คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 18

หนูจะรับเฝ้าเอง หนูจะรับผิดชอบเอง เขาก็บอกว่าได้ๆ ก็เลยพาเด็กเข้าไปเจาะเลือด ให้น้ำเกลือ ไปตามขั้นตอน…ที่นี้พอจัดเจ้าหน้าที่มาเฝ้า มันกลับกลายเราได้รับสิ่งที่เราได้รับอีกแบบหนึ่ง คือไม่ได้โล่งใจเลย กลับถูกด่ายับเลย หาเรื่อง ใครเฝ้าก็เฝ้าเราไม่เฝ้า ลูกเรายังเล็กอยู่ ใครจะเฝ้าเราก็ฝาก เราเฝ้าไม่เป็นหรอก ขี้เกียจไปเช็ดขี้ลูกผู้ต้องขัง ต่างๆ ที่เราโดนเยอะมาก…เข้าใจ ก็มีน้องบางคนที่เข้าใจ…คนที่เป็นผู้ใหญ่ก็มาช่วยเฝ้า มาช่วยกันก็นานนะ เด็กอยู่เป็น 10 วันเลย หนูก็เฝ้าทุกวันเกือบทุกวันเลย…พอเฝ้าไปๆ นอนบนเตียงเลย เด็กถ่ายเต็ม หนูก็เปียกไปหมดคือท้องเสียอย่างแรง พอเด็กอึมาก็มาที่ตัวเราด้วย ดูแล้วถ้าเขาไม่รู้ว่าเป็นใครก็คิดว่าเป็นแม่นอนอยู่ด้วย…กว่าเขาจะดีขึ้นหนูไม่ได้กลับบ้านเลย…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)

ตัวอย่างแบบที่สองเป็นการดูแลทางสุขภาพจิต

…เราก็เห็นว่าเขาท่าไม่ดีก็เอาไปพบจิตแพทย์ แพทย์บอกว่าเขาป่วยเป็นจิตเวชแล้ว หมอก็ให้ยาเขากิน สักเดือนหนึ่ง เขาก็มีอาการ เขาคิดฆ่าตัวตายทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ครั้งแรกผูกคอตายที่ราวตากผ้า ผู้ช่วยไปเห็น ก็ทำเรื่องย้ายห้อง ไปนอนที่ห้องผู้ช่วยงานกลางคืนก็ผูกคอตายอีก โดยใช้ผ้าถุงและก็ไปทำร้ายตัวเองอีก 2-3 ครั้ง ผู้ช่วยก็บอกว่าไม่ได้แล้วผู้ต้องขังดื้อด้านต้องจำตรวนแล้ว ก็สั่งมา ว่าผู้ต้องหาต้องจำตรวน…ผู้ป่วยจิตเวชเวลาล่ามโซ่เขาจากที่เขามีอาการดีๆจะมีการเอะอะอาระวาด โวยวาย จะร้องกรี๊ด…ที่เขากรี๊ด เพราะว่าเขาเจ็บ…เขาก็ตบขาเขาแล้วก็กรี๊ด ยิ่งกรี๊ดทำให้เขาเป็นหนักมากขึ้น ล่ามโซ่ติดกับทางเดินไปมา เราเห็นรู้สึกสงสาร…เห็นท่าของเขาก็ไปคุยกับเจ้าหน้าที่คนนั้นว่าพี่คะวันนี้ไม่ล่ามโซ่ได้ไหม เขาตอบว่าถ้าไม่ล่ามโซ่เกิดอะไรขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ เราก็บอกว่าวันนี้ เรามี case แค่ 2 case ถ้าเสร็จแล้วเราขอดูแลผู้ต้องขังคนนี้นะ พอพูดเสร็จเข้าเขาก็ตกลง เขาก็ยื่นกุญแจมาให้…เราก็ไปไขมา และก็จับมือเขาขึ้นมาบอกว่าไม่เป็นไรแล้วแม่ เขาก็มองและก็จูงมือเขา ตบไหล่เขาเบาๆ ว่าไม่เป็นไรแล้วแม่…ทุกครั้งเวลาเราเสร็จงานแล้วก็จะเอาผู้ต้องขังคนนี้ไปไว้กับเรา…เราก็เห็นท่าเขาไม่ดีว่ายังไงๆ เขาก็เป็นผู้ป่วยจิตเวช ต้องเอาเขาไปรักษาที่อื่น ก็เรียนปรึกษาคุณหมอฯ ว่าจะเอาไปรักษาได้ไหม คุณหมอก็ทำเรื่อง Refer ให้ ก็ส่งไปที่สวนปรุง…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 3)

การดูแลยังครอบคลุมไปถึงมิติทางความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ได้แก่ การยอมรับทางสังคม เช่น

…พอเวลาที่เค้าไปตรวจเลือดที่สถานพยาบาล ผลออกมาก็คือ เค้าติดเชื้อ HIV ช่วงนั้นเราไม่อยู่…เขาดรอปทุกอย่าง เอาแต่ร้องไห้ ขอย้ายห้องไปอยู่ห้องคนป่วย คนติดเชื้อนะคะ พอเรากลับมา น้องก็เล่าให้ฟัง เราก็เลยเรียกมาคุย เค้าก็ลดจากความดิ้นทุรนทุรายนะ คนที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อจะเป็นอย่างนี้ทุกคนนะคะ ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม คือเค้าจะทุรนทุราย ไม่มีความสุข ก็เลยคุยๆๆๆ สรุปก็คือ เค้ากลัวเรารังเกียจเค้า ล่าสุดก่อนที่จะเค้าจะรู้ผลเลือดก็คือ เค้าได้เป็นหัวหน้าบ้านนะคะ ซึ่งทุกคนโหวตให้ และก็เป็นกำลังใจ…แต่หลังจากที่รู้ผลเลือด ทิ้งหมดเลย ไม่เป็นไม่เอา ก็ต้องมาสร้างกำลังใจกันใหม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้รังเกียจนะ ก็คือยังคงอยู่ใกล้กันเหมือนเดิม แตะตัวกันได้นะ เอาน้ำมาสิ นายกล้ากินนะ ไม่รังเกียจ เค้าก็ค่อยๆ ดีขึ้น…เพราะเราให้ความไว้วางใจ และรักเค้าอย่างที่เค้าต้องการ เค้าต้องการความรักจากเรา พื้นฐานของพวกที่เสพยา เค้าจะขาดความมั่นใจในตัวเอง เค้าจะต้องการการยอมรับจากเรา จากคนรอบข้าง จากคนที่เค้าคิดว่าเค้ารัก ต้องยอมรับเค้า ต้องเข้าใจข้อนี้ ก็เลยต้องมอบความรักให้เค้า (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)