สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (2)

ปรึกษาแพทย์รุ่นพี่ต่อ ไม่มีใครให้ยาอะไร ยกเว้นออกซิเย่น พ่นยาทีเดียว…แต่ผมนี่เดินไปดูตลอด จนกระทั่งว่าคนไข้เนี่ยะ…อ่า ตี 3 ตี 4 ที่คนไข้หลับไป…แล้วตื่นมาอีกที 6 โมงเช้า เด็กคนนี้ตายแล้ว แม่ก็ยังไม่รู้ว่าเด็กตาย แม่ก็นอนอยู่ข้างๆ ผมไปฟัง อ้าว เด็กตาย พยาบาลก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้เลยว่าเด็กตายแล้ว ผมไปเห็นปุ๊บ ผมก็เสียใจ อูย รู้สึกช่วยเขาไม่ได้ ระหว่างที่กำลังเสียใจ แม่เขาเนี่ยะมาปลอบผม …ตอนนั้นผมรู้สึกว่า เราน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ ชีวิตเด็กทั้งคนนึงน่ะ ทุกคนดูแต่ฟิล์มน่ะ ทำไมทุกคนไม่ดูตัวเด็ก ตรงนั้นก็เลยเป็นแรงบันดาลใจว่า โอเคเลยว่า ผมจะต้องดูแลคนไข้ให้ดีให้ได้…ผมรู้สึกว่า คนไข้ผมไม่ใช่เล่นๆ ชีวิตคนไข้คนนึงผมจะมาทำเล่นไม่ได้ ฉะนั้นเพื่อนเขานอนหมดแล้ว ผมจะยังไม่นอน ผมจะเดินมาดูแลหวอดของผม…จนคนไข้ผมนอนหลับสนิทหมดทุกเตียง ถึงจะเข้าไปนอน…

(ลปรร.ภาคอีสาน)

ในกรณีแรกนั้น สุขภาวะเกิดจากอำนาจของการฝึกสมาธิ ในกรณีหลังนั้น ภาวะแห่งความตระหนักเป็นผลจากมุมมองหรือระบบความคิดบางอย่างที่สัมพันธ์กับเรื่องการให้คุณค่า โดยคุณค่าเหล่านี้สัมพันธ์กับบริบทสังคมวัฒนธรรม (เช่น สถานะทางสังคม คุณค่าแห่งวิชาชีพ) และอาจจะเลยไปถึงคุณค่าที่สัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ (เช่น คุณค่าแห่งชีวิต) ทั้ง 2 กรณีจึงแสดงถึงสมรรถนะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 2 ประเภท กล่าวคือ ประเภทหนึ่งเป็นเรื่องของสมรรถนะพิเศษที่ต้องผ่านการฝึกฝน อีกประเภทหนึ่งเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันระหว่างสมรรถนะของจิตในด้านความคิดและความรู้สึก ดังเห็นในตัวอย่างข้อความที่ยกมาว่าเหตุการณ์การเสียชีวิตผู้ป่วยสร้างความสะเทือนอารมณ์แก่ น.ศ.แพทย์ ซึ่งมีความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายวิชาชีพในด้านการดูแลคนป่วย ความคิดความเข้าใจในเป้าหมายวิชาชีพและพื้นฐานอารมณ์ดั้งเดิมที่เอื้ออาทรเช่นนั้นมีติดตัวมาก่อน แต่เมื่อมีปัจจัยเหตุการณ์ที่มากระทบ ก็ทำให้ “การทำหน้าที่แพทย์” กลายเป็นสิ่งที่มีความหมายความสำคัญพิเศษสำหรับแพทย์ท่านนี้

กล่าวได้ว่าการประสานงานที่เหมาะเจาะของความคิดและความรู้สึกนี้ก่อให้เกิดผลในระดับอัตถิภาวะ (existential) นั่นคือ บุคคลมิได้เห็นเพียงความหมาย (meaning) ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดเท่านั้น แต่ยังเห็นความมีความหมาย (meaningful) อันปรากฏในลักษณะของความซาบซึ้งในความหมายบางอย่าง โดยที่ความซาบซึ้งนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับองค์รวม เนื่องจากทำให้เห็นชีวิตและโลกทั้งหมดในความหมายที่ต่างไปจากเดิม อาจจะเป็นการมีมุมมองแบบใหม่ หรือมีมุมมองเดิมแต่ลึกซึ้งขึ้น (เช่นในตัวอย่างที่ยกมา) และสิ่งนี้ก็มีผลต่อการปฏิบัติตนต่อไป ทั้งนี้ สมรรถนะในแบบที่สองเกิดได้กับบุคคลทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องมีการฝึกฝนพิเศษ อย่างไรก็ตาม การทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะเจาะระหว่างความคิดและความรู้สึกกระทั่งเกิดผลในระดับอัตถิภาวะนี้ดูจะมิใช่สิ่งที่สามารถทำให้เกิดอย่างจงใจได้ง่ายนัก