ปฏิรูปการศึกษา ภาคลงมือทำจริง (8) เราเรียนรู้…เพื่อเอาไปใช้ชีวิต (ต่อ)

การเปลี่ยนแปลงของเขา แทนที่เราจะตามใจเขา เขาตามใจเพื่อนอย่างเดียว ไม่เป็นไรค่ะๆ กับกลายเป็นว่าฟังฉันบ้าง ฉันฟังเธอบ้าง ตัวเองมองว่ามันเหมือนการจำลองสังคม ที่ต้องมีความหลากหลายของคน อยากเห็นมันเดินไปอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน สิ่งที่เห็นจากการสอน AL นะคะ คือการยอมรับซึ่งกันและกัน และเรื่องกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์นะคะ ปกติอยากให้เด็กวาดรูปแล้วนำเสนอออกมา คืออยากรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ข้างใน มีพื้นมาแค่ไหน ไม่ได้ดูว่าสวยไม่สวย …”

แสงรวี พิณสุวรรณ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

“…เดี๋ยวเราจะเรียนคณิตศาสตร์นะคะ นักเรียนเปิดหน้านี้ แล้วเรามาดูกันค่ะว่า วิธีบวก มันจะบวกยังไง ตัวอย่างบนกระดานขึ้นแล้ว ทีนี้ดูตัวอย่างเป็นแนว แล้วเด็กก็ไม่ได้คิดอะไรเลยค่ะ เขาก็ทำตามนั้น แต่พอเราเปิดโอกาสให้เขาคิด เขาเริ่มคิดเป็น วางแผนเป็น นี่คือเด็กเปลี่ยนไป พอถึงชั่วโมงที่เราจะวางแผนการเรียนการสอน เหมือนเด็กรู้ว่าฉันต้องคิด ฉันอยากเรียนอะไร เพื่อที่จะไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนได้ แล้วอันที่สองก็คือ เด็กไม่กล้าพูด ไม่กล้าเลย พอครูถามก็เหนียมอาย ตอนนี้กล้าขึ้น กล้าที่จะนำเสนอ กล้าที่จะพูด กล้าที่จะซักถาม นี่คือสิ่งที่เด็กเปลี่ยนไป มีอยู่คนหนึ่งเป็นเด็กผู้ชาย ตอนอยู่ ป.๑ ป.๒ ป.๓ จะไม่ค่อยมาโรงเรียน ติดแม่ แล้วก็ป่วยไม่สบาย ช่วงที่เรียนแบบนี้ เด็กอยู่ ป.๕ เขามาโรงเรียนแทบทุกวัน เขาเหมือนขี้โรค ขี้อายมาก ไม่ทำอะไรเลย แต่พอร่วมกิจกรรมกับเพื่อน มีกิจกรรมหนึ่งที่เด็กแสดงละคร เขาเสนอตัวเป็นต้นไม้ คือไม่ต้องพูด แต่เขาก็ร่วมแสดงกับเพื่อน ไม่ใช่ว่าพอถึงวันเขาหายไป ก็เหมือนกับว่าเขาก็มีความสุขกับเพื่อน เขาก็ภูมิใจที่เขาได้นำเสนอ ถามว่า อ้าว นนท์แสดงไหมลูก แสดงครับ เป็นอะไรละ เป็นต้นไม้ คือเขาก็ยังคิดว่าเขามีความสามารถพอที่จะทำตรงนั้น ครูเองก็ภูมิใจนะคะ แล้วเด็กหลายๆคนก็กล้าพูดมากขึ้นค่ะ…”

เกดแก้ว สุรชาติ ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

๕. กระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ เป้าหมายแท้จริง คือ นักเรียนได้เรียนรู้ระหว่างทางที่หาคำตอบ ไม่ได้อยู่ตรงคำตอบที่เด็กๆ ทำกันมานั้นถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ แก้ปัญหาได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมที่ซับซ้อนไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียวในการแก้ปัญหาหรือการไปสู่จุดหมาย

