การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (2)

เกิดปัญญา การหยั่งรู้ เข้าใจความจริงของชีวิต ค้นพบเป้าหมายความหมายของชีวิต มีดุลภาพในความสัมพันธ์ภายในตนเอง ความสัมพันธ์กับบุคคล สิ่งแวดล้อม และพลังเหนือธรรมชาติ สงบ มีความสุข มีความเข้าใจในตนเอง เข้าใจในธรรมชาติและความเป็นจริงในชีวิต มีพลังใจที่เข้มแข็ง สร้างสรรค์ มีพลังภายใน (Inner strength) พลังอำนาจ (Power) ความศรัทธา ความหวัง ความกล้าหาญ เพิ่มความสามารถทำให้อยู่เหนือภาวะเหนือตนเองได้ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข

ข้อมูลจากการประมวลเอกสาร พบว่า การศึกษาจิตวิญญาณในมิติด้านสาธารณสุขจะเน้นที่การดูแลด้านจิตวิญญาณ (spiritual care) และการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตวิญญาณ (spiritual need) ซึ่งจากงานวิจัยได้ให้ความหมายของการดูแลด้านจิตวิญญาณ ว่าหมายถึง กระบวนการที่ช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวด้วยความเอาใจใส่ โดยการสนับสนุน ส่งเสริมคุณค่า ความเชื่อ ค่านิยมและวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล ความต้องการมีความหมายและจุดหมายของชีวิต ความต้องการได้รับความรักและให้ความรักต่อผู้อื่น รวมไปถึงความต้องการความหวังและการสร้างสรรค์ เพื่อสนองความต้องการที่มุ่งรักษาสุขภาพในการดำเนินชีวิต และมีการให้ความหมายของความต้องการด้านจิตวิญญาณไว้ว่า หมายถึง ความรู้สึกที่อยู่ลึกภายในจิตใจเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและเกิดร่วมกับการเลี้ยงดู สังคม วัฒนธรรม ศาสนา ศีลธรรม ลัทธิที่มีอยู่ภายในตัวบุคคล เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า สามารถค้นหาเป้าหมายของชีวิตและรู้ว่าตนต้องการอะไร เป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดความเชื่อและการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของชีวิต เป็นพลังภายในตนเองที่มองไม่เห็นแต่ช่วยให้บุคคลเกิดกำลังใจ มีความหวังและความเข้มแข็งภายในจิตใจ ทำให้สามารถเผชิญกับปัญหาและความจริงที่ตนรู้สึกว่ายากลำบากหรือในภาวะที่เจ็บป่วยรุนแรงได้อย่างสงบ

คำว่า “จิตวิญญาณ” มีการนำมาใช้ในกิจกรรมการพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ความเชื่อโดยใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และการปฏิบัติตามหลักศาสนา รวมทั้งคำนึงถึงความสำคัญของปฏิสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทัศนีย์ ทองประทีป. 2548) ซึ่ง ชนิกา เจริญจิตต์กุล (2547) ได้อธิบายถึงความสำคัญของการดูแลด้านจิตวิญญาณ (spiritual care) ว่า ระบบความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ทำให้บุคคลมีพลังในตัว มีกำลังใจ และมีความหวัง นอกจากนี้การให้ความรักความรู้สึกผูกพัน การเอาใจใส่จะเป็นการช่วยเพิ่มความรู้สึกประจักษ์ในคุณค่า (Self esteem) ของบุคคล จากความหมายในงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า มีตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณที่ปรากฏในนิยาม ได้แก่ การมีเป้าหมายของชีวิต การรู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต การมีความเข้าใจในตนเองและสิ่งแวดล้อม การมีความเชื่อศรัทธาในบางสิ่งเหนือการรับรู้ การรู้สึกถึงการมีพลังมีความเข้มแข็งในการปฏิบัติภารกิจ การมีความรู้สึกสุขสงบทางจิตใจ เป็นต้น

จิตวิญญาณในมิติทางด้านสุขภาพนี้ นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (2545) ได้อธิบายว่า เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เดิมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบเดิมที่ใช้ในการทำความเข้าใจชีวิตซึ่งมองชีวิตแบบแยกออกเป็นส่วนๆที่มุ่งเน้นแต่การตรวจวินิจฉัยรักษาโรค การจ่ายยาที่ถูกต้อง โดยขาดการมีปฏิสัมพันธ์และขาดการให้ความสำคัญกับมนุษย์ที่มาตรวจรักษา ทำให้ผู้เข้ารับการรักษาเกิดการขาดความศรัทธาเชื่อมั่นต่อตัวแพทย์ พยาบาล ที่ทำการรักษา ดังนั้นการใช้ Spiritual เข้ามาใช้ในทางสุขภาวะ จะทำให้เห็นมิติของความเป็นมนุษย์ และนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ที่เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีขึ้นในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข และการดูแลผู้ป่วย

