สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (19)

ความพยายามในการใช้วิธีการฝึกสมาธิเพื่อควบคุมความรู้สึกอันสำแดงตนบนพื้นฐานของความมีความหมายดั้งเดิมที่ต้องการละทิ้ง หรือใช้วิธีคิดเชิงบวกเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่คุณค่าที่ตนเห็นว่าดี

เมื่อเห็นดังนี้แล้ว จะเห็นว่าเราสามารถพิจารณา “สมรรถนะที่ช่วยให้ความหมายกลายเป็นความมีความหมาย” ได้ง่ายขึ้น ณ จุดนี้ เราเข้าใจได้ว่าสมรรถนะดังกล่าวเป็นเรื่องความสามารถในการก้าวพ้นตัวตน ซึ่งต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีทิศทาง การวิเคราะห์ข้อมูลแสดงว่าการก้าวพ้นตัวตนซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการได้ตัวตนใหม่นี้ ต้องอาศัยสมรรถนะและภาวะอื่นๆ ทั้งด้านความคิด ด้านความรู้สึก ด้านสังคม หรือแม้กระทั่งด้านร่างกาย (เช่น การสัมผัสกาย) ข้อนี้แสดงว่าสมรรถนะทางจิตวิญญาณด้านอัตถิภาวะต่างจากสมรรถนะทางกาย สมรรถนะทางความคิด สมรรถนะทางความรู้สึก คือไม่ได้มีอยู่อย่างเป็นเอกเทศ หากแต่เป็นสมรรถนะที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมรรถนะอื่นๆ คล้ายกับสมรรถนะทางสังคม อาจเรียกได้ว่าเป็น “สมรรถนะองค์รวม”

ความพยายามในการก้าวพ้นนั้นอาจเป็นการริเริ่มโดยตัวบุคคลเอง หรืออาจมีแรงจูงใจมาจากเหตุการณ์ที่มากระทบ หรือการผลักดันของบุคคลอื่น ในอันที่จะรู้สึกถึงความคิดที่ตัดสินว่าดีแล้ว บุคคลอาจใช้ความคิดเพื่อโน้มนำสู่ความรู้สึก เช่น การคิดเชิงบวก อันเป็นการคิดถึงสิ่งดีๆ โดยเห็นว่าสิ่งดีๆ นั้นจะก่อให้เกิดความรู้สึกดีๆ ตามมา บุคคลอาจจะใช้ความรู้สึกเพื่อโน้มนำไปสู่ความคิด เช่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา อันเป็นการเชื่อมโยงความคิดที่บุคคลไม่รู้สึกสู่สิ่งอื่นที่รู้สึก บุคคลอาจจะใช้ทั้งความคิดและความรู้สึกปฏิสัมพันธ์สลับไปมา เช่น การฟังเรื่องเล่า และ การ tuning ซึ่งในวิธีการทั้งสอง บุคคลพยายามคิดถึงสถานการณ์ของผู้อื่นและพยายามรู้สึกในสถานการณ์นั้น จะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้ว ลักษณะการทำงานสมรรถนะก็คือ “การคิดถึงสิ่งที่มิได้เป็นในปัจจุบัน” หรือการจินตนาการนั่นเอง หัวใจของสมรรถนะทางจิตวิญญาณด้านอัตถิภาวะจึงเป็นความสามารถในการจินตนาการถึงการอยู่ในภาวะที่ต่างออกไป เรียกว่า “การผันแปรทางจินตนาการ” (imaginative variation)

5. สังเคราะห์กรอบแนวคิด

ผลการวิเคราะห์ข้างต้น สามารถนำมาสรุปเป็นกรอบแนวคิดได้ 2 กรอบแนวคิด ได้แก่ กรอบแนวคิดเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ” และกรอบแนวคิดเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ”

จิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ

# สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติสามารถมีอิทธิพลก่อให้เกิดสุขภาวะทางจิตและสุขภาวะทางกายได้

# ความเชื่อทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติ สามารถทำให้เกิดสมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงว่าสมรรถนะดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นหลังจากบุคคลมีภาวะทางจิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะคือเห็นความมีความหมายของบางสิ่ง และสมรรถนะที่เกิดขึ้นนี้สามารถก่อสุขภาวะทางจิตและทางกายได้เช่นกัน

# การคิดเชิงบวกสามารถก่อให้เกิดสิ่งที่คล้ายสมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ และสมรรถนะนี้ก่อให้เกิดสุขภาวะทางจิต

# การที่ความคิดความรู้สึกของคนกลายเป็นหนึ่ง (ซึ่งผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใช้คำเรียกว่า “จิตสาธารณะ”) สามารถก่อให้เกิดสมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ และสมรรถนะนี้ก่อให้เกิดสุขภาวะทางจิต