การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (12)

ข้อ 4 ผู้วิจัยใช้หลักและวิธีการของการสร้างเครื่องมือวัดทางจิตวิทยา

ในบทที่ 3 นี้จึงเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับ แบบแผนการวิจัยในภาพรวม เหตุผลของการเลือกใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างของการเก็บข้อมูลจากการทำกิจกรรมการจัดการความรู้(KM) ขั้นตอนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลตามแนวทฤษฎีการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory methodology) ประเด็นด้านจริยธรรม ความน่าไว้วางใจ และข้อจำกัดของการวิจัย ที่ผู้วิจัยได้ทำการเรียบเรียงขึ้นมา โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับวัตถุประสงค์ของการวิจัยบางข้อ ก็จะนำเสนอรายละเอียดแยกเป็นหัวข้อ

เหตุผลของการเลือกใช้การวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นวิธีการวิจัยที่ใช้เพื่อให้เข้าใจปรากฏการณ์ใด ปรากฏการณ์หนึ่งภายใต้เงื่อนไขของบริบท และเวลา ข้อมูลของงานวิจัยเรื่องนี้เป็นข้อมูลที่เก็บจาก กระบวนการจัดการความรู้ ข้อมูลเป็นการแสดงความเห็น ความรู้สึกและบอกเล่าประสบการณ์จากการทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุข และเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ดังนั้นการเลือกใช้การวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวทฤษฎีการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory methodology) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่ยึดกรอบทฤษฏีใดทฤษฏีหนึ่งในการกำหนดการลงรหัสข้อมูลและการตีความ จึงเหมาะสมในการกำหนดความหมายของจิตวิญญาณ สำหรับเครื่องมือวัดและประเมินจิตวิญญาณ เป็นเครื่องมือที่ให้ผู้ตอบได้ตอบด้วยตัวเอง และอาจใช้เป็นแบบสังเกตพฤติกรรมได้ ประกอบด้วย เครื่องมือเชิงคุณภาพที่เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของผู้เก็บข้อมูล และตีความตามตัวอย่างของพฤติกรรมบ่งชี้ที่กำหนดให้จากข้อค้นพบของงานวิจัยนี้ และเครื่องมือวัดเชิงปริมาณที่ใช้มาตรประเมินค่า การผสมผสานเครื่องมือเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพนี้จะให้ข้อมูลที่สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้เพื่อประโยชน์ของความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้

กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัย

ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยนี้ได้จากกิจกรรมการจัดการความรู้ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) เมื่อพิจารณาการเลือกตัวอย่างของแผนงานแล้วพบว่ามีหลักและขั้นตอนของการเลือกตัวอย่างที่ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานที่เน้นการทำงานที่มีจิตวิญญาณ ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่มีความเข้มข้นของการมีจิตวิญญาณของกลุ่มตัวอย่างเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์ การจัดกิจกรรมนี้ทำ 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งในแต่ละกลุ่มมีการเก็บข้อมูลซ้ำ 3 ครั้ง ทำให้สามารถมีข้อมูลที่คงที่และหยั่งลึก รวมทั้งบรรยากาศของการเก็บข้อมูลที่มีความเป็นกันเองและผู้ให้ข้อมูลมีความเต็มใจในการให้ข้อมูล รายละเอียดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และบริบทของการจัดกิจกรรมแยกเป็น 4 ภูมิภาค

ขั้นตอนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล

ขั้นตอนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลตามแนวทฤษฎีการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory methodology) ก่อนการวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยอ่านเอกสารทั้งฉบับก่อน เพื่อทำความเข้าใจอย่างช้า เกี่ยวกับสิ่งที่ข้อมูลนำเสนอ ระหว่างนั้นอาจบันทึกข้อสังเกตที่น่าสนใจ การอ่านนี้เน้นความเข้าใจในภาพรวมมากกว่าการเจาะไปที่จุดใดจุดหนึ่ง

การวิเคราะห์ข้อมูลใช้แนวคิดของการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (Corbin and Strauss, 2008) มีการกำหนดรหัสที่ควรทราบอยู่ 3 แบบ คือ

