สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (3)

“จิตวิญญาณ” ในความหมายที่สองที่มีต่อ “จิตวิญญาณ” ในความหมายแรกก็คือ สำหรับจิตวิญญาณในฐานะสมรรถนะพิเศษนอกเหนือไปจากความคิดและความรู้สึกนั้น ดูเหมือนจะมีพลังก่อให้เกิดความสุขความสงบขึ้นได้ แต่จิตวิญญาณในฐานะการทำงานร่วมกันของมิติด้านความคิดและความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องทำให้บุคคลมีความสุข หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณในความหมายของการตระหนักถึงความมีความหมายนั้น ไม่จำเป็นต้องรู้สึกสุขสบายใจ ตัวอย่างมากมายของการเสียน้ำตาที่พบได้ในข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถยืนยันประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจน หากต้องการจะกล่าวว่าบุคคลเหล่านนี้มีความสุข ความสุขที่ว่าก็จะต้องมีความหมายพิเศษ เช่น ไม่รู้สึกสุขโสมนัส แต่รู้สึกลึกๆ ถึงความมีคุณค่า

ทั้งนี้ ในส่วนของ “จิตวิญญาณ” ในความหมายแรกนั้น ยังมีข้อมูลที่แสดงการมีอยู่ของสมรรถนะพิเศษบางอย่างที่พิเศษอย่างเห็นได้ชัด

…ขณะที่ เดินกลับเข้ามาประมาณทุ่มกว่าแต่มีไฟนะคะตามทางเดินมีไฟ เราเจอคนจะเดินออกแล้วเราจะเดินเข้า…ทีนี้ตอนที่เดินสวนกัน ก็ประมาณร้อยเมตรนี่ เราคิดว่าเป็นคนที่มาอบรม ซึ่งตอนนั้นมาอบรมสามวัน เราก็ยังไม่รู้จักทั้งหมด ทีนี้ตอนเดินเข้าไปเราก็จะแซวเขาว่าป่านนี้แล้วนะ กลับได้แล้วนะ มืดแล้ว ตาเราก็จ้องอยู่กับเขาเพราะจะคุยกับเขา ทีนี้พอเดินเริ่มใกล้เข้ามาๆ ก็ยังไม่ไกลมาก คนที่เราจ้องยังอยู่กับตาเรานะคะ แต่คนข้างๆ เริ่มหายไป มาประมาณ 5-6 คน เป็นกลุ่ม…ทีนี้พอเราจะคุยมันห่างขนาดอย่างนี้น่ะค่ะแล้วก็หายไป ทีนี้ตอนเราเจอ เรามีเพื่อน เราก็บ่นกับเพื่อนว่าป่านนี้แล้ว เขายังไปอีกนะเพื่อนเขาก็ไม่ได้รู้กับเรา ทีนี้พอเดินถึงจุดนั้นก็หันไปถามเพื่อนว่าเมื่อกี้เห็นอะไรหรือเปล่าเขาก็บอกไม่เห็นอะไรนี่พี่… …เขามาหาก็บอกมีอะไรอยากจะเล่าให้ฟัง ช่วงที่เขามาดูแลลูกเขารู้สึกว่าช่วงท้ายๆ ลูกเขาไปแล้วแต่เด็กไม่ไป ถามว่าทําไม เขารู้สึกแต่เขาไม่อยากจะบอก เขารู้เขาก็พยายามบอกลูกเขาว่าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะจากการที่ทํางานมารู้เลยว่าเด็กไม่ได้กลัวตาย แต่เขาห่วงแม่ หลายคนจะเห็นเลยว่าเขาพูดว่าถ้าเขาไม่อยู่แม่จะอยู่ยังไง หลายๆ คนบอกเขาไม่ได้กลัวโน่นกลัวนี่หรอกนะ แต่เขามีสิ่งที่เขาเป็นห่วง แม่บอกรู้สึกว่าเวลาแม่มากอดเขามีกลิ่น เพราะจริงๆ โรคเขาไม่น่าจะมี เพราะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด คือรู้แล้วว่าเขาไปแล้ว แต่ใจ คือมันเป็นพลังชีวิตนี่มันมี ถ้าไม่ได้ทํางานตรงนี้จะไม่รู้เลยว่าพลังชีวิตตรงนี้มีจริง…ถามแม่ว่ารู้สึกจริงเหรอ คือจริงว่าสองสามวันสุดท้ายรู้แล้วว่าเขาไม่อยู่แล้ว แม่เขาก็พูดไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายตอนหลังแม่บอกว่าเขายอมรับ…

(ลปรร.ภาคกลาง)

