การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (3)

ก่อรูปขึ้นในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งและถูกจัดลำดับความสำคัญที่ลดหลั่นอันทำให้เกิดตัวตน (Self) (Burke; & Reitzes. 1981: 84; citing stryker. 1968) เอกลักษณ์จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานความคล้ายคลึงและความแตกต่างของบทบาทเมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทอื่น ๆ (Burke; & Reitzes. 1981: 84; 1991: 242; citing Lindesmith; & Strauss. 1956; Turner. 1956)

3) เอกลักษณ์เป็นสัญลักษณ์ (Symbolic) และเป็นผลสะท้อนกลับ (Reflexive) กล่าวคือ สัญลักษณ์และลักษณะการสะท้อนกลับภายใต้การปฏิสังสรรค์กับบุคคลอื่นก่อให้เกิดการให้ความหมายต่อตนเองของบุคคลซึ่งทำให้เขารู้และเข้าใจตนเองผ่านการเรียนรู้จากการตอบสนองของบุคคลอื่นที่มีต่อการกระทำของเขา การกระทำของบุคคลพัฒนาความหมายผ่านการตอบสนองของบุคคลอื่นตลอดเวลาหรือผ่านการสวมบทบาทของคนอื่น (role taking) ซึ่งเป็นความสามารถใน การใส่ตนเองลงไปในที่ของคนอื่นและมองเห็นสิ่งต่างๆ เหมือนกับที่คนๆ นั้นมองเห็น ดังนั้น การกระทำ คำพูด และการปรากฏของบุคคล คือ สัญลักษณ์นัยสำคัญ (significant symbols) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ความหมายหรือเข้าใจร่วมกันของบุคคลในสังคม สัญลักษณ์และลักษณะ การสะท้อนกลับของเอกลักษณ์จะบูรณาการเป็นตัวตนของบุคคล (พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์. ม.ป.ป.: 45-47; Burke; & Reitzes. 1981: 84; 1991: 242; citing Burke. 1980; Felson. 1985; Wells. 1978)

2.3 ทฤษฎีเอกลักษณ์ของบุคคลของสไตรเกอร์

ที่มาของทฤษฎี

ทฤษฎีเอกลักษณ์ของบุคคล (Personal Identity Theory) หรือที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่าทฤษฎีเอกลักษณ์ (Identity Theory) เป็นทฤษฎีที่พัฒนาโดยเชลดอน สไตรเกอร์ (Sheldon Stryker) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ทฤษฎีเอกลักษณ์นี้ได้พัฒนาขึ้นจากทัศนภาพการปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์เชิงโครงสร้าง (Structural Symbolic-Interactionist Perspective) ในการอธิบายพฤติกรรมการเลือกบทบาทของบุคคล (Role Choice Behavior) (Stryker. 1992: 871; Owens. 2003: 217) โดยได้อาศัยข้อตกลงตามกรอบแนวคิดปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์ 4 ประการ ดังนี้ (Stryker. 1992: 872)

1) บุคคลเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ตอบสนองการกระทำ

2) การกระทำและปฏิสัมพันธ์ของบุคคลขึ้นอยู่กับการให้ความหมายหรือการตีความสถานการณ์ของการกระทำและการปฏิสัมพันธ์นั้น ซึ่งการให้ความหมายและการตีความเป็นพื้นฐานการพัฒนาการให้ความหมายในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

3) การสร้างความหมายเชิงอัตมโนทัศน์แห่งตนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการแสดงการกระทำและการมีปฏิสัมพันธ์ของบุคคล

4) อัตมโนทัศน์เป็นรูปแบบจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและผลลัพธ์ของการตอบสนองการกระทำของผู้อื่นที่มีต่อตน

