ปฏิรูปการศึกษา ภาคลงมือทำจริง (11) พรุ่งนี้…ก็ทำได้เลย (ต่อ)

เมื่อกลับมาที่ห้องเรียน ครูแบ่งนร.ออกเป็นกลุ่ม ให้จัดกันเองตามความสมัครใจ แต่มีแผนไว้ในใจอยากให้แต่ละกลุ่มคละกันทั้งเด็กเก่ง เด็กเรียนปานกลางและเด็กอ่อน บอกใครคิดว่าตัวเองเก่งให้ออกมา ใครคิดว่าตัวเองเก่งปานกลางบ้าง จากนั้นให้ นร.เก่งเลือกคนทีมงาน ส่วนคนอ่อนให้สมัครใจเองว่าจะอยู่กลุ่มไหน และครูบอกว่าคนเราต้องช่วยเหลือกัน คนที่เรียนเก่งไม่ได้เท่ากับว่าเก่งทุกเรื่อง คนเราสามารถทำอย่างอื่นเก่งได้เช่นกัน เช่น พูดเก่ง นำเสนอเก่ง ในกลุ่มขอให้มีประธาน ซึ่งเป็นคนที่เพื่อนเชื่อถือ จูงใจให้เพื่อนทำงานเป็นกลุ่มได้ ส่วนเลขาลายมือสวย เขียนไว เพราะต้องจดบันทึก ให้แต่ละกลุ่มเลือกกันเองตามประชาธิปไตย

เด็กๆบอกเจอนู้นเจอนี่ ถ้าไม่พูดครูจะถามต่อ ทำไมบริเวณนี้ไม่ชุ่มชื้น ทำไมไม่มีสัตว์มาอยู่ ครูจะพยายามนำเข้าสู่พระราชดำรัสในหลวงเข้ามา คือ 1) หลักสำคัญต้องมีน้ำใช้อุปโภค 2) ที่ไหนมีน้ำคนอยู่ได้ 3) ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ถามเด็กทั้งสามข้อเชื่อมอย่างไร น้ำตกสอนอะไรเรา ซึ่งเด็กๆ จะคุยกันในกลุ่ม วิเคราะห์แล้วเขียนออกมา ส่งตัวแทนออกมารายงานหน้าห้อง ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของน้ำที่เชื่อมโยงกับพระราชดำรัส ถามเด็กน้ำตกที่จำลองกันมาเหมือนป่าหรือไม่อย่างไร ส่วนหนึ่งก็เคยเห็นมาบ้างจากทีวี ครูตั้งคำถาม ความหมายของป่าคืออะไร ความหมายของต้นไม้ของน้ำไม่ให้ซ้ำกับของเพื่อน คำถามดังกล่าวนี้ทำให้เด็กเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์…”

อุทัยวรรณ ร.ร.วัดสวนส้ม สมุทรปรการ

ผู้เขียนทำตัวหนาหลายประโยค เพื่อให้เห็นว่า สิ่งที่คุณครูทำนั้นมีคุณค่าเพียงใด

“บอกไม่ให้ตอบเหมือนกันกับเพื่อน” คุณครูได้ทำสำเร็จ ฝึกนักเรียนด้านทักษะการเรียนรู้ ในข้อย่อยแรกไปแล้ว คือ ทักษะคิดเชิงวิพากษ์ คิดไม่เหมือนผู้อื่น ต่างคนต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเอง กระตุ้นให้คิดและเด็กๆ หาคำตอบอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อคุณครูขยันถามคำถามปลายเปิด ลงท้ายว่า “อย่างไร” “ทำไม” แน่นอนว่าจะได้คำตอบไปกันคนละทิศคนละทาง ถามทุกวัน เด็กก็ได้ฝึกคิดทุกวัน เช่นเดียวกันครูให้นักเรียน “เล่าให้ฟัง” “เด็กๆ บอกเจอนู้นเจอนี่ ถ้าไม่พูดครูจะถามต่อ” เด็กกำลังฝึกทักษะสื่อสาร เล่าเป็นไม่เป็นไม่เป็นไร แต่ให้มาเล่าให้ฟัง ไม่ได้มาตอบคำตอบตายตัว

“จะได้คำตอบอย่างหลากหลาย” แม้เรื่องเล่ายังไม่ลงรายละเอียด คำว่าหลากหลายสะท้อนถึงการทำงานเป็นทีมไปในตัว “แบ่งนร.ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มคละกัน” ผู้เขียนทำนายว่า เด็กๆ มีการทำงานเป็นทีมและคงโต้เถียงกัน หรืออาจลามไปถึงขั้นทะเลาะกัน ไม่ลงรอยกัน แน่นอนว่า เด็กๆ จะฝึกการประนีประนอมและคืนดีกันก่อนที่จะถึงขั้นฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง

“คนที่เรียนเก่งไม่ได้เท่ากับว่าเก่งทุกเรื่อง” ประโยคนี้สำคัญ นักเรียนได้เรียนรู้ว่าคนที่เรียนเก่งไม่ได้แปลว่าจะต้องเก่งทุกเรื่อง ในการทำงานเป็นทีม เด็กที่เรียนไม่เก่งจะพบว่าตัวเองเก่งบางเรื่องเสมอ

ผู้เขียนปลื้มกับประโยคนี้มาก คนเราไม่มีหรอกที่จะไม่เก่งทุกเรื่อง พอๆ กับไม่มีหรอกที่จะเก่งไปเสียทุกเรื่อง รู้สึกได้ทันทีว่าตัวเองไม่เลวนี่ ฉันก็มีบางอย่างที่ได้เรื่องเหมือนกัน

“ถามเด็กทั้งสามข้อเชื่อมอย่างไร น้ำตกที่จำลองกันมาเหมือนป่าหรือไม่อย่างไร” คำว่าเชื่อม มีความหมายว่า เรากำลังจูงประเด็นจากวิชาหนึ่งไปสู่อีกวิชาหนึ่ง หรือ “ความหมายของป่าคืออะไร ความหมายของต้นไม้ของน้ำไม่ให้ซ้ำกับของเพื่อน คำถามดังกล่าวนี้ทำให้เด็กเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์…” ความสัมพันธ์จะคล้ายๆ คำว่า “เชื่อมโยง” ทักษะการเรียนรู้ที่ดี จะสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งรอบตัวได้อย่างน่ามหัศจรรย์ใจเสมอ เด็กที่ทักษะการเรียนรู้ไม่ดี จะท่องได้ว่าข้อนี้ตอบข้อ ข. ข้อนี้ตอบ ง. โดยไม่เชื่อมกับอะไรๆ ในโลกเลย ทั้งสองคำนี้เข้าใกล้ทักษะ “นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์” ผู้เขียนแอบคิดไม่ได้ว่า เชื่อมคำว่า “เสียสละ ซื่อสัตย์ อดทน ไปสู่ภาวะโลกร้อน” อย่างนี้หรือเปล่านะ ที่หมายถึงการมีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

ถึงตรงนี้ ขอชวนผู้อ่านย้อนกลับไปที่เรื่องเล่าในบทที่ ๓ แล้วลองวงประโยค ที่เห็นว่าคุณครูทำบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงกระตุ้นการเรียนรู้นักเรียนตรงไหนบ้าง

รู้จักเด็กทุกคน

เราคุ้นเคยกับคำนี้ “ประเมิน” เช่น ประเมินผลสอบ ประเมินผลการเรียนรู้ ผู้เขียนขอใช้คำว่า “รู้จัก” เด็ก แทน เพราะเห็นการมีความหมายที่คุณครูประเมินการเรียนรู้ ก็เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่แต่ละคนมีไม่เหมือนและไม่เท่ากัน ผู้เขียนรู้สึกทึ่งปนแปลกใจ คุณครูสามารถรู้จักเด็กทุกคนได้อย่างไร แถมเป็นการรู้จักหลายมิติเสียด้วย รู้มากกว่าว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กเรียนเก่ง เด็กคนนี้อ่านหนังสือไม่ออก แต่รู้ไปถึงพฤติกรรม นิสัย สุขภาพ ความสามารถและความชอบเฉพาะตัว สภาพครอบครัว

