สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (7)

…ปี 2529 เอดส์รายแรกเข้ามาในประเทศไทยเป็นนิโกร จากเรือนจำกลางคลองเปรม เป็นcaseแรกที่เข้ามา แล้วเวลานั้นถามว่าความพร้อมของเจ้าหน้าที่เรามีไหม ไม่มีเลยนะคะ อยู่ๆ ตูมคนไข้เดินเข้าไปในสถาบัน เวลานั้นทุกคนหันซ้ายหันขวา ไม่มีใครต้อนรับเลยคนไข้caseนี้ ปฏิเสธกันหมด…เราเห็น เราก็นึกว่าเราก็เป็นพยาบาล ปฏิเสธคนไข้ไม่ได้แน่นอน เราตระหนักถึงหน้าที่ยังไงก็ต้องทำหน้าที่…นี่คือหน้าที่ของเรา ตัวตนของเราคือพยาบาล…

(ลปรร.ภาคกลาง)

หรือไม่ก็เพียงต้องการเป็นคนดี

…มันก็เพิ่งนึกได้เหมือนกันว่าแต่ก่อนตอนที่ทํางานใหม่ๆ ใช่มั๊ยคะ เราจะรู้สึกว่าเราน่ะอยากได้ดีมาก เพราะแม่เค้าสอนมาเรื่องของการเป็นคนดี พอแม่บอกสอนเรื่องการเป็นคนดีเนี่ยเราก็จะเข้าหาธรรมะหรือทําอะไรก็ตามคือต้องการให้เป็นคนดีให้ได้จะไม่ทําในสิ่งที่ผิด แต่พอเป็นคนดีไปเนี่ย พอเราพลาดไปแล้วเนี่ยเราจะรู้สึกตําหนิตัวเองมาก สมมติว่าเราอยากทําดี แต่พอเราทําดีไม่ได้เราก็จะรู้สึกตําหนิตัวเอง…

(ลปรร.ภาคอีสาน)

หรือไม่ก็มุ่งหมายประโยชน์ของงานเพื่อผู้อื่น

…โครงการของผมที่ทำใน รพ. เนี่ย ก็มีโอกาสได้ส่งเข้าประกวดของ สปสช. ได้รางวัลที่ 1 ของจังหวัด แต่ไปแพ้ตรงเขต เขาก็เลยได้รางวัลที่ 1 ของจังหวัด ก็คิดว่าดีใจมั๊ย ผมก็ไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ เพราะว่ามันไม่ใช่น่ะ มันน่าจะ ผมนึกถึงความยั่งยืนของคนไข้มากกว่า มันน่าจะมีความยั่งยืน อย่างของผมเนี่ย โครงการเพิ่งจบ คือ จบไปเลยไม่มี ไม่ได้ทำอะไรต่อ ก็ได้รางวัลมา ณ ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ได้ใช้รางวัล เงินก็ยังอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ใช้ทำอะไร เราไม่รู้จะไปใช้ทำอะไร มันไม่เหมือน มันไม่ได้ภูมิใจอะไรซักเท่าไหร่…

(ลปรร.ภาคเหนือ)

หรือไม่ก็เป็นคนที่มีลักษณะเอื้ออาทร

…ทํายังไงจะลดความเจ็บปวด ไปหาหนังสือมาให้แกอ่าน เพราะว่าเราก็ไม่มีประสบการณ์ตรงนี้เหมือนกัน แกก็พยายาม แต่แกก็ยังปวด ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่าสงสารคนไข้มาก แล้วก็ เหมือนกับทําอะไรไม่ได้ ช่วยเค้าไม่ได้ที่เราอยากจะช่วย แต่ว่าช่วงนั้นน่ะ ก็คิดว่าเป็นวาระสุดท้ายในชีวิตเค้าแล้วน่ะ เราจะทําอะไรให้เค้าดี…

(ลปรร.ภาคอีสาน)

ลักษณะสำคัญของปัจจัยภายในก็คือทำให้บุคคลมีความอ่อนไหวบางอย่าง ทำให้ครุ่นคิด ตั้งคำถาม หรือประเมินตรวจสอบตัวตน หรือทำให้ต้องแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อรักษาสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่า แน่นอนว่าในที่สุดแล้ว ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในต่างมีบทบาทในการช่วยให้บุคคลเห็นความมีความหมาย จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่าปัจจัยภายนอกมีบทบาทเช่นนั้นได้ ก็เพราะตัวบุคคลมีพื้นฐานบางอย่างที่เหมาะสม เช่น พื้นฐานทางความคิด พื้นฐานทางอารมณ์ ความเป็นตัวตน ความรักในบทบาทหน้าที่

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์น่าจะมุ่งหาวิธีการที่บุคคลกระทำต่อตนเองหรือผู้อื่นในอันที่จะสร้างความมีความหมายให้เกิดขึ้นมา เพื่อที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่ควบคุมได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป เบื้องต้นอาจพิจารณาจากตัวอย่างข้างต้นก่อน จะเห็นได้ว่านอกจากปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลที่ก่อรูปและมีความมั่นคงมาก่อนแล้ว ยังมีบางปัจจัยที่ดูเหมือนอยู่ในความควบคุม เช่น ความตระหนักอันเนื่องจากความเป็นวิชาชีพ ที่แม้จะหล่อหลอมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของคนอื่นๆ ที่ร่วมวิชาชีพ ซึ่งต่างก็ได้รับมาจากระบบการศึกษาหรือระบบองค์กร ปัจจัยนี้จะปรากฏอีกครั้งในการวิเคราะห์ต่อไป