เรากำลังฟังเสียงเขาแล้วนะ …”
แสงรวี พิณสุวรรณ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ
ไม่บอกคำตอบ
“…พอ ป. ๒ เขาต้องเลือกเรื่องอะไร ให้ทุกคนได้มีโอกาสเสนอทุกคน ตรงนี้อยากบอกว่า มีนักเรียน ๔๐ คน เราก็ต้องฟังทั้ง ๔๐ คน ถ้าไม่ทันในชั่วโมงก็ต้องเลื่อนไป ตอนแรกครูอ้อยก็ยังไม่ได้นะ แต่ละคนกว่าจะเอ่ยออกมาได้ เราจะไม่คาดคั้นเอาคำตอบ แม้เด็กจะพูดไม่ได้เรื่องก็ตาม เราก็ต้องฟัง บางทีอยากจะด่าทะลุกลางปล้องเลย แต่เราก็ต้องอดทนและรอคอย ต้องได้ใจเขามาก่อน ให้เขาเห็นเราเป็นมิตร ให้เราเป็นเพื่อนเขาให้ได้ เมื่อเป็นเพื่อนเขาได้ เขาจะบอกเราทุกอย่าง ทุกอย่างจริงๆ ถามอะไรบอกหมดเกลี้ยงเลยถ้าไว้วางใจ…”
ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล
ออกแบบการเรียนรู้ PBL
แรกทีเดียวผู้เขียนคิดว่า โจทย์การเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชุมชนนั้น ต้องเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก คุณครูทำให้เห็นว่า การออกแบบการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับชุมชนเป็นเรื่องไม่ยาก และมีความเป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จ แน่นอนแรกๆ อาจชุลมุนกันอยู่บ้างกับการทำความเข้าใจ ตีโจทย์ชุมชนมีกรอบหรือความหมายอย่างไร
เรื่องใกล้ตัว สอดคล้องกับวัย
“…เราก็ต้องมานั่งคิดว่า ขั้นที่ ๑ กำหนดเรื่อง คือ ใช้กระบวนการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ครูออกแบบร่วมกับเด็กเลย ก็เรื่องตัวเองก่อน ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กจะยิ่งง่าย ตัวฉัน ฉันคือใคร ฉันชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน พ่อแม่ชื่ออะไร มันจะออกมาเองเป็นเรื่องราว เรียนเรื่องใกล้ตัว เด็กก็จะสัมพันธ์กับครอบครัว ก็ได้มาเรียนเรื่องครอบครัว ที่บ้านของลูกก็ยังมีบ้านหลังอื่น มีกิจกรรมร่วมกัน แม่ต้องไปช่วยงานบ้านนั้นใช่ไหม เด็กก็จะเข้าใจว่าในชีวิตของเราจะต้องมีตัวเอง มีครอบครัว ชุมชน ขั้นนี้แหละที่เราทำมา แล้วเรารู้สึกว่าเป็นขั้นที่ยาก ที่คุณครูจะต้องให้ความสำคัญ กระบวนการตรงที่ให้เด็กเลือกเรื่องเองจากเรื่องใกล้ตัว …”
ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล
กิจวัตรประจำวัน
“…กิจกรรมที่โรงเรียน ตั้งแต่เช้ามาทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง เราจะแบ่งเขตหมู่บ้านเพื่อให้นักเรียนมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องทำความสะอาด เช้ามาเด็กก็จะรู้หน้าที่ของตัวเอง ใครจะลงหมู่บ้านไหน ทำความสะอาด จะมีเวรห้องของตัวเอง ในขณะที่เด็กทำ ครูก็ทำความสะอาดด้วยเช่นกัน…”
