจากข้างนอกภาย มันก็จะปรี๊ดขึ้นแล้วก็จะมี ซุ่มมีเสียงกันแต่สักพักหนึ่งเราก็หัวเราะได้ น้องเขายังว่าเลยพี่จะบ้าเหรอเมื่อเช้ายังมีอารมณ์พี่ขึ้นๆ อยู่เลยแล้วทำไมตอนนี้พี่หัวเราะได้ หัวเราะได้เพราะอะไรเราก็บอกว่าเหตุการณ์เมื่อเช้ามันก็คือเมื่อเช้านะแต่เหตุการณ์ตอนนี้พี่หัวเราะอยู่งั้นพี่ก็หัวเราะ เพราะเหตุการณ์เมื่อเช้ามันกระทบความรู้สึกของพี่แค่เมื่อเช้าเท่านั้นเองแต่ตอนนี้ความรู้สึกของพี่คือพี่อยากจะหัวเราะแล้ว พี่อยากจะใส่เอาความรู้สึกดีเพราะเราต้องการไฟในการทำงานให้เราทำงานอย่างไม่มีอุปสรรค”(กลาง2)

“…อารมณ์เสียเนอะ พอขึ้นตึก พอเห็นหน้าคนไข้แล้ว …ยิ้มอ่ะ ….ก็รู้สึกว่าทำไมชั้นมันเก่ง ทำไมชั้นมันปรับอารมณ์ได้เก่ง ชั้นแยกแยะอารมณ์ได้เก่ง ทำไมชั้นมันเก่งอย่างนี้นะ ขนาดอารมณ์เสีย ไม่เคยเอาเรื่องทางบ้านมาใส่คนไข้เลย”(อีสาน 2)

“พี่..เป็นคนน้อยใจง่าย เป็นคนที่เวลาเจออะไรกระทบเนี่ยจะเสียใจน้อยใจ แล้วก็ด้วยความที่เป็นคนดีอยู่แล้วน่ะ ก็เลยมักจะถูกคนอื่นรังแกง่าย เพราะว่าไม่ค่อยสู้คน คือสไตล์แกคือแกเงียบ แล้วแกก็จะยิ้ม แล้วก็ถ้าเสียใจก็จะซึมๆ ไปนิดหน่อย ก็จะไม่มี reaction ไปทำให้คนที่พูดเนี่ยเสียใจ ไม่สู้คน เค้าจะว่ายังไงแกก็จะรับหมด แล้วก็มาเก็บน้อยใจ แล้วก็มาเสียใจ แต่ว่านี่คือกลไก พอคิดเชิงบวกปุ๊บ พี่.. แกก็จะสบายใจขึ้นทันที แล้วก็จะทำให้มีชีวิตชีวาในการทำงานเพิ่มขึ้น อันนี้ก็คงเป็นกลไก”(อีสาน 2)

“รู้ว่าตัวเองเป็นคนอารมณ์ร้อน เมื่อก่อนเนี่ยจะร้อนมาก แล้วเวลาเราพูดไป คำพูดเราเนี่ยมันทำให้คนหลายคนเจ็บใจกันเยอะมาก เพราะว่าโดน feed back กลับมาบ่อยในเรื่องของคำพูด ก็เลยเป็นการปรับปรุงตัวว่า ฉันไม่พูดก็ได้ ฉันใช้ความรู้สึกอารมณ์ใส่ลงไปทางหน้าตา และท่าทาง สีหน้า ทุกคนจะรู้เองแต่ว่าพอเจอ case คุณป้าแล้วรู้เลยว่า ไอ้เนี่ยเราทำกับคนไข้ไม่ได้ มันไม่ควรเพราะว่ามันไม่ใช่ความผิดของคนไข้ที่เขาทำตามที่เราบอกไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราเอาคุณป้าเป็นบทเรียน”(เหนือ3)

ข้อค้นพบจากการวิจัยในประเด็น เข้าใจเข้าถึงตนเอง นี้เป็นส่วนที่สามารถเชื่อมโยงกับความหมายของวิญญาณ ในทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึง วิญญาณว่าเป็น ความตระหนักรู้(consciousness) เกี่ยวกับอารมณ์ที่เกิดจากการได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้กลิ่น (พระธรรมปิฏก. 2535) แต่ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างพบว่า มีลักษณะอื่นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และความคิดของตัวเองจึงเรียกกลุ่มนี้ว่า เข้าใจเข้าถึงตนเองโดยเฉพาะด้านของอารมณ์ความรู้สึก เมื่อพิจารณาส่วนประกอบของประเด็นนี้ น่าจะแสดงถึงพัฒนาการ self ในแนวคิดของจิตวิทยาได้แก่ แนวคิดของ Maslow ที่กล่าวถึง self การพัฒนาไปสู่ การตระหนักใน actual self (แตกต่างจาก self concept ที่เป็นการเข้าใจว่าตนเองเป็นใคร ตามการรับรู้จากประสบการณ์กับคนอื่น ๆในสังคม) ซึ่งพัฒนาไปถึงขั้น self actualization (Polkinghorne, D.,2001 Handbook of Humanistic Psychology)