ปฏิรูปการศึกษา ภาคลงมือทำจริง (9) เราเรียนรู้…เพื่อเอาไปใช้ชีวิต (ต่อ)

ก็มีคุณครูภาษาอังกฤษนี่’ ตอนนำเสนอครูอ้อยจำได้เลยว่า เขาพูดว่า ‘ถ้าใช้ดินสอประหยัดจะเป็นการอนุรักษ์โลก เป็นภาษาอังกฤษ’ เขาก็ได้ไปเลยภาษาอังกฤษ คำศัพท์ไม่ต้องท่องแล้ว มันจะได้มา ไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ แต่มันได้เกิน บูรณาการมาตรฐานสากล คณิตศาสตร์ก็ได้ จากที่เวฟทำโจทย์ขึ้นมา มันมีอยู่ใน สสวท.ว่า เด็กต้องสร้างโจทย์เองให้ได้ ‘ถ้าดินสอ ๑ แท่งราคาเท่านี้ ๔๕ แท่งราคาเท่าไร’ เขาก็เอาจำนวนราคานั้นมาโยงกับที่เขาเรียน เพื่อไปนำเสนอ และเขาบวกเลขได้เกิน ๑,๐๐๐ ด้วย ได้เกินตัวชี้วัดเลย ทำไมเรื่องนี้มันถึงน่าสนใจ เพราะเวลาที่เด็กนำเสนอโจทย์ แค่แก้พฤติกรรม แต่มันเกินไปอีก เด็กรู้ส่วนประกอบ และรู้ไปถึงว่าถ้าเราใช้แบบทิ้งขว้าง ไม่ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึงว่า ต้นไม้ แร่ธรรมชาติ ตรงนั้นใครเชื่อมโยง เราแค่คอยกระตุ้น แต่เด็กเชื่อมเอง แม้แต่ขี้ดินสอเขาก็ไม่ทิ้ง เขายังเอาไปทำดอกไม้ได้ด้วย ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ แต่มันได้…”

ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

เราเรียนรู้…เพื่อเอาไปใช้ชีวิต

๙. ไม่มุ่งเน้นมอบความรู้ แต่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะ

คุณครูไม่หลงทาง แม่นในเป้าหมายการเรียนรู้ คือ พัฒนาทักษะทั้งสาม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างทางที่นักเรียนหาคำตอบโจทย์ปัญหานั้น ผู้เขียนสังเกตว่าทักษะจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับความเชื่อมโยงของโจทย์ปัญหากับชุมชน นักเรียนทำงานเป็นทีม ทีมที่มีสมาชิกหลากหลาย และบทบาทของคุณครูที่เปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น “พี่เลี้ยง” กระตุ้นให้เด็กเป็นนักเรียนรู้ ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในบทที่ ๕ ครูคือคนสำคัญ

๑๐. ครูชวนนักเรียนประเมินผลการเรียนรู้

ที่เรียกว่า After Action Review หรือ AAR หลังทำกิจกรรมหรือปิดโครงงานเสมอ ด้วยรูปแบบต่างๆ ทบทวนว่านักเรียนเรียนรู้อะไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร สัมพันธ์กับวิชาอื่นอย่างไร และการ AAR จะไม่มีความหมายใดๆ เลย หากคุณครูไม่นำผล AAR มาปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ PBL ในครั้งต่อๆ ไป

“…เด็กจะเขียนสรุปความรู้ในสัปดาห์ของเขา เป็นความเรียงก็ได้ หรือสรุปเป็น mind map ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเด็กคนนั้นชอบแบบไหน คุณครูอาจเห็นว่า mind map ทำเยอะแล้ว อาจเป็นความเรียง อะไรอย่างนี้ ก็จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ตายตัว แต่ว่าในแต่ละวันที่เราเรียน หลังจากก่อนเลิกเรียนในช่วงที่เรารวมกลุ่มกันในห้อง จะมีกิจกรรมให้คุณครูได้สรุปความรู้ของเด็ก ให้เด็กได้พูดว่า วันนี้ได้เรียนอะไรบ้าง ไม่จำเป็นว่าจะต้องทุกคน ให้เขาเล่าคือคนนี้อาจจะเล่าอย่างหนึ่ง อีกคนเล่าอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วคนที่ไม่ได้เล่าเขาก็จะรู้ว่า ฉันก็เรียนเหมือนกัน ฉันก็ได้ทำ เขาทำอะไร เป็นอย่างไรบ้าง ประมาณนี้ค่ะ เหมือนกับสรุปประจำวัน…”

“…พาดูกิจกรรมว่าเลี้ยงกบ ไล่ไปตั้งแต่กบเล็กๆ กบเริ่มโตหน่อย จะย้ายไปยังไง อยู่ยังไง ไปจนถึงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เขาก็จะเป็นวิทยากรพาเด็กไป เด็กก็ล้อมหน้าล้อมหลัง รวมกับคุณครูด้วย คุณครูก็ไม่เคยเห็น ไม่ได้ไปสัมผัสที่ทุ่งนามากนัก ก็ไปดูพร้อมกันกับเด็ก พอดูเสร็จ ก็จะมาสรุปกันว่า เหมือนกับถามกันว่า เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร เป็นยังไงบ้าง พอมากลับถึงที่โรงเรียน เราก็มาสรุปกันอีกรอบหนึ่ง แล้วก็ให้เด็กวาดภาพ นำเสนอสิ่งที่เขาได้เห็น ได้พบได้เห็นที่เขาประทับใจ จริงๆ แล้วไปกับเด็ก เราตื่นเต้นอยู่แล้ว ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไงบ้าง อะไรยังไง เราประทับใจเขาอยู่แล้ว แต่ที่ตื่นเต้นมากกว่านั้นก็คือ เขาบอกคุณครูมาดูนั่น มาดูนี่ จูงเราไปดูด้วย ก็ถ้าได้ไปทำกิจกรรมที่เขาประทับใจ เหมือนกับว่าเขาก็จะจำได้ แล้วเขาก็จะพูดให้เราฟังได้ อธิบายได้ว่า เขาทำอะไร เห็นอะไร ยังไง

เกือบทุกกิจกรรมนะคะ ที่เรียนรู้เสร็จแล้วเราต้องมาคุยกัน เด็กได้อะไร เขาเขียนไม่ได้ แต่ว่าเราดูจากภาพวาดของเขา และสิ่งที่เขาพูดออกมาให้เราฟัง เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ได้ทำหรือช่วยอะไรใครบ้าง ทำตรงนี้ตั้งแต่ภาคปลายเทอมหนึ่ง ที่เริ่มทำเพราะว่า จากที่ตัวเองเคยสอนมาแล้ว บางครั้งเราไม่มีการพูดคุยกับเด็ก เราอาจตราเด็กว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่พอเราปรับความคิดของเรา แล้วก็วางแผนใหม่ ดูจากหลายๆ ที่หลายๆ สื่อ พยายามจัดการเรียนรู้ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น และให้มีส่วนร่วมของเด็กในห้องมากขึ้น ทำให้เราเรียนรู้เด็กมากขึ้น เห็นข้อดีข้อด้อย บางครั้งมันไม่ใช่ข้อด้อยของเขา แต่ว่าเขาอาจจะยังไม่ได้ถูกพัฒนาในตรงจุดนั้นค่ะ…”

เกดแก้ว สุระชาติ ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

รูปแบบการ AAR ที่ดีควรมีหน้าตาอย่างไร

๑๑. ครูมีกลุ่มคุยกันสม่ำเสมอตลอดปีการศึกษา

ประเด็นนี้สำคัญ ผู้เขียนขอพูดถึงประเด็นนี้ในบทที่ ๖ Professional Learning Community (PLC)

๑๒ สามารถพิสูจน์ได้ว่านักเรียนที่เรียนรู้แบบ PBL

ของเราเก่ง อ่านออก เขียนได้ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม วิทยาศาสตร์ได้ และยังมีทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ ทักษะ IT เยี่ยมอีกด้วย

 

การเรียนรู้จึงไม่แยกออกจากชีวิตจริง

ผู้เขียนมั่นใจว่า มีโรงเรียนจำนวนมากในประเทศไทย ที่ทำอะไรคล้ายกับเรื่องเล่าข้างต้น พาเด็กๆ ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน มีกิจกรรมให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม นึกตัวอย่างเร็วๆ อย่างเช่น งานประเพณีวันลอยกระทง แห่เทียนเข้าพรรษา งานวันสุนทรภู่ งานพาเหรดกีฬาสี ฯลฯ ถ้าได้ทำเพิ่มอีก ๒ อย่าง คือ ชวนนักเรียนทำ AAR จากนั้นคุณครูนำผล AAR มาคุยกันในวง PLC เพื่อปรับปรุงพัฒนาองค์ประกอบ PBL จะสามารถหมุนเกลียวพัฒนาไปเป็นโรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ ๒๑ ได้เลยในวันรุ่งขึ้น

เพราะวันแรกไม่ได้แปลว่า ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ การพัฒนาทักษะทั้ง ๓ จะสามารถเกิดขึ้น ได้ทุกขณะและทุกเวลา