ปฏิรูปการศึกษา ภาคลงมือทำจริง (6) พัฒนาโรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ 21 ด้วยเรื่องเล่า (ต่อ)

เช่น เรื่องแสงไฟ ที่แคบ วางสินค้าระเกะระกะ ห้องน้ำไม่มี ที่จอดรถก็ไม่มี เด็กจึงอยากได้ความรู้จากเทศบาล คุณครูก็ถามว่าจะทำอย่างไรให้ได้ความรู้ ซึ่งเทศบาลก็อยู่ติดโรงเรียน เด็กบอกจะเขียนจดหมายแล้วไปขออนุญาตท่านผู้อำนวยการและผู้ปกครอง

ครูเลยเสนอนักเรียนไปว่าให้เขียนจดหมายขออนุญาตผู้ปกครองไปด้วยเลย ในปีนี้เจาะนักเรียนได้ลึกมากขึ้นเนื่องจากมีจำนวนนักเรียนเพียง ๔๕ คน แต่ก็ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลว่าเด็กจะทำได้เพียงไหน เลยให้เขียนจดหมายก่อน เริ่มจากจดหมายถึงผู้ปกครอง ตอนนี้เขาเรียนได้ถึงขั้นที่ ๔ เกี่ยวกับการวางแผนการเรียน และจะไปลงปฏิบัติจริงในขั้นที่ ๕ ตามที่วางแผน และปฏิบัติจริงในขั้นที่ ๖ แล้วต้องออกไปนอกห้องเรียน

หลังจากนั้นเด็กไปขออนุญาตผู้ปกครองและแจ้งว่ามีคุณครูไพเราะเป็นผู้ควบคุม และเขียนจดหมายถึงเทศบาลสอบถามเรื่องที่อยากรู้ โดยเรียนไปที่นายกเทศบาล นายกก็ส่งหัวหน้าฝ่ายที่ดูแลเรื่องนี้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ที่โรงเรียน เพื่อไม่ให้เสียเวลา จากนั้นท่านก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นตลาดนัด นักเรียนก็ได้เรียนรู้เรื่องตลาดนัด ก็รู้สึกภูมิใจไปกับนักเรียน พอได้ความรู้มานักเรียนจึงได้มาวางแผนว่า ถ้าอยากจะเรียนรู้ในส่วนนั้น เขาต้องไปสำรวจก่อน พอถึงเวลาลงพื้นที่ เนื่องจากเป็นตอนกลางคืน จึงมีผู้ปกครองพานักเรียนมารวมกันที่โรงเรียนก่อน แล้วแบ่งงานกัน ดิฉันเองก็คอยสังเกต ไม่ไปเกาะกลุ่ม

หลังจากที่เด็กได้ข้อมูลมา เขาก็จะทำการสรุปกัน เขาไม่สามารถถามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จึงถามทั้งคนขาย คนซื้อและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เป็นอย่างไร เทศบาล จราจร และคนที่สัญจรไปมา เด็กๆ จัดทำแบบสอบถามเเป็น ๓ ชุด และก็มาช่วยกันคิดว่า คนประเภทไหนควรใช้คำถามแบบไหน มีการฝึกซ้อมกันก่อนออกไปถาม เขาก็คิดการว่าหากซักถามกันแล้วมักจะมีคำถามที่แปลกๆ

