คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 13

ความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานตามวิชาชีพของตนท่ามกลางอุปสรรคระดับโครงสร้างการทำงานที่มิได้เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ เมื่อโครงสร้างเปลี่ยน อุปสรรคดังกล่าวจึงหมดไป ดังที่ว่า

…ต่อมากรมก็มีหนังสือมาให้เรือนจำต่างๆ มีนักสังคมสงเคราะห์ ปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงตามตำแหน่ง เพราะว่าถ้าไม่ทำตรงตามตำแหน่งก็จะยึดตำแหน่งเรา ก็จะเปลี่ยนสายงานเรา เราก็ได้มาทำงาน ก็เริ่มนับหนึ่ง อย่างที่บอกว่าเรียนมากับทำงานจริงมันไม่ใช่ ก็ค่อยๆ ศึกษาไป แต่สิ่งหนึ่งก็คือมาคนเดียว แต่ไม่ใช่ตัวคนเดียว เราก็เป็นตัวประหลาดของฝ่ายทรัพยากร…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)

แต่ก็ยังพบอุปสรรคอื่นอีก นั่นคือ ความเข้าใจลักษณะงานของบุคลากรอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่นจึงสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายวิชาชีพได้ในที่สุด โดยได้เลื่อนชั้นเป็นหัวหน้างานและถ่ายทอดอุดมการณ์การทำงานเพื่อให้

…มีความคิดและทัศนคติเหมือนเราในการทำงานแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง ที่ไม่ใช่ว่าผู้ต้องขังที่เข้ามาในเรือนจำแล้วต้องเป็นคนผิดคนเลว เหมือนกันทุกคน มันมีสาเหตุมีภูมิหลัง มี background มา ต่างๆ นาๆ ฉะนั้นในวิชาความรู้ ในเนื้อหางาน ที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้เราก็ต้องทำอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็มองเขาว่าเขาไม่ใช่คนเลว เขาไม่ใช่คนที่แก้ไขไม่ได้ คงไม่มีที่อยากจะเลวตั้งแต่เกิด ต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเข้ามาอยู่ในเรือนจำ…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)

คำกล่าวข้างต้นอันมีจุดสนใจที่อุดมการณ์ของนักสังคมสงเคราะห์ครอบคลุมถึงการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องขัง ได้แก่ การแก้ไขฟื้นฟู รวมถึงทัศนคติแห่งการเคารพในศักดิ์ศรีของผู้ต้องขังในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นคำกล่าวที่สะท้อนชัดเจนถึงการแบ่งแยกระหว่างคุณค่าของมนุษย์และคุณค่าของปัจเจกบุคคล โดยทัศนคติแห่งนักวิชาชีพช่วยให้มองทะลุคุณค่าอันนิยามด้วยการกระทำผิดหรือความผิดพลาดของผู้ต้องขังในฐานะปัจเจกบุคคลไปสู่คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของเขา