ปฏิรูปการศึกษา ภาคลงมือทำจริง (7) เราเรียนรู้…เพื่อเอาไปใช้ชีวิต

ความสงสัยนี้ค่อยๆ กระจ่างขึ้น หน้าตา PBL ที่ดี คือ ทำให้นักเรียนได้รับการฝึกทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างก้าวกระโดด และอย่างเต็มศักยภาพของนักเรียนที่แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ความรู้ทางวิชาการก็ได้ มีองค์ประกอบ ๑๒ ประการ เราลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

๑. โจทย์ปัญหาที่เรียนรู้นั้น ควรสัมพันธ์กับชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่หรือที่เด็กอาศัยอยู่ เหตุผลที่ควรสัมพันธ์กับชุมชน เพราะนอกจากเด็กๆ จะรู้สึกสนุก มีแรงกระตุ้นจากภายในที่จะทำแล้ว การเรียนรู้นั้นไม่แยกออกจากวิถีชีวิตจริงของนักเรียน

“…นอกจากเรื่องใกล้ตัวเป็นอย่างอื่นบ้างได้ไหม เป็นข่าว เหตุการณ์ สถานการณ์ อย่างโจทย์เรื่องไฟฟ้า ก็มาจากสถานการณ์ใหญ่ ที่ตอนนั้นไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้หลายชั่วโมง เลยเป็นเหตุจูงใจว่าไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ ถ้าดับไป ไม่ต้องมากแค่ ๒-๓ ชั่วโมง แล้วทั่วภาคใต้ด้วย เด็กก็นำเสนอเรื่องไฟฟ้าขึ้นมา ซึ่งเป็นปัญหาระดับใหญ่ ระดับโลก ระดับชุมชนทุกชุมชน มันก็อยู่ในเหตุผลของการเลือกเรื่อง ว่าไม่มีใครไม่ใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้าคือปัจจัยสำคัญในชีวิต เพราะฉะนั้นทุกบ้านทุกคนทุกชุมชนจะมีปัญหาเรื่องนี้…”

ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…กิจกรรมที่โรงเรียน ตั้งแต่เช้ามาทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง เราแบ่งเขตหมู่บ้านเพื่อให้นักเรียนมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการทำความสะอาด เช้ามาเด็กจะรู้หน้าที่ตัวเองว่าใครจะลงหมู่บ้านไหน ทำความสะอาด แล้วก็จะมีเวรห้องของตัวเอง ในขณะที่เด็กทำ ครูก็ทำความสะอาดด้วยเช่นกัน…”

ชิสากัญญ์ พลายด้วง ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

สาระสำคัญอยู่ตรง ๓ ประเด็น

ประเด็นแรก โรงเรียนเท่านั้นที่จะรู้ว่า PBL ที่เชื่อมโยงกับชุมชนของตัวเองมีหน้าตาอย่างไร ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่สุดขั้วเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น นักเรียนในจังหวัดเชียงรายต้องเรียนรู้วิธีหนีสึนามิ? นักเรียนในภาคอีสานเรียนเรื่องทำไมหาดทรายที่ฮาวายจึงสีขาวสวยนัก ในขณะที่รอบโรงเรียนมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ฯลฯ ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า เป็นข้อห้ามไม่ให้เรียนอะไรที่ไกลตัว แต่ PBL เรื่องนี้อาจเหมาะกับโรงเรียนหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าจะต้องเหมาะกับโรงเรียนอื่นเสมอไป เพราะนี่คือประสบการณ์แต่ละคน

ประเด็นที่สอง บางกิจกรรมอาจเป็นที่ขัดใจของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ส่งลูกมาเรียนหนังสือ ไม่ได้ให้มาทำความสะอาด เก็บขยะ ขัดห้องน้ำ โรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ ๒๑ จะเกิดขึ้นได้ยากมาก หากขาดการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และผู้รับผิดชอบสถานศึกษาในโครงสร้าง ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวในบทที่ ๘ ต่อไป

ประเด็นที่สาม ประเด็นนี้สำคัญ คุณครูไม่หลงประเด็นและชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ที่ให้เด็กทำกิจกรรมดังตัวอย่างทำความสะอาดโรงเรียน มิใช่เพื่อให้โรงเรียนสะอาด ไม่ได้หมายถึงให้นักเรียนรับใช้โรงเรียน แต่นักเรียนจะได้เรียนรู้ ฝึกทักษะทั้งสามในระหว่างทำความสะอาด เรียนรู้วิธีทำงานหนัก และสกปรกด้วยมือ เป็นต้น