2. ทฤษฎีเอกลักษณ์ (Identity)

2.1 ความหมายของเอกลักษณ์

“เอกลักษณ์” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Identity” และนักวิชาการบางท่านดังเช่นเบอร์ค (Stryker; & Serpe. 1982: 206; citing Burke. 1981) และแมคคอล์และซิมมอนด์ (Stryker; &Serpe. 1982: 206; citing McCall; & Simmons. 1978) ใช้คำว่า “Role-Identity” ในความหมายเดียวกับเอกลักษณ์ (Hogg; Terry; & White. 1995: 256; citing Stryker. 1980) เอกลักษณ์มาจากรากศัพท์ภาษาลาติน 2 คำ คือ Idem แปลว่า เหมือน และคำว่า Identidem แปลว่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งต่อมาได้มีการรวมความหมายของคำว่า Side by Side แปลว่าด้วยกัน กับคำว่า Likeness แปลว่า ความคล้ายคลึงกัน และ Oneness ที่แปลว่า ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เข้าร่วมด้วย (Owens. 2003: 207) ดังนั้นความหมายของคำว่า “เอกลักษณ์” จึงมีความเกี่ยวข้องกับการบอกถึงความแตกต่างและ ความเหมือนระหว่างบุคคลหนึ่งกับบุคคลหนึ่ง (Owens. 2003: 207; citing Burke; & Tully. 1977; James. 1890) จากการศึกษาเอกสารต่าง ๆ พบว่า นันทนา น้ำฝน (2536: 36) ได้สรุปความหมายของเอกลักษณ์ว่า เป็นลักษณะอย่างหนึ่งในตัวบุคคลที่ทำให้บุคคลนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองซึ่งแตกต่างจากบุคคลอื่น ส่วนเบอร์คและไรซ์ (Burke; & Reitzes. 1991: 242) ได้ให้ความหมายของเอกลักษณ์ไว้ว่า คือ สิ่งที่บุคคลให้ความหมายทางสังคมร่วมกันของคนที่อยู่ในบทบาทเดียวกัน รวมถึงในดิกชันนารี The New International Webster’s Comprehensive Dictionary of the English Language (1996: 627) ได้ให้ความหมายของเอกลักษณ์ว่า ลักษณะที่เป็นอยู่เหมือนกันหรือเหมือนกันโดยสมบูรณ์ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (2546: 1391) ซึ่งได้ให้ความหมายไว้ว่า ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน ส่วนนักจิตวิทยาสังคมร่วมสมัยได้ให้ความหมายของเอกลักษณ์ว่าเป็นการจัดหมวดหมู่บุคคลอย่างเฉพาะเจาะจงในการบอกว่าเขาเป็นใครและตำแหน่งที่บุคคลจะมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Owens. 2003: 207; citing Michener; & Delamater. 1999) ซึ่งสอดคล้องกับความหมายจากสารานุกรมทางสังคมวิทยาที่สไตรเกอร์ได้ให้ความหมายไว้โดยคำนึงถึงข้อกำหนด (require) ของเอกลักษณ์ที่มีอยู่ 2 ประการ คือ (Stryker. 1992: 873; citing Stone. 1962; Stryker. 1968) 1) บุคคลอื่นเป็นผู้มอบหมายตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งทางสังคมให้ต่อบุคคล และ 2) บุคคลยอมรับต่อตำแหน่งที่ผู้อื่นแต่งตั้งให้ ดังนั้นเอกลักษณ์ตามความหมายของสไตรเกอร์ (Stryker. 1992: 873) จึงเป็นการรู้คิดเกี่ยวกับตัวตน (Self-Cognitions) ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและตำแหน่งในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล เช่น เอกลักษณ์ของการเป็นแม่ เป็นลูก เป็นหมอ เป็นคนขายของ เป็นต้น

จากความหมายของเอกลักษณ์ดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า เอกลักษณ์ หมายถึง การรู้คิดเกี่ยวกับบทบาทและตำแหน่งเฉพาะตนในการแสดงออกเพื่อติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคม ทั้งนี้บุคคลที่อยู่ในบทบาทและตำแหน่งเดียวกันจะมีการแสดงออกที่เหมือนกันและแตกต่างไปจากบุคคลที่อยู่ในบทบาทและตำแหน่งอื่น