แม้จะพบว่ามีสมรรถนะ 2 ประเภทที่แตกต่างกัน และสมรรถนะทั้ง 2 นี้ก็ยังให้เกิดภาวะที่แตกต่างกัน แต่ในทางทฤษฎี กล่าวได้ว่าทั้งสองมิได้แยกจากกันเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าการพัฒนาสมรรถนะพิเศษน่าจะสามารถส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสมรรถนะของจิตในด้านความคิดและความรู้สึก หรือแม้กระทั่งนำสู่ผลเชิงอัตถิภาวะ อันได้แก่ การเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตได้ และที่สำคัญ ข้อมูลที่ปรากฏในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชี้ว่าทั้งสองมิได้แยกขาดจากกัน

…ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาด้วยการยัดเยียดหลักสูตรอะไรซักอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วเขามีพลัง เขามีอะไรมากมายที่อยู่ในชุมชน ชุมชนเกิดมาเป็น 200-300 ปี แต่เราเพิ่งเกิด…โรงพยาบาลเกิดยังไม่ถึง 30 ปีเลย แต่ว่าเราพยายามเอาอะไรไปใส่ให้เขา ซึ่งเราไม่ได้เรียนรู้ชุมชน ไม่ได้เรียนรู้วิธีคิด จริงๆ แล้ว เขามีชีวทัศน์โลกทัศน์ที่ทำให้เขาดำรงอยู่ได้ แต่เราก็พยายาม คือเราไม่ได้แชร์องค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่เขามีอยู่ ซึ่งเราก็ยัดเยียด แล้วเราก็ทำมาหลายปี…เราก็พายเรือวนในอ่าง จนเหนื่อย จนมาคิดว่า เอ๊ะ ก็คุยกันทุกวันน่ะ ก็พากันเหนื่อย พากันท้อแท้ ก็เลย พอเราได้ออกไปในชุมชน เราก็ได้เห็นว่าเขายังมีอะไรอยู่ในชุมชน…

…บางทีเราต้องดูเขาด้วยว่า น้ำตาลเขาสูง เขาเกิดจากอะไร บางทีเขาเครียด…ความเครียดก็ขึ้น ทีนี้พอน้ำตาลขึ้น ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ลูกหลานมารวมตัวกัน มาทำพิธีกรรมเหยา มาทำผูกขวัญ…บ้านเราเขาเรียก มาตู้ม มาโฮม ซักระยะหนึ่งก็หาย อาการปวดหัวเวียนเกล้าอะไรก็หาย ซึ่ง…มันคืออะไร เราเคยเรียนรู้มั้ยตรงนี้ ไม่เคยเลยที่ผ่านมา จริงๆ เขาทำพิธีการเหยา หรือทำพิธีการผูกขวัญ มันเป็นเรื่องของการร้อยรัดผู้คนเข้ามาหลอมรวมกันเพื่อดูแลคนไข้ จริงๆ เราไม่ต้องไปดูแลก็ได้ เราใช้สิ่งที่เขามีอยู่ เราค้นหาให้เจอ แล้วถอดรหัสตัวนั้นออกมา ว่านี่อธิบายว่า นี่มันคืออะไรๆ ให้ความหมายและคุณค่าตัวนั้นออกมา…บางเรื่องไม่จำเป็นที่ต้องใช้เราด้วยซ้ำไป…ให้เขาจัดการของเขาเองในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีที่เขามีอยู่…

…ตอนนั้นแกแบบผอมมากเลย แล้วก็เครียด สีหน้าเนี่ยะ…คิ้วนี่ผูกโบว์ตลอดเลย พอไปเหยา พอได้พูดกับผี หน้าตาเบิกบานแจ่มใส ซึ่งอะไรเหล่านี้คือสิ่งที่เราเข้าไม่ถึงหรือเปล่า…

(ลปรร.ภาคอีสาน)

ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความหมายที่บุคลากรทางสาธารณสุขพยายามสื่อสารแก่ผู้ป่วยนั้นไม่ได้ผล ทำให้ผู้ทำงานรู้สึกว่า “พายเรือในอ่าง” แต่วัฒนธรรมกลับมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา เนื่องจากผู้คนนั้นผูกพันกับวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ทำให้สิ่งที่สื่อผ่านกรอบทางวัฒนธรรมมิได้มีเพียงความหมายเท่านั้น แต่ยังมีความมีความหมายอีกด้วย แต่ที่ต่างไปจากข้างต้นก็คือ ความมีความหมายนี้ดูเหมือนจะส่งผลให้เกิดสุขภาวะในตัวผู้ป่วย โดยภาวะที่เกิดนี้คล้ายกับผลของการทำงานของสมรรถนะพิเศษบางอย่าง มากกว่าที่จะเป็นผลของการเปลี่ยนมุมมองหรือเข้าถึงความมีความหมายผ่านทางการทำงานร่วมกันระหว่างสมรรถนะด้านความคิดและความรู้สึก