คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 26

ทัศนคติของผู้พิพากษาที่มุ่งมองไปที่คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านี้โดยตรง ทัศนคติดังกล่าวมีพื้นฐานจากความเป็นนักวิชาชีพ อันแยกไม่ขาดจากความเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ ยังมีพื้นฐานจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วย การปฏิสัมพันธ์กับคู่ความ จำเลย หรือผู้ต้องโทษนั้นเป็นไปบนพื้นฐานแห่งความรู้จักในปัจเจกภาพ รวมถึงความเคารพในฐานะผู้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติของความรู้ความเข้าใจ อันเป็นฐานแห่งการตัดสินใจและรับผิดชอบ

มาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules)

การวิเคราะห์ความสอดคล้องของการสังเคราะห์ความรู้ในส่วนของบุคลากรกับมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ กล่าวได้ว่ามีข้อควรระวัง กล่าวคือ เป้าหมายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มิใช่เป็นเรื่องของการสำรวจ วิเคราะห์ หรือประเมินผลการนำมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาปฏิบัติ แต่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประสบการณ์ของบุคลากรในด้านของการส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่าองค์ประกอบจากการสังเคราะห์ความรู้ที่สอดคล้องกับข้อต่างๆ ในมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ นั้น อยู่ในส่วนขององค์ประกอบเรื่องงานที่บุคลากรปฏิบัติ ไม่ว่าจะอยู่ในขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง คาบเกี่ยว หรือเกินขอบเขตหน้าที่ดังกล่าวไป

ดังนั้น การนำเสนอความสอดคล้องระหว่างการสังเคราะห์ความรู้ในส่วนนี้กับมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ จะพบว่าเป็นเรื่องของการทำงานเป็นสำคัญ และพบในขณะเดียวกันว่าการทำงานที่ว่านั้นมิได้ครอบคลุมทุกข้อกำหนดในมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ข้อนี้จึงอาจทำให้ไขว้เขวไปได้ว่าการทำงานของบุคลากรมิได้ครอบคลุมมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นข้อควรระวัง โดยต้องตระหนักถึงเป้าหมายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของบุคลากรดังกล่าวไว้แล้ว

นอกจากข้อควรระวังดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อตกลงเบื้องต้นอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ความสอดคล้องกับมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ที่พบในส่วนของการทำงานของบุคลากรนั้น จะนำเสนอครอบคลุมทั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้พิพากษาไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ข้อมูลในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้พิพากษานั้น แม้จะมีบางส่วนที่กล่าวถึงผู้ต้องขังหญิง แต่โดยภาพรวม มิได้เจาะจงที่ผู้ต้องขังหญิงเสียทีเดียว ในการพิจารณาความสอดคล้องกับมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ จึงเลือกเฉพาะข้อมูลที่ดูน่าจะอนุโลมเข้ากับผู้ต้องขังหญิงได้ และเช่นเดียวกันกับในส่วนของผู้ต้องขัง ความสอดคล้องระหว่างข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ที่พบในส่วนนี้บางข้อมิได้ครอบคลุมทุกรายละเอียดในข้อกำหนดที่ระบุ

มาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ที่สอดคล้องกับข้อมูลการปฏิบัติงานพบได้ ดังนี้

การดูแลด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

o ข้อกำหนดที่ 2: ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ต้องให้คำแนะนำต่างๆ แก่ผู้ต้องขังเกี่ยวกับกฎระเบียบเรือนจำและการขอคำปรึกษาทางกฎหมาย นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวรวมถึงส่วนของบทบาทผู้พิพากษาในการแสวงหาทางออกของคดี โดยอาศัยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การจำคุก

การดูแลด้านสุขภาพกาย

o ข้อกำหนดที่ 14: ในส่วนของการให้การดูแลรักษาผู้ต้องขังที่มีเชื้อเอชไอวี

การดูแลด้านสุขภาพจิต

o ข้อกำหนดที่ 12: ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ให้การดูแลและเยียวยาสุขภาพจิตในลักษณะที่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะบุคคลของผู้ต้องขัง

o ข้อกำหนดที่ 13: ความตระหนักของเจ้าหน้าที่เรือนจำว่าช่วงเวลาใดผู้ต้องขังจำเป็นต้องได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงขณะที่ก่อความเครียดหรือหดหู่ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดูและและช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม

o ข้อกำหนดที่ 16: ในส่วนของการให้มีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ดูแลสุขภาพจิตเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตนเองของผู้ต้องขังหญิง

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังมีเรื่องของการส่งเสริมเจ้าหน้าที่เรือนจำซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดในมาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพฯ ดังนี้

o ข้อกำหนดที่ 29: เรื่องของการพัฒนาบุคลากรในเรือนจำเพื่อให้สามารถช่วยผู้ต้องขังหญิงพัฒนาตนและสามารถกลับสู่สังคมได้ รวมถึงในส่วนของการขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นและมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการพัฒนาการการปฏิบัติต่อและการดูแลผู้ต้องขังหญิง