พรุ่งนี้…ก็ทำได้เลย (ต่อ)

“…จุดหนึ่งที่คุยกับเด็ก คือเด็กไม่ชอบเรียนภาษาไทย มันต้องอ่านเยอะ ต้องเขียนมาก นี่คือสิ่งที่เด็กบอก เรามานั่งมองว่า เราอยากให้เด็กเรียนภาษาไทยอย่างสนุก และชอบเรียน เราจะทำอย่างไร ภาษาไทยเป็นภาษาพื้นฐาน ที่เด็กจะต้องเอาไปเรียนรู้วิชาต่างๆ ก็เริ่มวิธีการของตัวเอง เพราะตัวเองเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่ในห้องเรียน ก็เก็บหนังสือเลย ไม่ใช้หนังสือ เก็บหนังสือเลย จนเด็กต้องถามว่า ‘ครู เมื่อไรจะได้อ่านหนังสือสักที’ ‘เมื่อไรจะได้เรียนหนังสือสักที’ เราก็จะบอกเด็กว่า “หนังสือเขามีไว้ให้อ่าน ไม่ได้มีไว้ให้เรียน เธอมีอยู่แล้วทุกคนที่บ้าน ก็อ่านไปสิ อยากอ่านเรื่องไหนก็อ่านไป ครูไม่ใช้หนังสือ หนังสือมีไว้ให้เธออ่านที่บ้าน หรือมาอ่านที่โรงเรียนก็ได้ ครูก็จะพาออกไปที่แหล่งเรียนรู้ใน ร.ร. …”

 

ชิสากัญญ์ พลายด้วง ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

จากกระบวนการ AAR หรือคุยกับนักเรียน

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

นักเรียนเขียนบันทึก

“… ให้เด็กเขียนเป็นประวัติรายบุคคลของชั้นตัวเอง ถามว่าอยู่กับใคร รักใครมากที่สุด ไว้ใจใครมากที่สุด เพราะอะไร เราจะมีข้อมูลพื้นฐานของเด็กที่ครูเอาไว้ดู เพราะตรงนั้นจะบอกได้ว่า เด็กเรามีปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาการเรียนเราก็ดูได้ อย่างเด็กเขียนไม่ได้ ตอบคำถามไม่ได้ แสดงว่ามีปัญหาการเรียนแล้ว แล้วก็จะดูประวัติครอบครัว เด็กที่โรงเรียนจะไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ จะอยู่กับปู่ย่าน้าอาลุง เพราะว่าครอบครัวแตกแยก บางทีก็เอามาฝากไว้ บางทีก็ไม่เคยเห็นพ่อแม่เลย ตรงนั้นเขาจะเขียนเอาไว้ เราก็จะดูและศึกษาเด็กจากตรงนั้นได้ ถ้าหากว่าเป็นบันทึกก็จะจดไว้เหมือนกันว่าต้องทำอะไร…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

นักเรียนประเมินตัวเอง

“…ตอนแบ่งกลุ่ม เราจะให้เด็กประเมินตนเอง ใครคิดว่าตัวเองอ่านเก่ง อ่านคล่อง เขียนคล่อง ให้ประเมินตัวเอง ไม่ต้องให้เพื่อนบอก เราน่าจะรู้ตัวเรา ว่าเราน่าจะอยู่ระดับเก่งของห้อง เขาจะประเมินตนเอง เขาก็ออกมา ที่เหลือใครว่าตัวเองพอได้ ก็ออกมาอยู่คนละมุมห้องกัน ใครที่ไม่ได้เลย” ก็จะกองกันอยู่กลุ่มหนึ่ง ทีนี้เวลาเราแบ่งกลุ่ม เราจะให้คนเก่งออกมายืน เราต้องการกี่กลุ่ม ต้องการ ๖ กลุ่ม ก็ให้คนเก่งมายืน ๖ กลุ่ม ที่เหลือเกิน ๖ เราก็ใส่เข้าไป พอกลุ่มกลาง ก็ให้คนเก่งเลือกคนที่อยู่ระดับกลาง ตามใจชอบ อยากได้ใครก็ให้เลือกมา เขาก็จะเลือกกันเข้ามา…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