1. การกำหนดรหัสเพื่อจำแนกข้อมูล (Open Coding) มีลักษณะเป็นการกำหนดรหัสแบบอิสระให้ข้อมูลเป็นตัวกำหนดรหัส มากกว่าการกำหนดรหัสก่อนการวิเคราะห์ข้อมูล วิธีการกำหนดรหัสแบบนี้ คือนักวิจัยมองหาข้อความที่มีความหมาย(unit of analysis) วิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ และกำหนดชื่อ ที่จะใช้แทนความหมายนั้น หรือผู้วิจัยอาจเลือกจากคำที่ตัวอย่างพูดนำมาตั้งชื่อก็ได้ ดังนั้นการกำหนดชื่อเป็นการตีความของนักวิจัย การกำหนดชื่อหรือรหัสที่เหมาะสมให้แก่ข้อความเหล่านั้น จึงอาศัยความเข้าใจที่มีต่อข้อความที่กำลังวิเคราะห์ การคิดเชิงนามธรรม(abstract thinking)ประกอบกัน นักวิจัยใช้ความคิคและความรู้สึกไปพร้อมๆกัน

การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการที่นักวิจัยตั้งคำถามเมื่ออ่านข้อมูล เช่น การถามว่า นี่เป็นการกล่าวถึงอะไร หรือ มีอะไรเกิดขึ้น (Corbin and Strauss, 2008) การลงรหัส open codingของงานวิจัยเรื่องนี้ มีแนวคำถามประกอบการวิเคราะห์ เนื้อหา(unit of analysis) ดังนี้ 1) มีการแสดงพฤติกรรมอย่างไรของตัวอย่างกับใครในสถานการณ์ใด 2) มีการรับรู้ ความรู้สึก อารมณ์ ความคิดอย่างไร 3) มีการรับรู้ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกอย่างไร 4) มีการเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างไร 5) สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร

การวิเคราะห์ข้อมูลในทุกขั้นตอนมีหลักการที่สำคัญคือ constant comparison (การเปรียบเทียบความคลึงคล้าย และความแตกต่างเนื้อหาของหน่วยการวิเคราะห์ใหม่กับรหัส และหน่วยการวิเคราะห์เดิม) และการให้ข้อมูลเป็นตัวกำหนดรหัสโดยให้ผู้วิจัยกำหนดรหัสจากการตีความของตนเอง แล้วระบุรหัสที่จะเป็นไปได้ทั้งหมด เพื่อทำการแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิจัยที่มีประสบการณ์ต่างกัน(จิตวิทยา สังคมวิทยา พุทธศาสนา การศึกษา สาธารณสุข และพฤติกรรมศาสตร์)

2. การเชื่อมโยงข้อมูลที่ให้รหัสแล้ว (Axial Coding) เป็นการสร้างรหัสที่มีความเป็นนามธรรมมากขึ้น เป็นการเชื่อมconceptระดับพื้นฐานที่มีรายละเอียดของเนื้อหา จากการทำ open coding เข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่ม( เรียกว่า categories หรือ theme ( เป็น concept ระดับสูงคือมีความเป็นนามธรรม) ตามความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่รหัสเหล่านั้นมีร่วมกัน(ดูจากคุณสมบัติที่มีร่วมกัน และดูจากมิติต่างๆของคุณสมบัตินั้น) โปรดสังเกตว่า ข้อมูลที่ให้รหัสแบบ open coding แล้วนั้นเป็นconceptระดับพื้นฐานที่ยังมิได้จัดกลุ่ม axial coding จะทำหน้าที่เชื่อมโยงความหมายเหล่านั้นเข้าด้วยกัน โดยยึดใจความที่เข้ากันได้และที่บ่งถึงเรื่อง (theme) เดียวกันของข้อความเหล่านั้น ผลลัพธ์ของ axial coding คือเรื่อง หรือ “มโนทัศน์(concept)ที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น” ที่จำแนกข้อมูลออกเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นหัวข้อย่อย สิ่งที่ได้ในขั้นนี้เริ่มจะบอกแนวคิดสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ที่ศึกษาในระดับหนึ่ง