“…คราวนี้มาถึงกระบวนการลงมือทำ เด็กก็เตรียมส่วนผสมมาให้เรียบร้อย กลุ่มไหนจะทำอะไร แต่บางกลุ่มที่เปลี่ยนก็มี เราจะไม่ว่า เพราะถือว่าเขาหาไม่ได้ เราก็ลงมือปฏิบัติทำตามสูตร ตวงน้ำเท่าไหร่ ใส่ผงวุ้นเท่าไหร่ บางกลุ่มก็หนึ่งช้อนโต๊ะ บางกลุ่มก็หนึ่งช้อนครึ่ง วิธีทำแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน บางกลุ่มก็ละลายน้ำก่อน บางกลุ่มก็ต้มน้ำก่อน แล้วค่อยใส่ผงวุ้น ค่อยใส่น้ำตาล แต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน เราก็เลยถามว่าทำไมทำแบบนี้ เขาก็ให้เหตุผลว่ากลัววุ้นไม่สุก แล้วกลุ่มนี้ละทำไมถึงได้ละลายวุ้นพร้อมกับน้ำ เขาบอกว่าเขาอ่านมา เขาถามคนนี้มา

ในระหว่างที่ทำต่างกลุ่ม มีเด็กคนหนึ่งนั่งอยู่ เราก็ถามว่าหนูทำไมไม่ทำละลูก เขาบอกว่าเพื่อนบอกให้เขานั่งอยู่เฉยๆ ก่อนครับ ยังไม่ต้องทำอะไร เพราะคนนี้สมาธิสั้น เพื่อนเขาก็เลยบอกว่าให้นั่งรอ ยังไม่ถึงตาผมให้นั่งก่อนเดี๋ยวค่อยทำ ในระหว่างที่ทำเราก็ถามว่าสนุกไหม ทำอะไร เขาก็บอกว่าทำวุ้นกะทิ ถามต่อทำไมถึงทำวุ้นกะทิ เขาบอกว่าผมชอบทาน เราถามต่อว่า ไม่มีกะทิใช้อย่างอื่นได้ไหม เขาก็บอกว่าได้ ไม่ใส่กะทิก็ได้ใส่แมงลักก็ได้ นอกจากใส่ในวุ้นได้ ยังสามารถเอามาใส่ในน้ำเต้าหู้ได้อีก แล้วใบมันทำอะไรได้หล่ะ เขาบอกว่าแม่ผมเอาไปใส่แกงเลียง เราก็เลยรู้ว่าเขามีความรู้ว่าใบแมงลักใช้ทำอาหารได้ แล้วถามอีกว่า ถ้าไม่มีอะไรที่เราที่เอามา เราสามารถจะใช้อะไรทดแทนได้อีก แอบเปิ้ลก็ใส่ ส้มก็ใส่ เขาบอกว่ากินแอปเปิ้ลแล้วสวย เราก็ถามแล้วส้มล่ะ เขาก็บอกว่าส้มมีวิตามิน พอทำเสร็จก็เอามาใส่ถ้วยทั้งถ้วยเล็กถ้วยใหญ่ เราก็ถามว่าทำไมใช้ถ้วยนี้เขาก็บอกว่ามันสวยเป็นรูปดอกไม้ แล้วอีกกลุ่มทำไมใส่ถ้วยใหญ่ละ เขาบอกว่ามันซื้อได้แบบนี้ ก็เลยเอาแบบนี้มาใส่ พอทำเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้สักพักหนึ่ง เราก็ถามว่าทำไมถึงไม่แข็งละ เขาก็ตอบว่าสงสัยใส่น้ำมากไป แล้วหนูจะทำยังไงละ เดี๋ยวหนูจะลองเอาไปใส่ตู้เย็นก่อน พออีกกลุ่มหนึ่งแข็งไปหน่อยค่ะครู มันแห้งๆ แสดงว่าใส่วุ้นเยอะ เขาบอกว่าทำอะไรไม่ได้แล้วมันแข็งตัวแล้ว งั้นคราวหน้าหนูก็จะลดผงวุ้นลง พอเสร็จแล้วแต่ละกลุ่มก็นำมาเสนอหมดเลย ก็ถามว่าคุณครูกินได้ไหม คุณครูก็บอกว่ากินได้หมดทุกกลุ่ม แต่ถ้ามันหวานไปละ ครูไม่อยากอยากกินหวานมันอ้วนจะทำยังไงละ เขาก็บอกว่าเอาไปแช่เย็น ก็ถามต่อว่าทำอะไรได้อีก ใช้น้ำตาลที่ไม่ทำให้อ้วนได้ ใส่น้ำตาลให้น้อยลงไปหน่อย อะไรแบบนี้…”