๒. แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มเสมอ เพื่อให้ทำงานกันเป็นทีม

๓. สมาชิกกลุ่มควรมีความหลากหลายมิติ นัยยะอยู่ตรงที่จำลองภาพการอยู่ร่วมกันในสังคมจริง ที่เด็กจะเผชิญในอนาคต มิติตรงนี้มีอะไรบ้าง เช่น เชาวน์ปัญญา อายุ พฤติกรรม นิสัย ความยากดีมีจน ความเชื่อทางการเมือง สีผิว ชาติพันธุ์ ฯลฯ

“…ตัวเองจะแบ่งกลุ่มเป็นหมู่ๆ อยู่แล้ว อบรมลูกเสือแล้วชอบ มีหัวหน้าหมู่ รองหัวหน้า ดูหัวดูท้าย จะวางเด็ก จะไม่เอาเด็กที่โต้ตอบเก่งๆ ไว้ด้วยกัน ตอนแรกเรายังไม่รู้ว่าเด็กเป็นอย่างไร ก็จัดเด็กเป็น ๖ หมู่เลย เพราะเด็กมี ๓๓ คน ตอนหลังเรารู้แล้วว่า เด็กคนนี้ช่างพูด หมู่ ๑ ก็ตอบกันจังเลย เดี๋ยวตอบเดี๋ยวตอบ เราก็เลยจับแยก กลุ่มที่เล่นไม่ฟังอะไร ก็จับแยก ถ้ารวมกันก็จะหันหลังคุย อีกพวกหนึ่งคือ พวกที่ฟังอย่างเดียวไม่พูด จับแยกโดยพยายามให้ ๑กลุ่มมีหลายลักษณะ ตอนแรกพ่อแม่มาหาครูเหมือนกัน “ลูกไม่อยากเป็นหัวหน้า เพราะต้องดูแลลูกน้อง ลูกไม่อยากทำ” ก็ฝึกๆ ไป…”

ไพเราะ เกิดผล ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…ตัวเองจะแบ่งกลุ่มเด็กเป็น ๖ กลุ่ม กลุ่มละ ๕-๖ คน จะมีเด็กที่ฝากเรียนเป็นน้อง ก็จะให้พี่แต่ละกลุ่มรับผิดชอบ ใครจะเอาน้องคนไหนไปดูแล ตัวพี่ก็จะมองจากคนที่โต้ตอบสนทนาเก่ง เด็กจะมีประเภท เงียบ ไม่ตอบ ไม่พูด ดื้อ เล่น คือจะพยายามให้คละกัน เด็กจะต้องมีความหลากหลายใน ๑ กลุ่ม ทั้งพูด ไม่พูด เล่น และพวกที่คุมเพื่อนได้ คนสั่งการมันจะมี ก็พยายามจับกลุ่มให้หลากหลาย เราสังเกตจากการเล่น สังเกตจากการทำงาน เราจะเห็นชัด ตอนแรกเราก็จัดไปก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าสภาพเด็กเป็นอย่างไร พอเรารู้แล้วเราก็กำหนดหัวไว้ ที่เหมือนกันเราก็จัดกลุ่มไว้ แล้วก็จัดกระจายๆ ของตัวเองจะทำอย่างนี้ค่ะ

แสงรวี พิณสุวรรณ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

“…ในหนึ่งเทอมนักเรียนจะออกทำโครงงาน ๑ โครงงานร่วมกัน คือเราจะคละชั้น ไม่เอาเพื่อนหรือชั้นเดียวกัน เราจะเริ่มตั้งแต่ ป.๓ – ป.๖ คละกันไป กลุ่มหนึ่งอาจจะมีเด็ก ป.๓ ป.๕ ป.๖ อยู่ด้วยกันอย่างนี้ค่ะ…”

