ข้อพิจารณาเกี่ยวกับนิยามสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ (3)

เน้นมิติความรู้สึกตามกรอบการทำงานที่สังเคราะห์ในข้อ 3) ขณะที่อีกสองท่านที่เหลือแยกสติปัญญาออกมาต่างหาก ถ้ายอมรับตามกรอบการทำงานที่สังเคราะห์ว่าด้านจิตครอบคลุมความคิดและความรู้สึก และในระหว่างสองท่านที่เหลือนี้ ภิรมย์ กมลรัตนกุลและวิโรจน์ เจียมจรัสรังสี วางน้ำหนักไว้ที่จิตด้านความคิด แต่โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ วางน้ำหนักไว้ที่จิตวิญญาณ

ถ้าเรายึดถือตามที่ว่าไว้ท้ายข้อ 2 ว่าจิตวิญญาณซึ่งเป็นเรื่องของการเห็นความหมายโดยรวมของชีวิตและการเลือกคุณค่านั้นอยู่ในระดับสูงกว่าสติปัญญา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยสติปัญญา เราควรจะมองความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญากับจิตวิญญาณอย่างไรดี หรือเราจะกล่าวอย่างที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า “สมองสองซีก” นั่นคือ จิตวิญญาณมากไปกว่าสติปัญญา เนื่องจากเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างด้านความคิดและความรู้สึก หากเป็นเช่นนี้ จะทำให้จิตวิญญาณไม่ต่างไปจาก “จิต” ตามกรอบการทำงานที่สังเคราะห์ใช่หรือไม่

มีวิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจจิตวิญญาณเพื่อให้เป็นสมรรถนะ (หรืออินทรีย์) ที่มีอยู่ต่างหาก ก็คือการอาศัยคำอธิบายแนวศาสนาที่บอกว่ามนุษย์มีสมรรถนะอื่น ๆ นอกเหนือจากสมรรถนะทางกายและจิต (ในความหมายที่จำกัดกับความคิดและความรู้สึก) เช่น สมรรถนะที่ทำให้เข้า ฌาณได้ ส่วนหนึ่ง ประเวศ วะสี น่าจะใช้แนวทางนี้เนื่องจากอาศัยพระพุทธศาสนามาเป็นกรอบการทำงานแต่ผลที่ตามมาก็คือ อาจจะทำให้ยกกรอบความคิดของศาสนาหนึ่ง ๆ มาทั้งหมดเพื่อที่จะเข้าใจและพัฒนาสมรรถนะนั้น หากเป็นเช่นนั้น คำตอบเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณอาจจะกลายเป็นว่า “จงเป็นศาสนิกที่ดี”

ปัญหาจะมีมากถ้าบุคคลเป็นศาสนิกของศาสนาอื่น ๆ ปัญหาอีกประการก็คือถ้ารับตามนี้ เราไม่จำเป็นต้องรับว่าจิตวิญญาณเป็นองค์รวม และไม่จำเป็นต้องรับว่าจิตวิญญาณมีหน้าที่ในการหาความหมายของชีวิต การเห็นความหมายนี้อาจเป็นผลของการทำงานของจิตวิญญาณ แต่ไม่ใช่เป้าหมาย ตัวเป้าหมายอาจเป็นอย่างอื่น เช่น รับฟังพระเป็นเจ้า หรือขจัดกิเลส