จากข้อตกลงทั้ง 4 ข้อข้างต้นแสดงให้เห็นว่าข้อตกลงที่ 4 ตัวตน (Self) มีผลต่อสังคม (Society) และเมื่อนำข้อตกลงที่ 3 เข้าร่วมพบว่าทำให้เกิดพื้นฐานความเป็นไปได้ทางทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ของทฤษฎีการปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์ (Symbolic Interactionism) ที่ว่า สังคมกำหนดตัวตน ตัวตนกำหนดพฤติกรรมทางสังคม (Social Behavior) กฎเกณฑ์ดังกล่าวถูกบันทึกยืนยันความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (Reciprocity) ระหว่างพฤติกรรมทางสังคมมีผลต่อตัวตนและสังคม และตัวตนสามารถมีผลต่อสังคมด้วยเช่นกัน (Stryker. 1992: 872; 2007: 1089)

สังคมถูกอธิบายในเชิงโครงสร้างทางสังคม (Social Structure) และตัวตนถูกอธิบายในเชิงกระบวนการตีความ (Interpretive Processes) ที่บุคคลต้องให้น้ำหนักก่อนการแสดงพฤติกรรมทางสังคม ตามแนวคิดนี้นักสังคมวิทยาร่วมสมัยมองว่าสังคมและตัวตน มีรูปแบบโครงสร้างที่มีความคงทนยืนยาวทั้งรูปแบบที่เป็นปฏิสัมพันธ์และรูปแบบที่เป็นความสัมพันธ์ (Durability of the patterned interactions and relationships) นอกจากนี้โครงสร้างสังคมยังมีความซับซ้อนระดับกลุ่ม ชุมชน องค์การและสถาบัน ในขณะเดียวกันบุคคลในสังคมยังอยู่บนพื้นฐานชนชั้นทางสังคมไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนาและอื่นๆ ดังนั้นขอบเขตของสังคมจึงมีความหลากหลายและทับซ้อนกันทั้งในเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactionally) หน้าที่ (Functionally) และการจัดลำดับความสำคัญที่ลดหลั่น (Hierarchically) ซึ่งในบางครั้งความแตกต่างหลายๆ ส่วนของสังคมอาจมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแต่ในบางครั้งก็อิสระจากกันหรือขัดแย้งกัน ส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกันของสังคมจึงมีผลกระทบต่อบุคคล โดยทำให้เกิดตัวตนแบบต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับคนหรือกลุ่มต่างๆ ที่มาปฏิสัมพันธ์กับบุคคลนั้นๆ (Stryker. 1992: 872-873; สมศักดิ์ สีดากุลฤทธิ์. 2545: 21)

จากแนวคิดเกี่ยวกับสังคมและตัวตนที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายมิติจึงทำให้เกิดการสร้างทฤษฎีที่ยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่าง ๆ ของสังคมและส่วนต่าง ๆ ของตัวตน และมีการดำเนินการอย่างมีเหตุมีผลที่ยอมรับได้ การสร้างทฤษฎีเอกลักษณ์ได้ดำเนินการโดยอาศัยพื้นฐานกฎเกณฑ์ทางทฤษฎีการปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์ในการกำหนดสมมติฐานที่เฉพาะซึ่งให้ความสำคัญต่อการเลือกบทบาท กล่าวคือ ลำดับชั้นทั่วไปของพฤติกรรมทางสังคมถูกกำหนดโดยการเลือกบทบาท ซึ่งถูกตั้งสมมติฐานว่าเป็นผลลัพธ์ของความเด่นของเอกลักษณ์ (Identity Salience) และ ความรู้สึกสำคัญ (Psychological Centrality) และความเด่นของเอกลักษณ์กับความรู้สึกสำคัญถูกตั้งสมมติฐานว่าเป็นผลลัพธ์ของความผูกพัน (Commitment) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความผูกพันมีผลต่อความเด่นของเอกลักษณ์และความรู้สึกสำคัญ และความเด่นของเอกลักษณ์และความรู้สึกสำคัญมีผลต่อการเลือกบทบาท (Role Choice) (Stryker. 1992: 873; 2007: 1091)