พอเช้าอีกวันเขาก็มาหาคุณครู บอกว่าหนูจะเปลี่ยนใจไม่ใช้ชื่อเรื่องนี้แล้วค่ะ เนื่องจากหากทำไปแล้วต้องมีการนำเสนอมันจะต้องดีขึ้น ไม่อยากให้มีการยกเลิก เพราะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของสตูล และมีนักเรียนคนหนึ่งชื่อ วายุ ได้ค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ต ว่าการทำแบบนี้คือการวิจัย จึงได้ไปปรึกษากับท่านผู้อำนวยการ เนื่องจากตนไม่ได้จบปริญญาโท ไม่รู้ว่าจะสอนด้านการวิจัยอย่างไร และนักเรียนจึงได้เปลี่ยนหัวข้อเป็น “การพัฒนาตลาดนัดวันเสาร์ให้ยั่งยืน” และพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ชั่วโมงภาษาไทยก็เลยเปลี่ยนเป็นชั่วโมงวิจัยก่อน เพราะชั่วโมงวิจัยยังไม่ถึง และก็ลงความเห็นกันว่าเมื่อเรากลับไปแล้ว ความรู้ที่ได้นั้นไม่ใช่ไว้ที่โรงเรียนหรือคุณครู เราต้องนำกลับไปที่เทศบาล เพื่อเทศบาลจะได้เกิดการพัฒนา พัฒนาอยู่ตลอดจะได้เกิดความยั่งยืน นักเรียนจึงได้วางแผนและกำหนดการลงพื้นที่ว่า จะลงกันสองครั้ง ครั้งแรกก็จะไปสำรวจ และจากคำถามที่เตรียมไว้ เพียงพอหรือยัง พอลงไปครั้งที่ ๒ มีถ่ายรูปและวีดิโอ ทั้งยังมาเพิ่มเติมจากครั้งที่สำรวจรอบแรก พออีกสัปดาห์ได้นำเสนอว่าจะเพิ่มเติมในจุดไหนในทั้ง ๓ ประเภทที่เขาได้ทำ และอีกครั้งได้เพิ่มจำนวนครู และมีคุณครูมัธยมที่สนใจ และจะเอาทีมมาช่วยถ่ายวีดีโอด้วย

ปลื้มใจที่นอกจากการลงตลาดแล้วก็มีการสัมภาษณ์ และเด็กยังมีการวางแผนว่าใครจะอยู่ในพื้นที่ไหน ทำอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานของแต่ละคน เช่น ให้เพื่อนที่พูดไม่เก่งอยู่ตรงทางเข้าตลาดเพื่ออาสาเช็คคนที่เข้ามาในตลาด ว่าเป็นเด็กกี่คน ผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน เพื่อจะทำให้เขาได้รู้จำนวนคนที่มาตั้งแต่ ๕ โมงเย็นจนถึง ๓ ทุ่ม เป็นสิ่งที่เราก็นึกไม่ถึง หลังจากที่เขาได้ข้อมูลการสัมภาษณ์มา เราก็มาพูดคุยกันใต้ร่มไม้ มาจัดโซนสินค้า เป็นราคาสินค้า และมานำเสนอความว่า โซนสินค้าต้องการแบบไหน ร้านค้าต้องการแบบไหน คนซื้อต้องการคุณภาพอย่างไร ราคาเป็นอย่างไร ตลาดนัดนี้คนซื้อและคนต้องการอะไรเพิ่มอีก เช่น ต้องการสินค้าที่เป็นของสตูล มีการจัดการแสดง มีการวางสินค้าเป็นประเภทไม่ระเกะระกะ ควรมีแสงสว่างเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

จากนั้นก็ถามนักเรียนว่าข้อมูลที่ได้จะต้องคืนกลับ โดยนักเรียนได้สรุปเป็นรายงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ในเวทีสาธารณะ แต่จะทำอย่างไรให้สรุปรายงานวิจัยให้ได้ จะทำอย่างไรให้เด็กทำงานวิจัยคนเดียวให้ได้ ก็เลยให้นักเรียนเริ่มเขียนว่าเรียนอะไรไปบ้าง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนำเสนองาน ให้เขียนมาทั้งหมด พอเด็กเขียนได้ก็คิดไว้ในใจว่านี่คือบทที่ ๓ ของงานวิจัยแต่ยังไม่บอกแล้วถามต่อว่าทำไมลูกถึงเรียน มีเป้าหมายอย่างไร เขาก็เขียนเป้าหมายในการเรียนก็จะได้บทที่ ๑ และเขียนว่าได้ศึกษาค้นคว้าจากที่ไหนบ้าง อ้างอิงจากสิ่งที่ได้ค้นหาแล้วจะได้บทที่ ๒ ใช้วิธีการถามจนได้ข้อมูลสำหรับการทำวิจัย โดยให้เด็กพิมพ์แล้วนำเสนอขึ้นจอ และปรับเปลี่ยนตรงนั้น ก็จะได้งานวิจัยเป็นของห้องเรียน ส่วนตัวเขาก็จะได้ แต่เราก็จะได้สิ่งที่หลอมรวมเป็นของห้องเรียน และเด็กนักเรียนก็ได้จัดนิทรรศการนำเสนอการลงพื้นที่ของพวกเขา แค่นั้นยังไม่พอยังทำเป็นรูปแบบโมเดล แบ่งโซนของตลาดออกมา มีอัตราส่วนโดยอ้างอิงจากคณิตศาสตร์ที่เพิ่งเรียนมา นอกจากนั้นเด็กยังมีความคิดที่จะแต่งเป็นเพลงตลาดนัดวันเสาร์ขึ้นมา โดยให้ครูต้นซึ่งเป็นครูดนตรี ช่วยทำดนตรีให้ แล้วอัดเป็นซีดีมาให้ครูฟัง และวันเสนองานวิชาการของโรงเรียนได้จัดจำลองตลาดนัดวันเสาร์ขึ้นมา แต่ในวันนั้นตรงกับวันสอบจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จึงทำให้เหลือนักเรียนเพียงสองคน ถึงจะอย่างนั้นสิ่งที่พวกเขาได้มันมากกว่านั้น และมีแขกผู้ใหญ่มามากมายและทำให้นักเรียนได้คืนกลับในจุดนี้ จนมาถึงวันนี้ตลาดนัดได้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้นและเพลงที่นักเรียนได้ทำขึ้นมาถูกเปิดตามเสียงตามสายทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ชุมชนเองก็ได้เปลี่ยนด้วยมือเด็ก ตลาดนัดวันเสาร์ก็มีความหลากหลายขึ้น ทำให้พี่ภูมิใจ เป็นครั้งแรกที่เด็กไม่เคยมีประสบการณ์เลย และเราก็นึกไม่ถึงว่าเด็กจะไปได้มากขนาดนั้น