ชิสากัญญ์ พลายด้วง ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง
เป็นประเด็นร่วม ทุกคนต้องประสบ
“…มันต้องมาเริ่มที่ประเด็นร่วม คนเราถ้าเจอปัญหาร่วมกันจะเห็นใจกัน แต่ถ้าเขาเสียผลประโยชน์ ถ้าเราทำเกษตรอินทรีย์ เราได้ประโยชน์อะไร แล้วเขาจะได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ก็คือต้องหาจุดร่วม จุดแก้ที่จะต้องทำร่วมกันในชุมชน เพราะฉะนั้นต้องย้อนไปอีกว่ากว่าจะมาถึงตรงนี้ ต้องมีตรงไหนก่อนให้เขาเข้าใจ
“… ปีที่ ๒ ได้เรื่องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กจากการรับประทานลูกอม เช้าขึ้นมาเปลือกลูกอมเต็มพื้นห้อง ซื้อมาจากร้านค้าหน้าโรงเรียน ก็ไปคุยกันว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เขาขายลูกอมให้เด็กเรา แต่เราห้ามเขาไม่ได้ เราต้องห้ามเด็กเรา ก็ใช้กระบวนการ ชวนคิด ปีนี้ครูอ้อยลักไก่ ปีแรกที่เราทำ เด็กเสนอมาเองล้วนๆ แต่ปีนี้ฉันจะทำอย่างไรให้เด็กเลือกลูกอม ก็วางแผน แต่เราเสนอเองไม่ได้ เลยยกสุขภาพขึ้นมา ลองยิ้มสวยๆ ใครแปรงฟันแล้วบ้าง ฟันแท้ ฟันน้ำนม แล้วยกฟันปลอมของคุณครูมา ว่าครูมีฟันปลอม เพราะตอนเล็กๆ กินลูกอมไม่แปรงฟัน ก็มีหน้าม้าบอกว่า น่าจะเอามาเป็นประเด็นศึกษาได้ เราก็ต้องถามเด็ก ให้เขาเสนอขึ้นมาเอง เด็กที่เสนอก็ฟันหลออีก เขาบอกว่าจริงๆ ไม่ได้อยากซื้อกินเท่าไร เราก็เลยให้มองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญไหม ในชีวิตประจำวันของเราลูกอมเป็นอาหารไหม เราก็ชวนคุยว่าอาหารหลักของเราก็คือข้าว อันนี้ไม่จำเป็นใช่ไหม วันนั้นก็ไม่ได้เรื่องนะ จนเราต้องกลับไปทบทวนตัวเองว่าเราจะตั้งคำถามเด็กอย่างไร เอาปัจจัยในการดำรงชีวิตเลย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม แล้วปัจจัยใกล้ๆ ตัวลูกจะเรียนเรื่องอะไร เด็กเสนอมาหลายเรื่อง แต่เด็กที่เสนอเรื่องลูกอม ก็บอกว่าเรื่องเขาสำคัญ มันเป็นอาหารที่ขาดได้ ไม่กินก็ได้ และมันส่งผลต่อสุขภาพ ก็เลยได้เรื่องนี้ขึ้นมา เราชวนคุยไปเรื่อยๆ เขาต้องไปหาความรู้ ประโยชน์ โทษ ของลูกอม…”
ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล
พื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่ชีวิตจริง
“… พอเด็กเสนอสถานการณ์อันนี้ออกมา แล้วก็เลือกเป็นประเด็น คิดว่ามันไม่ใช่แค่เด็กเรียนรู้แล้วได้ความรู้ มันต้องเอาความรู้นี้ไปคืนให้แก่ชุมชนให้ได้ เราลองหาชุมชนก่อนเอาพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่วิจัยให้เด็ก แล้วมีปัญหาตรงกันไหม ก็ต้องมาคิดหาเหตุผลอีก เด็กก็หลากหลายมาจากต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างชุมชน