บุญเรือน ปิยะมณีพร ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

๖. ไม่ละทิ้งวิชาพื้นฐาน ๓ วิชา (3R) คือ การอ่าน (Read) การเขียน (Write) และคณิตศาสตร์(Arithematics) เพราะไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อให้สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองส่วนหน้า ถ้ารีบทำตั้งแต่ประถมหรืออนุบาล สมองส่วนหน้าที่โตเร็วขึ้นจะเป็นตัวกำหนดทักษะชีวิตในอนาคต ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กำหนดการเถียงกันอย่างมีเหตุผล(พิชญา ตันธนวิกรัย,๒๕๕๗)

“…ในเนื้อหาที่สอน เราจะบูรณาการเนื้อหาเรื่องของการตวง คุณครูหาอุปกรณ์มาให้ มีแก้ว มีกล่องนม มีขวดโพลาลิตร มีขวดโค้กตั้งวางไว้ข้างหน้า โดยให้เด็กทำสมาธิ และให้สังเกตว่าสิ่งที่ตนเองเห็น ให้มอง ให้ดู แล้วก็กระตุ้นด้วยคำถาม ว่าเห็นอะไร แล้วรู้สึกอย่างไร ให้เวลาเขาคิด ใครคิดได้แล้วให้ยกมือ แล้วลองเล่า แต่ละคนเริ่มยกมือแล้วเล่าว่า เห็นแก้วน้ำ ซึ่งเราสามารถใส่น้ำแล้วไปให้เพื่อนกินได้ เขาก็เริ่มเล่า ครูก็จะขอบคุณเขา และพยายามกระตุ้นให้เขาคิดให้หลากหลาย ไม่ลอกเลียนเพื่อน พอเขาคิดได้ก็ให้เปิดประเด็นก่อน แต่ละคนเขาก็จะคิดแต่มีบางคนที่ยังคิดไม่ได้ ครูบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวหนูคิดได้ค่อยบอกครู แต่ส่วนใหญ่ก็จะจับประเด็นที่เขาดู เช่น หนูเห็นขวดน้ำเป็นทรงกระบอก คือ เริ่มจับประเด็นได้บอกเป็นลักษณะ เป็นรูปร่าง เป็นประโยชนที่ใช้ ซึ่งครูก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องบอกแนวไหน ต่อมาให้เด็กไปสังเกตใกล้ๆ ดูว่าที่เขาเห็นอะไรเพิ่มเติม อย่างกล่องนมเขาเห็นตัวหนังสือ ครูให้ใบงานกับกระดาษเปล่า ให้เขาวาดที่เขาสังเกตเห็น บางคนวาดแก้วน้ำ บางคนวาดได้ทั้งหมด และจะบอกด้วยว่าในสิ่งที่สังเกตเขาเห็นอะไร เช่น ในแก้วน้ำไม่มีน้ำเลย เขาเห็นตัวเลข ๒๕๐ แล้วมีตัวภาษาอังกฤษ เด็กจะเขียนลงไป ซึ่งกิจกรรมนี้มีเวลา ๑ ชั่วโมง คือกว่าที่เขาจะลงสีและนำมาเล่าก็จะหมดชั่วโมง เสร็จแล้ววันหลังเราก็จะมาคุยกันว่า ที่เขาทำเขาได้อะไรบ้าง ถ้าเป็นขวดจะมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ว่า แก้ว ขวด กระป๋อง ทำอย่างไรถึงจะเชื่อมโยงกันได้ เด็กก็บอกว่า แก้วน้ำจะเล็กกว่าขวด แล้วถ้าเอาน้ำเทใส่ขวดจะต้องใช้หลายแก้ว จะช่วยกันคิดช่วยกันโยงเข้าไป ซึ่งครูก็เปิดประเด็นว่า ตัวเลขที่นักเรียนเห็นเคยนำมาเปรียบเทียบไหม มันจะมีมาม่า มีกล่องนม และจะมีตัวเลข และหมายถึงอะไร นักเรียนตอบว่ามันเยอะคะ ตัวเลขเยอะกระป๋องที่มีขนาดใหญ่ มันก็เกี่ยวเนื่องกันว่าตัวเลขเยอะก็มีอะไรข้างในเยอะ แสดงว่าอะไรที่มันเปิดอ้าอยู่ก็สามารถเอาอะไรใส่ไปได้ เขาทำอะไร บางคนเขาคิดได้ว่า เอาไว้ตัก เอาไว้ใส่อย่างใช้ช้อน ช้อนใช้ตักใส่ แล้วมีอะไรที่เกี่ยวข้อง มีนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า ตวงค่ะ ต่างคนต่างมีความคิด คือมีที่ให้ใส่ ก็เชื่อมโยงว่าต้องมีการตวง ครูจึงจับประเด็นเรื่องการตวง และปริมาตรเข้ามาเกี่ยวข้อง และเด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่าที่เป็นกล่องมีปริมาตร ก็อ่านปริมาตรได้ เด็ก ป.๓ อ่านได้ แล้วเด็กก็จะมาวาดรูป เช่น นม ๑ กล่อง มีปริมาตร ๒๕๐ มาม่ามีปริมาตรเท่าไหร่ อะไรแบบนี้คะ ซึ่งบางอันจะมีคำว่า ปริมาตร บางอันมีคำว่า ปริมาณ ครูถามว่าระหว่างปริมาตรกับปริมาณต่างกันอย่างไร เด็กตอบว่า บางอันก็เป็นก้อน บางอันเป็นน้ำ ครูจะไม่สรุปให้เด็ก ให้เด็กคิดเอง ว่าเป็นอย่างไร ต่อมาเริ่มการตวงโดยการตักน้ำมาใส่แก้ว ตั้งประเด็นว่าถ้าอยากรู้ว่าน้ำในแก้ว มีปริมาณเท่าไหร่ จะทำอย่างไร โดยมีกระบอกตวงให้เด็กก็เทน้ำใส่กระบอกตวง แล้วอ่านค่าได้ ๒๐๐ ซึ่งในกระบอกตวงจะมีหน่วยภาษาอังกฤษเป็น cc และจะมีกระบอกตวงที่มีหน่วยเป็นภาษาไทยด้วย เด็กก็จะเริ่มเทียบกันกับภาษาไทย ก็จะเริ่มเรียนรู้ พอเริ่มรู้ว่าจะเรียนเรื่องการตวง และพยายามโยงเข้ามากับชีวิตประจำวันของเรา