ขอขยายความตรงข้อมูลที่ได้มา นักเรียนจะนำมาเขียนอธิบายเป็นบทที่ ๔ หลังจากนั้นให้เขาคิดว่า อยากให้มีตรงไหนปรับปรุง และอยากให้เขาทำอะไรอีกก็กลายเป็นบทที่ ๕ โดยใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้น จึงได้งานวิจัยขึ้นมาโดยที่เราก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย เหมือนจากประสบการณ์ที่สอนเรียงความจะไม่กำหนดในเรื่องรูปแบบ แต่จะถามให้นักเรียนได้คิดตาม เช่น เขียนเรื่องชุมชนของตนเอง ก็จะถามว่าถ้าคิดถึงชุมชนแล้วให้นักเรียนนึกว่าชุมชนนักเรียนมีอะไรบ้าง ต้องการให้มีอะไร และอะไรบ้างที่คิดว่ามีปัญหา แล้วควรจะแก้ไขอย่างไร

หลังจากคิดก็ให้เขียนตามที่คิด จริงๆ เราให้เขาเขียนเป็น Mind Map เพียงแต่เราไม่ได้บอก พอเด็กนักเรียนเขียนเสร็จก็มาดูว่าอะไรที่มันอยู่กลุ่มเดียวกัน โดยเด็กจะเสนอออกมา แล้วบอกนักเรียนต่อว่าให้เขียนเล่าให้คุณครูฟัง แล้วเขาก็จะเขียนตามลำดับก่อนหลังที่เขารู้ แล้วจึงให้มานำเสนอโดยไม่มีใครผิดเพราะชุมชนที่ฉันต้องการ ฉันจะต้องการอย่างไรก็ได้ ขั้นต่อไปก็ให้เขียนว่าหากเราอยากให้คนอื่นรู้หรือเกิดความสนใจเราจะเขียนอะไร จะนำข้อความอย่างไรเขาก็จะเขียนมาแล้วเราก็เพิ่มเติมในสิ่งที่เขาเขียนมา แล้วก็พยายามชี้ว่าคำพูดตรงไหนที่เขียนมาตรงกับสำนวนใดได้บ้าง หรือนำพระบรมราโชวาทมาประกอบได้หรือไม่ เด็กก็บอกว่าได้และก็เคยอ่าน หลังจากนั้น เราก็กระตุ้นว่าทำอย่างไรให้คนอ่านข้อความของเราเกิดความประทับใจ และได้ข้อคิดอะไรกลับไปบ้าง เขาก็เขียนของเขาไป เราก็บอกว่านำสามอย่างนี้มาต่อกัน นี่แหละค่ะ เรียงความของลูก พร้อมองค์ประกอบเลย คือ มีคำนำ มีเนื้อเรื่อง มีสรุป