ดูว่านักเรียนส่วนใหญ่อยู่ชุมชนไหน อย่างไร แล้วคิดว่าปัญหานี้มันเป็นปัญหาของเราอย่างเดียวใช่ไหม ไม่ใช่ เป็นเรื่องใหญ่ เด็กบอกว่าทำอย่างไร เราทำไม่ได้ ถ้าเราไปประหยัดไฟ แล้วให้โลกลดความร้อนลงทันทีทันใด หรือถ้าทำแค่ห้องเรียน แค่บ้านของพวกเราก็ยังไม่พอ ฉะนั้นพวกเราต้องทำให้ออกไปถึงชุมชน ต้องหาปัญหาในชุมชนให้ได้ ว่าเขามีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ไฟหรือเปล่า ทีนี้นักเรียนก็ใช้เหตุผลว่าน่าจะเอาชุมชนไหน อย่างที่บอกว่าโดยบริบทของนักเรียนในห้อง ก็เอาชุมชนที่มีเด็กมากที่สุด ได้ชุมชนคอกเป็ด คืออยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนนัก ง่ายที่จะลงไปสื่อสาร เด็กสามารถไปได้โดยใช้เวลาไม่มาก ไม่ลำบากในการเดินทาง ไม่ลำบากในการที่คุณครูจะพาไป หรือชุมชนจะทำกิจกรรมกับนักเรียน นักเรียนก็ได้ออกไปหาความรู้ตามกระบวนการ…”
ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล
ออกแบบร่วมกับนักเรียน
“…ให้เขาสร้างโมเดลชุมชนในฝันของแต่ละกลุ่ม จะทำชุมชนในฝันของตัวเองอย่างไร ใช้ฝากล่องกระดาษ A4 เราบอกว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ สร้างชุมชนในฝันของตัวเอง บางกลุ่มใช้ดินน้ำมันอย่างเดียว บางกลุ่มใช้ดินน้ำมันผสมหลอด กระดุมหรือสิ่งที่หาได้รอบตัว จากนั้นเราให้โจทย์ ให้คิดก่อนว่าปัญหาของชุมชนของตัวเองคืออะไร เช่น ถ้าเราคิดว่าชุมชนของเราไม่ปลอดภัย เราจะสร้างชุมชนในฝันของตัวเองยังไงให้มันปลอดภัย เด็กก็จะคิด ทำออกมาเป็นโมเดล เสร็จแล้วแต่ละกลุ่มจะมานั่งเป็นวงกลม เราก็นั่งอยู่ด้วย ให้เขาอธิบายให้ฟังว่า ตรงนี้คืออะไร อย่างบางคนสร้างเป็นชุมชนมีหอสัญญาณ ถ้าบ้านนี้มีขโมยจะมีสัญญาณส่งไปที่ตรงนี้ แล้วสัญญาณนี้ก็จะส่งมาสถานีตำรวจ ตำรวจก็จะวิ่งมาช่วย บางกลุ่มก็จะทำเป็นสวนสนุกที่แก้ปัญหาขยะ เวลาจะเข้าไปเล่นสวนสนุกได้ ต้องเอาขยะมาแลกถึงจะเข้าไปเล่นได้ คือแต่เราจะสร้างเงื่อนไขว่าไม่เป็นไร อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงก็ได้ อาจจะเป็นสิ่งที่ตัวเองจินตนาการค่ะ เด็กก็จะได้ลงมือทำ
ชิสากัญญ์ พลายด้วง ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง
ผู้เขียนลองมองอีกมุม PBL ที่ดีควรสัมพันธ์กับชุมชนไม่มากก็น้อยไม่
ระดับที่ ๑ : การเรียนรู้นั้นใช้แหล่งทรัพยากรในชุมชนเป็นเครื่องมือ
ระดับที่ ๒ : การเรียนรู้นั้นตอบสนองความต้องการของชุมชน
ระดับที่ ๓ : การเรียนรู้นั้นแก้ปัญหาในชุมชน
ระดับที่ ๔: การเรียนรู้นั้นเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
เชื่อมโยงชุมชน = 3R + ๔ วิชาอนาคต + ๔ วิชาหลัก