ประเด็นที่ ๒ : การทำความเข้าใจสุขภาวะทางจิตวิญญาณตามรูปแบบ ๔ นั้นทำให้เห็นว่าสุขภาวะด้านจิตวิญญาณดูจะมาแทนที่สุขภาวะของบุคคล (ลองเทียบกับรูปแบบ ๓) คำถามที่ตามมาก็คือ “สุขภาวะด้านจิตวิญญาณ” คือ “สุขภาวะ (โดยรวม) ของบุคคล” ใช่หรือไม่ คำตอบอาจจะเป็นไม่ใช่ เพราะนิยามที่ทำให้สุขภาวะด้านจิตวิญญาณสัมพันธ์กับการเห็นความหมายของชีวิต รวมถึงลักษณะของสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เป็น “องค์รวม” ทำให้สุขภาวะด้านจิตวิญญาณต่างไปจากสุขภาวะของบุคคล นั่นคือ ภาวะอันสัมพันธ์กับการเห็นความหมายของชีวิต ไม่จำเป็นต้องไปในทางเดียวกับภาวะด้านอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น มีหลายกรณีที่คนมี “สุข-ภาวะ” ด้านจิตวิญญาณ หรือเห็นความหมายของชีวิต ก็ด้วยว่าภาวะด้านอื่น ๆ เสียไป เช่น มีโรคภัย (หรือถ้าอ่านวรรณกรรมหรือดูภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง ผู้ที่เข้าถึงความหมายของชีวิตได้ดีกลับเป็นคนที่มีภาวะทางจิตไม่ปกติ) นอกจากนี้ ดังที่อภิปรายข้างต้นแล้ว การยึดถือว่าภาวะด้านจิตวิญญาณเป็นองค์รวมที่มากไปกว่าผลรวม ทำให้ภาวะด้านจิตวิญญาณมีความเป็นเอกเทศ แม้อาจจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็อยู่ในสถานะที่แปลกแยกออกไปจากภาวะด้านอื่น ๆ ได้

มีอีกคำถามที่ตามมาว่าแล้วสุขภาวะของบุคคลจะอยู่ที่ไหน หรือต้องนิยามใหม่ว่าสุขภาวะของบุคคลเป็นผลรวมของสุขภาวะด้านกาย ด้านจิต และด้านสังคม ขณะที่สุขภาวะด้านจิตวิญญาณเป็นองค์รวมที่มีองค์ประกอบส่วนหนึ่งครอบคลุมถึงสุขภาวะของบุคคล ซึ่งเป็นผลมาจากสุขภาวะด้านอื่น ๆ อีกต่อหนึ่ง ข้อนี้ทำให้ชัดขึ้นมาว่าความเป็นองค์รวมของภาวะด้านจิตวิญญาณนั้น ทำให้ภาวะด้านนี้ต้องเกี่ยวพันกับสิ่งต่าง ๆ มากไปกว่าสถานะสุขภาวะด้านอื่น ๆ (หรืออีกนัยหนึ่ง มากไปกว่าสุขภาวะของบุคคล) อาจกล่าวตรงนี้ว่าหน้าที่สำคัญของสมรรถนะด้านจิตวิญญาณคือการให้ความหมายแก่สิ่งต่าง ๆ ในชีวิต จนกระทั่งเกิดเป็นความหมายองค์รวม โดยความหมายนี้เป็นเอกเทศไปจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นในลักษณะที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ชุดเดียวกัน จิตวิญญาณสามารถให้ความหมายที่แตกต่างกันไปได้หากยึดทางออกนี้ “จิตวิญญาณ” ก็จะเป็นเรื่องของการดำรงอยู่ทั้งมวลทำให้เรียกอีกอย่างได้ว่าเป็น “ตัวตน” ของบุคคล แน่นอนจุดนี้ทำให้ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งในที่มาของความหมายในชีวิตของคนหลายคน

ประเด็น ๓ : ถ้ายึดกรอบการทำงานที่แยกระหว่าง “ภาวะ” และ “สมรรถนะ” เราจะทำความเข้าใจ “จิตวิญญาณ” อย่างไรดี บนเงื่อนไขที่ว่า “จิตวิญญาณ” เป็น “องค์รวม” หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าจิตวิญญาณเป็นทั้งภาวะและสมรรถนะ เราจะทำความเข้าใจอย่างไร ความเป็นองค์รวมนั้นอธิบายความเป็นภาวะได้ แต่สำหรับความเป็นสมรรถนะ (ในฐานะของอินทรีย์) นั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะทำความเข้าใจอย่างไร เบื้องต้น หากพิจารณาร่วมกับประเด็น ๑ ก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะยึดถือว่า “จิตวิญญาณ” เป็นภาวะเท่านั้น เป็นภาวะเนื่องจากการเห็นความหมายของชีวิต โดยภาวะนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างความคิดและความรู้สึก