 

สังเกตพฤติกรรม ประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง

“…มีนักเรียนมาถามว่า คุณครูจำหนูได้ไหมคะ เราก็บอกว่าจำได้ ชื่อพี่ฝน เลขที่ ๒๑ ป. ๖/๖ นั่งอยู่หลังเสาตัวที่ ๓ นั่งโต๊ะตัวที่ ๓ ติดเสา ลูกชอบเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ชอบวาดรูป เขาบอกว่าครูจำหนูได้ จำได้คือเราจะจำได้หมด ก่อนที่เราจะจำอย่างนี้ได้ เราดูแลเอาใจใส่เขา และจำได้อีกว่าบ้านเขาอยู่ตรงไหน ไม่ใช่แค่ไปเยี่ยมบ้านครั้งเดียว แต่มาถึงว่าตั้งแต่รับเด็กมาต้องรู้จักเขา รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สังเกตจดจำว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไรตั้งแต่วันแรกเริ่ม บางคนชอบที่จะแสดงออก บางคนเงียบ บางคนมีมุมอะไรเยอะแยะเราต้องสังเกตให้ได้ จับประเด็นนี้ให้ได้ว่าตรงไหนจะเชียร์ ตรงไหนจะรั้งหรือจะหยุด ก็แล้วแต่ที่จะสนใจ แล้วเมื่อเขาทำงานหรือส่งงาน ตรวจงานด้วยความจริงใจ แสดงความคิดเห็นลงไป ตรวจตามความจริง ไม่ใช่ว่าแค่เซ็นชื่อ หรือว่าเครื่องหมายถูก สามดาวแล้วผ่าน แต่มาดูว่าอันนี้ได้นะ อันนี้ไม่ดียังไง…”

ไพเราะ เกิดผล ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…เราประเมินตามสภาพจริง ในระหว่างทำกิจกรรมการเรียนรู้ สังเกตก่อนอย่างแรกว่า เขามีความสนใจ ให้ความร่วมมือ ตั้งใจและก็มีส่วนร่วมไหม อย่างเช่น การโต้ตอบ การซักถาม การพูดคุย เด็กมีปฏิกิริยาอย่างไร…”

เกดแก้ว สุรชาติ ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

ดูจากชิ้นงานที่ทำ

“…ดูจากการเรียนกับงานเด็กที่ทำมา เขาจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเขียนไม่ค่อยถูก อย่างสมุดแรกๆ จะเละ แต่เขาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีความเป็นระเบียบในสมุดงานในชิ้นงาน เริ่มค่อยๆ ดีขึ้น เราจะไม่ได้แค่บันทึกไว้เก็บไว้กับเรา แต่จะเอาชิ้นงานให้เด็กดู ‘งานหนูดีขึ้นนะ ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย’ ให้เขาเปรียบเทียบว่า แรกๆ หนูลายมือดูไม่ได้ เดี๋ยวนี้เป็นยังไงบ้าง เราจะให้เด็กดูสมุดงานของเขา หน้าแรกวันแรกเป็นแบบนี้ เดี๋ยวดูว่าต่อไปหนูจะพัฒนาขึ้นยังไง…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