เพื่อนนักเรียน

“…ครูจะมีบทบาทของครู แต่ถ้านอกห้องเรียนเราจะเป็นเพื่อนกัน เล่นกันได้ เราคุยกันได้ มีปัญหาปรึกษาครูได้ เพราะฉะนั้นนอกห้องเรียนเขาจะชอบเล่นกับครู ครูก็ชอบเล่น ชอบแหย่ เหมือนจะไม่สุภาพ แต่เราไม่ได้ทำกันจริงจัง ไล่เตะกัน ทึ้งกันบ้าง กอดกันบ้าง เป็นความสนิทสนม เราให้ความรักกับเขา เขาจะเชื่อเรา จะวางใจ จะเล่าเรื่องของครอบครัว พอเพื่อนคนหนึ่งคนใดมีปัญหา เขาจะช่วย เขาจะมาเล่าพื้นฐานทางครอบครัวของเพื่อนให้เราฟังเอง ‘บี้ มันน่าสงสารตรงนี้ พ่อแม่มันไปทำงานกันหมด ทิ้งมันคนเดียวนะครู’ เราจะรู้แล้วว่าเด็กเป็นอย่างไร เป็นเพราะความใกล้ชิด เราอยู่กับเขา และเปิดให้พูด อยากเล่าอะไรก็เล่า ไม่ขัด ไม่ดุ ไม่ตำหนิ ไม่ว่า แต่จะสอน จะชี้ ตรงนี้จะทำให้เด็กไว้ใจเรา และทำให้เรารู้ทุกคนที่เป็นลูกศิษย์ในมือของเรา…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

เชียร์ให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจ

“…หนูทำได้ ทำเหอะไม่ผิด จะบอกเขาตลอดว่า ทำเถอะ ลองทำดู อันนี้คือการที่หนูมาทำร่วมกับเพื่อน มันอาจจะหวานน้อยไปหน่อย หรืออาจจะแข็งไปหน่อย ไม่เป็นไรทำเถอะ ส่วนไหนที่ไม่ดีให้บอกครู ขณะนั้นเลย…”

บุญเรือน ปิยะมณีพร ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

“…เช้าวันงานพวกพี่ไม่มีโอกาสจะมาเจอเด็ก ต้องขึ้นเวทีดูแลเวที ต้องประเมินนะคะ ทำยังไง เขาบอก ‘คุณครูขาแป๊ปนึงค่ะ’ พวกเขาพร้อมแล้ว นั่งครบแล้วเดี๋ยวจะให้คุณครูดูว่าพวกเราเนี่ย ทำยังไง ถ้าถามจริงๆตอนนั้นแก้อะไรทันไหมก็ไม่ทันเพียงแต่ เพียงแต่จะดูว่าทำอะไรก็ดูว่าอ๋อ ประมาณนี้นะคะ อุ๊ยลูกเก่งมากเลย เยี่ยมมากๆ…”

ไพเราะ เกิดผล ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…ตัวเองจะสลับหัวหน้า หัวหน้าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นมันจะมีคนที่อยากเป็นหัวหน้า ชอบจัดการอย่างเดียว พวกนี้ความมั่นใจสูงมาก และพวกที่ตามก็จะตามอย่างเดียว เพื่อนว่าอะไรก็ตามเพื่อน เราไม่อยากเห็นแบบนี้ อยากเห็นพฤติกรรมที่แบบว่า เพื่อนก็ฟังฉันได้เหมือนกัน ก็เลยให้เขาเวียน แรกๆ มีปัญหา เด็กเครียด ‘หนูไม่อยากเป็นหัวหน้า’ เพราะหัวหน้าต้องคอยดูแลลูกน้อง ก็เลยบอกว่า ‘หนูต้องแสดงตัวเองนะ หนูคิดอะไรบอกเพื่อน เพื่อนจะได้เข้าใจ’ บางคนมีลักษณะเกรงใจมาก เหมือนหัวหน้ากลายเป็นลูกน้อง ลูกน้องกลายเป็นหัวหน้า คืออยากให้เขาแสดงออกมา พอผ่านไปได้สัก ๒ สัปดาห์ เขาก็เลยเข้ามาคุยกับเรา ‘ครูคะ ตอนนี้หนูไม่กลัวแล้ว กับการเป็นหัวหน้า หนูปรับตัวได้แล้ว’ เขาพูดของเขาออกมานะคะ เราก็คิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เรามั่นใจ เราเห็นพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของเขา แทนที่เราจะตามใจเขา เขาตามใจเพื่อนอย่างเดียว ไม่เป็นไรค่ะๆ กับกลายเป็นว่าฟังฉันบ้าง ฉันฟังเธอบ้าง…”

แสงรวี พิณสุวรรณ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