คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 15

การทำให้ตนเองกับอุดมการณ์กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือ บรรลุสู่ “บูรณภาพ” (integrity) ที่บางครั้งแปลว่า “ซื่อสัตย์มั่นคงในหลักการ” เมื่อถึงจุดนั้น การกระทำเพื่อตนเองก็ไม่ต่างจากการกระทำเพื่อวิชาชีพ และการกระทำเพื่อวิชาชีพก็ไม่ต่างจากการกระทำเพื่อตนเอง

อีกประการหนึ่งที่กรณีนี้ช่วยชี้ให้เห็นคือนอกจากแรงผลักดันจากอุดมการณ์ที่ช่วยให้มองผ่านคุณค่าของผู้ต้องขังในฐานะปัจเจกบุคคลไปสู่คุณค่าของเขาในฐานะมนุษย์ได้ในกรณีของนักวิชาชีพแล้ว สิ่งที่ผลักดันให้ช่วยเหลือผู้ต้องขังในกรณีของเจ้าหน้าที่ท่านนี้ก็คือความเห็นอกเห็นใจ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อีกท่านที่กล่าวว่า

…เราต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ เราคลุกคลีกับผู้ต้องขังโดยตรงอยู่แล้ว เราก็ต้องเหมือนกับเป็นกำลังหลักให้กับผู้ต้องขัง เพราะเราต้องเผชิญหน้ากันทุกวัน มันเลือกไม่ได้ เราปฏิเสธเขาเราทำไม่ได้ ทุกอย่างที่เขาเข้ามาเขาต้องการ ให้เราแก้ไขอยู่แล้ว เราต้องยอมรับในสิ่งที่เขาจะให้เราแก้ไข เราต้องทำได้ เราต้องคิดว่าเขาไม่ใช่คนร้าย เราต้องเปิดใจ ถ้าเป็นคนแก่ๆ ก็นึกถึงและเข้าใจรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ทำไมเราถึงไปกีดกั้นเขา ไปด่าเขา ก็ไม่ใช่ มีปัญหาเราก็เปิดใจคุยกันและช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ค่ะ มองให้เป็นคนใกล้ชิดเรา (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)

ข้อความนี้แสดงว่าความเห็นอกเห็นใจอาจได้มาจากความพยายามในการรู้สึกร่วม เช่น การมองโดยอาศัยเทียบเคียงกับ “รุ่นพ่อรุ่นแม่” เพื่อทำให้ตระหนักถึง “ความเป็นคนเหมือนกัน” หรือความมีลักษณะร่วมกับคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังแสดงองค์ประกอบของสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่อีกด้วย สำนึกดังกล่าวน่าจะเทียบเคียงกับสำนึกในอุดมการณ์วิชาชีพ แต่ก็ไม่ทั้งหมดเนื่องจาก “หน้าที่” ไม่จำเป็นต้องเป็นไปเพื่อการทำให้คุณค่าอุดมคติใดเป็นจริงเสมอไป ต่างจากอุดมการณ์วิชาชีพที่มุ่งสู่คุณค่าเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ลองพิจารณาคำกล่าวนี้

…คิดว่ามันมีหลายฝ่ายนะในเรือนจำ ก็เริ่มซึมซับเข้าไปแล้วว่างานเรือนจำใช่แล้ว…พ่ออยากให้เราทำอะไรก็แล้วแต่ที่สามารถเปลี่ยนคนจากคนที่อยู่ข้างใน ที่บอกว่าเป็นคนไม่ดี ไปอยู่ข้างนอกได้ ไปบอกท่านผู้อำนวยการว่าถ้าหนูอยู่ฝ่ายบริหารมา…ปีแล้วนะคะ หนูขอเปลี่ยนงาน ตัดสินใจเปลี่ยนงานโดยที่ตัวเองไม่เคยเข้าไปอยู่ข้างใน เคยอยู่แต่ฝ่ายบริหารมาตลอด…เข้าไปตอนแรกท่านให้ไปอยู่ตำแหน่งหัวหน้างานปกครอง…เริ่มรู้ว่าตัวเองใช่ ชอบที่จะอยู่ข้างใน ชอบที่จะมาเข้าเวร ชอบพูดคุยกับผู้ต้องขัง ชอบรับรู้ปัญหาของเขา ถึงแม้ว่าบางคนเขาโกหกเรา บางคนเป็นเรื่องจริงที่เขาพูด เราก็ต้องเริ่มศึกษาคน ซึ่งอยู่เป็นพันคนข้างใน…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)