“…เป็นระดับอนุบาลแต่ไม่เท่ากับพี่ประถม ประเมินเด็กจากชิ้นงาน สิ่งที่ถ่ายทอดออกมา และดูเรื่องของระดับพัฒนาการ คือเวลาที่เขาทำงานสักชิ้นหนึ่ง พอเราให้โจทย์เขาไป อย่างเช่น วันนี้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำการวาดรูปนิทานสร้างเรื่อง คุณครูให้กระดาษ ๑ แผ่น แล้วให้อิสระเขาจะวาดวาดรูปอะไรก็ได้ แต่ต่อเติมให้เป็นนิทาน ตามที่เขามีประสบการณ์เดิมของเขา แล้วแต่เขาจะแต่งนิทาน ให้เขาได้ใช้ความคิดของเขาเอง พอวาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชมพู่ก็จะให้เขาออกมาพูดว่า ทำไมหนูถึงวาดได้ทำนิทานเรื่องนี้ เล่านิทานเรื่องนี้นะคะ พอเขาวาดเสร็จ ก็จะให้ทุกคนได้เตรียมตัวประมาณ ๕ นาที แล้วก็ให้ออกมาเล่าเรื่องที่เด็กวาด เขาก็สามารถที่จะเชื่อมโยง สมมติว่า เขาวาดต้นไม้แล้วก็มีหนอน มีคน ทีแรกเขาเล่าไปเล่าไปเรื่อยๆ แล้วเขาบอกว่า คนกับหนอนมันเกี่ยวอะไรกันครับ ก็หนอนมันกินใบไม้ที่นี้ หนูเห็นที่บ้านหนูมีต้นคูน มันออกดอกแล้วคุณครูมันมีหนอนตัวเล็กๆ อยู่บนต้นคูน แล้วคนก็ไปเด็ดดอกคูนมา เขาก็จะเล่าไปเรื่อย ๆ บางคนที่เขาเล่าไม่เก่ง เรื่องของเขาก็อาจสะดุดบ้าง บางคนเชื่อมโยงเก่งเขาก็จะเชื่อมโยงไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ฟังสารที่เขาพูด

เสร็จแล้วพอเราประเมินจากการที่เขาอธิบาย แล้วก็เชื่อมโยงแล้วก็จะมีคะแนนให้กับเขา สาม สอง หนึ่ง แต่เราทั้งนี้ทั้งนั้นผลงานชิ้นแรกเราอาจจะให้คะแนนเขาไว้แค่สองก่อน เพราะว่าผลงานเราก็ต้องดูผลงานชิ้นต่อไปของเขาว่า เขามีการพัฒนาเกินครึ่งมามากแค่ไหน คือเราจะดูในเรื่องของการพูดสื่อสารของเขาค่ะ การเชื่อมโยงในส่วนของอันนี้ชิ้นงานไปแล้วนะคะ ในส่วนของความรับผิดชอบ ชมพู่ก็จะดูเรื่องของการส่งงาน คืออยากจะปลูกฝั่งให้เรื่องความรับผิดชอบ ไม่เฉพาะเรื่องการมาโรงเรียน หรือการทำงานห้องเรียน คุณครูก็จะบอกว่างานชิ้นนี้คุณครูให้เวลา ๑ ชั่วโมง คุณครูก็จะมีนาฬิกาประจำห้องอยู่แล้วนะคะจะอธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าถึงเวลานี้ทุกคนต้องส่งงาน ถ้าใครส่งงานช้า .คุณครูจะทำโทษ ก็จะถามว่าจะทำโทษแบบไหนดีคะ ก็คือจะให้เด็กเขาก็จะตั้งเกณฑ์กันเอง เราจะดูพฤติกรรมของมากกว่า …”

เทพศิรินทร์ ผิวเมืองปัก ร.ร.เทศบาลท่าพระ จ.ขอนแก่น

“..รูปงานเป็นอย่างไร สอดคล้องกับเป้าหมายวัตถุประสงค์ที่ให้ทำไหม จะเก็บทุกครั้ง ใช้วิธีการสังเกตและเก็บงานเด็กไว้กับคุณครู เพื่อที่คุณครูจะได้ไปตรวจสอบ พอสิ้นควอเตอร์ ก็เอางานนั้นมาประเมินรวม ทำกิจกรรมมากี่ครั้ง งานมีกี่ครั้ง เราควรจะประเมินเด็กกี่งานดี เลือกงานที่ดีที่สุดมาร่วมประเมินให้คะแนนเด็ก การประเมินงานเรามีรูบิคให้ค่ะว่า ตั้งแต่เริ่มต้นมีกี่ชิ้นงาน แล้วยังให้กำลังใจว่าขอให้เขามีความมุ่งมั่น สวยไม่สวยไม่เป็นไร เราประเมินองค์ประกอบอื่นร่วมได้ค่ะ …”

เกดแก้ว สุระชาติ ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