คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 9

มีประเภทของงานที่เป็นการริเริ่มของตัวผู้ต้องขังเอง เช่น

…อยู่ข้างนอกเราอาจไม่มีอะไร แต่นี่เรามีอะไรอาจไม่ใช่สิ่งของแต่มีกำลังใจ หรือสอนอะไรให้เพื่อนได้ สิ่งที่แนะนำได้ เราก็บอกก็แนะนำได้ คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นแต่เรารู้สึกว่าเราเท่ เราได้บอกเค้าสอนเค้า อย่างที่บอกว่ามีเด็กอิสลามเค้าไม่ได้เรียน เค้ายังเด็ก เค้าอยากเรียน ก็สอนให้ มันอาจไม่ใช่โครงการอะไรของราชทัณฑ์ แต่เป็นโครงการของเราเอง บอกว่าอยากเรียนมาลงทะเบียนกับเรานี่ เค้าก็เรียกเราอาจารย์ ลูกพี่อะไรพวกนี้เรารู้สึกดี เท่ดี มันสนุก และมีความสุข การที่เรามีคุณค่าขึ้นเรารู้สึกมีประโยชน์ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็อยากมีประโยชน์นะคะ ก็ทำซะเลยดีกว่า (ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 2)

อย่างไรก็ตาม มิใช่เรื่องความสำเร็จในการงานเท่านั้นที่ทำให้เกิดความตระหนักในคุณค่า ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นก็มีบทบาทนี้ ตัวอย่างในข้อความต่อไปนี้เป็นเรื่องของการได้ตอบสนองต่อความทุกข์ยากของผู้อื่น

รู้สึกว่าที่นี่สอนให้เราเป็นคนมากขึ้น จากที่เป็นคนใจร้อนอยากได้อะไรต้องได้ ไม่สนใจน้องไม่สนใจแม่ เอาตัวเองเป็นหลักเลย แต่มาอยู่ที่นี่ได้เรียนรู้คนอื่น คนที่มีความทุกข์ คนที่เค้าอยากให้เราช่วยเหลือ กลายเป็นว่าเรามีคุณค่ามากขึ้น สามารถช่วยคนนั้นคลายทุกข์ได้บ้าง คนแก่ๆ พยาบาลนี่ เค้าจะชอบเรียก เท่ากับว่าในนี้สอนให้เราเป็นคนมากขึ้น (ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 2)

อีกสิ่งที่พบว่ามีบทบาทในการสร้างเสริมความตระหนักในคุณค่าของตนเองก็คือความสามารถในการเอาชนะข้อจำกัดส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น

…ทำให้เสร็จก่อน ข้างหน้ามันมีอะไรรอเราอยู่แล้ว บางทีก็ท้อนะ บางวันนอนแบบไม่อยากเอาอะไร ว่าทำไมเราถึงเหนื่อยนะ คนอื่นเค้ามีญาติได้หยุดอะไรอย่างนี้ แต่เราไม่มี ไม่ได้หยุดนะ พอคิดไปคิดมา ก็คิดได้อีกว่าคนเรามีได้ด้วยตัวเรา ไม่ได้จำเป็นต้องมีคนหยิบยื่นให้ ก็ภูมิใจตัวเองที่ทำให้มีเท่าเทียมคนอื่นได้ด้วยตัวเองที่เค้ามีอยู่แล้ว ภูมิใจตรงนี้มากกว่า บางคนที่มีญาติยังมีได้ไม่เท่าเรา… (ลปรร.ผู้ต้องขังหญิง ครั้งที่ 2)