ชิสากัญญ์ พลายด้วง ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

“… ครั้งหนึ่งที่จัดกิจกรรมกลุ่ม เราก็เอาเรื่องเสื้อแดงเสื้อเหลืองขึ้นมาสอน ให้เด็กวิเคราะห์ ปรากฏว่าพอรวมกลุ่มกัน เด็กจะต้องระดมสมอง พอเริ่มคิดเริ่มอะไรเพื่อนยอมรับ แต่พอลงใบงานใหญ่เพื่อนไม่ให้ทำ นั่งร้องไห้ เราก็หันไปเห็นถามว่าหนูเป็นอะไร เขาไม่ให้ผมทำ เราก็หันไปบอกเพื่อนเขา รู้หรือเปล่า เขาวาดภาพสวยนะ ลองดูสิ เพื่อนเขาก็หันมามองหน้าครู แล้วก็เริ่มแบ่งงานให้ทำ ปรากฏว่าของเขาได้วาดภาพติดในแผ่นงานสวยเลย เวลาออกมานำเสนอเพื่อนก็จะชมว่าภาพที่สวยมาจากพงษ์พศิน เขาก็จะยิ้ม รู้สึกว่าเขามีความสุขขึ้น แล้วก็จะเปลี่ยนจากไปขุดไส้เดือนมาเป็นชอบที่จะเข้าห้องเรียนมากขึ้น อีก case หนึ่ง เป็นเด็กเก่ง แต่เขาจะเหมือนเป็นหัวหน้าอยู่ในกลุ่ม เวลาให้เลือกกลุ่มเอง เขาจะเลือกทีมของเขา เวลาทำงานกลุ่ม เขาจะไม่ค่อยสนใจเวลา จะทำแบบของฉันต้องสวยที่สุดดีที่สุด เพราะฉะนั้นงานกลุ่มจะไม่ประสบความสำเร็จ จะเสร็จช้ากว่าเพื่อน แต่เขามีความรับผิดชอบ เขาจะเก็บงานไปทำข้างนอก แล้วก็จะเอามาส่งทีหลัง มีอยู่ชั่วโมงหนึ่งชั่วโมงรักประเทศไทย เราไม่ได้ให้เขาเข้ากลุ่มตามใจ มีตามใจได้ ๒ คน เพื่อเป็นเพื่อนกัน แล้วอันอื่นต้องแยก พอเสร็จเขาก็มอง พอเริ่มทำงานเราจะมีกติกาอยู่ว่า ประธานกับเลขามีหน้าที่อะไร ทุกคนในกลุ่มจะต้องพูดเสนอความคิด จะขัดแย้งหรือจะอะไรก็ต้องคุยกันก่อนลงมือทำชิ้นงาน ทุกกลุ่มเขาก็ทำ จะมีกลุ่มของน้องน้ำเขาก็จะทำ เราก็สังเกตว่าเขาเริ่มพูดกับเพื่อนว่าเดี๋ยวไม่เสร็จ เราต้องปรับแล้วล่ะ เอาสวยน้อยหน่อย ทำงานให้เสร็จก่อน ก็จะมีว่าทุกคนยอมรับไหมที่จะทำแบบนี้ คือตกแต่งไว้ทีหลัง เอาความคิดมาก่อน ทุกคนในกลุ่มเขาก็จะยอมรับ ปรากฏว่าวันนั้นกลุ่มนี้ทำงานได้สำเร็จ คือเสร็จทันเวลา เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้องเขา จากการที่งานไม่เคยเสร็จทันเวลา แต่รับผิดชอบแล้วมาส่งทีหลัง งานเขาจะต้องเนี้ยบต้องสวย พอติดแล้วทุกคนจะต้องร้องอู้หู เพราะว่ามันจะสวยมาก…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

ถ้าเราสามารถทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ชั้นปีเป็นนาทีทอง ที่จะให้นักเรียนอายุระห่าง ๖-๑๘ ปี ได้ทำงานเป็นทีมระหว่างสมาชิกที่แตกต่างกันตลอดเวลา ฝึกซ้อมการมองไปข้างหน้าของทีม หาทางเลือก ตัดสินใจ รับผิดรับชอบผลที่เกิดขึ้น และยืดหยุ่น ทักษะชีวิตและทักษะการเรียนรู้จะถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

การทำงานเป็นทีมด้วยสมาชิกกลุ่มหลากหลาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกซ้อมทักษะชีวิต

ความหลากหลาย เป็นแบบจำลองของสังคม