เกดแก้ว สุระชาติ ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

“…เด็กก็จะตามของเขากันเองว่า ในบทสัมภาษณ์ที่ไปถามมา คำถามถามร้านค้า กับคำถามที่ถามลูกค้าใครยังไม่ส่ง ถามว่าลูกรู้ได้ยังไงว่าใครยังไม่ส่ง ‘อ๋อหนูจะเช็คเลยค่ะว่าเลขที่นี่ส่งอันนี้แล้วๆ เพราะว่าถ้าหนูไม่ได้ข้อมูลมาทั้งหมดหนูวิเคราะห์ไม่ได้’ พอถามไปถามมา ข้อมูลพื้นฐานนี่ได้ แต่พอตอนที่มาพัฒนาเป็นบทร้อยกรองนี่นะคะ ที่เขาบอกว่าเขาจะพัฒนาเป็นบทร้อยกรอง ทำหนังสือเล่มเล็ก มีภาพประกอบนะคะ เขาก็มาคิดกันว่า การพัฒนาตรงนี้นะต้องมีพื้นฐานตรงโน้น ขณะเดียวกันต้องมาแต่งเป็นบทร้อยกรอง คนที่ได้ในเรื่องของบทร้อยกรองที่สามารถจะเข้าใจว่าสัมผัสอย่างไร และตรงกับเนื้อหาของเธอที่เธอสัมภาษณ์มาไหม ในส่วนนี้ก็จะช่วยดูเรื่องบทร้อยกรองให้เพื่อนๆ …”

ไพเราะ เกิดผล ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล