องค์กรสนับสนุนการศึกษา นักวิชาการการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ภาคธุรกิจเอกชน ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปกครอง ชุมชน ฯลฯ ว่าจะเป็นทางออกในการขับเคลื่อนการศึกษาออกไปจากวิธีการเรียนรู้แบบเดิม ไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม มุ่งพัฒนาทักษะ (skills) ให้แก่นักเรียน ๓ ทักษะ
๑. ทักษะการเรียนรู้ (learning skills) ประกอบด้วย ๔ ทักษะ
๑.๑ critical/criticize thinking: หลายท่านแปลว่า การคิดเชิงวิพากษ์ หรือแปลว่าคิดแบบมีวิจารณญาณ โดยส่วนตัวผู้เขียนแปลว่า รู้จักที่จะไม่เชื่อในทันทีในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง รู้จักวิเคราะห์และเถียงในใจว่านี่อาจจะไม่ใช่ ตั้งคำถามกลับอาจมีคำตอบอื่นอีกก็เป็นได้ หรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
๑.๒ communication: สื่อสารความคิดต่างของตนเองออกมาอย่างสุภาพ เพื่อให้คนอื่นรู้เรื่องเข้าใจความคิดต่างของตนอย่างมีเหตุผล โดยเฉพาะความคิดต่างจากผู้ใหญ่ ต่างจากคุณครู หรือแม้กระทั่งต่างจากตำรา ด้วยรูปแบบหลากหลาย เช่น เขียนกลอน แต่งเพลง เรียงความ นำเสนอด้วย power point เล่นละคร แสดงนิทรรศการ ฯลฯ ทักษะนี้แลดูฝืนสามัญสำนึกของคนไทย ชอบเด็กว่านอนสอนง่าย แต่สามารถสร้างได้ด้วยวัฒนธรรมที่ดีงาม
๑.๓ collaboration: ทำงานเป็นทีม ผู้เขียนนึกภาพเด็กๆ ที่คิดต่างมาอยู่รวมกัน มาทำงานร่วมกัน คงจะเถียงกันน่าดู เพื่อหาข้อยุติและลงรอยกัน จะว่าไปแล้ว นี่คือความจริงของการฝึกทักษะชีวิตและสังคมที่สำคัญที่สุด
๑.๔ innovation : ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เมื่อเกิดการปะทะ เถียงกันด้วยกระบวนความคิดที่ดี มักจะเกิดความคิดนอกกรอบออกมาเสมอ ซึ่งแปลว่านักเรียนคนหนึ่งจะมีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้ ต้องผ่าน ๓ ขั้นแรกมาก่อน ไม่ใช่เหตุบังเอิญมีเด็กอัจฉริยะมาเกิด
๒. ทักษะชีวิต (life skills) คุณครูหลายท่านใช้คำกว้างๆ เหล่านี้แทนทักษะชีวิต เป็นเด็กดี มีศีลธรรม มีคุณธรรม มีวินัย จากการเก็บเกี่ยวโรงเรียนต้นแบบฯ นักเรียนที่มีทักษะชีวิตที่ดี ได้ใช้ชีวิต ๕ ขั้นตอนนี้เสมอ
๒.๑ รู้จักมองไปข้างหน้า : ชีวิตที่ดีต้องรู้จักวางแผน มองไปข้างหน้า รู้เป้าหมายชีวิต
๒.๒ ค้นหาทางเลือก : เมื่อวางแผนไปสู่เป้าหมายเสร็จแล้ว จะพบว่ามักมีทางเลือกมากกว่า ๑ ทางเสมอ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น เช่น อยากสอบติดแพทย์ต้องประพฤติตนอย่างไร อ่านหนังสือเองหรือต้องไปติว เพื่อนชวนเสพยาบ้าจะลองหรือไม่ลอง เด็กๆ ที่มีทักษะชีวิตที่ดีต้องรู้จักคนหาทางเลือก
๒.๓ ตัดสินใจ: รู้จักตัดสินใจเลือกหนทางไปสู่เป้าหมาย
๒.๔ รับผิดรับชอบ (accountability) : เด็กที่มีทักษะชีวิตที่ดีจะรับผิดรับชอบต่อการกระทำของตน เมื่อตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หากติดเชื้อ HIV ต้องรู้จักรับผิดรับชอบ ไม่โวยวายโอดครวญโทษเป็นความผิดของผู้อื่น คำนี้มีความหมายต่างจากคำว่า “รับผิดชอบ” ซึ่งมักมีความหมายแคบกว่า เช่น รับผิดชอบในงานของตนเอง ถ้างานไม่เสร็จก็ต้องรับผิดชอบทำงานให้เสร็จ อย่างนี้เป็นต้น
๒.๕ ยืดหยุ่น: ทั้งหมดถูกกำกับด้วยความยืดหยุ่น การเดินทางครั้งแรกเป้าหมายที่วางไว้อาจผิด เด็กที่มีทักษะชีวิตที่ดีจะวนกลับไปวางแผนใหม่ มองหาทางเลือกใหม่ แล้วตัดสินใจ เมื่อผิดรู้จักทบทวนและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ ต่อจากตัวอย่างข้างต้น เมื่อติดเชื้อ HIV ก็จะวางแผนชีวิตใหม่ จะกินยาต้านไวรัสหรือไม่กินดี หรือจะได้ยาสมุนไพรดี เป็นต้น
๓. ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT skills)
๓.๑ รู้จักเสพข้อมูล: ศตวรรษ ๒๑ เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เด็กทุกคนตื่นเช้าขึ้นมาพบข้อความบน facebook บน Line เต็มไปหมด ถ้ามัวแต่อ่านทุกข้อความ คงจะไม่มีเวลาเรียนหนังสือ ไม่มีเวลาทำการบ้าน จึงต้องฝึกให้รู้จักเสพข้อมูล เพราะมีหน้าที่อย่างอื่นต้องทำ ต้องรับผิดชอบ
๓.๒ รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร: เมื่อรู้จักเสพข้อมูลแล้ว ต้องรู้จักไม่เชื่อ รู้จักวิเคราะห์ น้ำมันพืชดีกว่าน้ำมันหมูจริงหรือ ดื่มน้ำผลไม้ยี่ห้อ ABC แล้วหน้าสวยใสสีชมพูจริงหรือ เด็กที่ถูกฝึกจะรู้จักค้นหาคำตอบ เข้า Google search หาความรู้จากแหล่งต่างๆ มาถกเถียงกัน
๓.๓ รู้จักใช้ข้อมูล ข่าวสารเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต
คำว่า “ทักษะ” มีความหมายว่า ต้องฝึกฝน ไม่ได้ติดตัวมาแต่แรกเกิด ทักษะทั้งสามหรือทักษะแห่งศตวรรรษที่ ๒๑ สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ในโรงเรียน โดยใช้การเรียนการสอนผ่านโจทย์ปัญหา (Problem Based Learning) หรือ ผ่านโครงงาน (Project Based Learning) ชื่อย่อ “ PBL” ที่เราคุ้นหู และการเรียนรู้นั้น นักเรียนต้องได้ลงมือทำ (Active Learning, AL) การทำนั้นต้องทำเป็นกลุ่มและเป็นทีม
ทุกกิจกรรมในโรงเรียนจึงคือชีวิตของนักเรียน ถึงตรงนี้ผู้เขียนเข้าใจว่า โครงการ โครงงาน หรือ PBL ที่คุณครูมอบให้เด็กทำนั่นแหล่ะ คือ ส่วนย่อชีวิตของนักเรียน เหตุที่เป็นชีวิตเพราะเด็กๆ ได้ทำงานเป็นทีม มีโอกาสปะทะสังสรรค์กับเพื่อนในทีม ที่มีทั้งเห็นแก่ตัว ฉลาด มีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่างฟ้อง สุขภาพไม่แข็งแรง ฯลฯ โจทย์ปัญหาที่คุณครูมอบให้เด็กๆ ทำกัน ต้องการการวางแผน เมื่อคุณครูบอกว่าโครงการนี้มีเวลาทำ ๑ เดือนเสร็จ ทีมก็ต้องมาวางแผน ค้นหาทางเลือกที่จะทำงานให้สำเร็จเสร็จทันเวลา ทางนี้ดีกว่า ทางนี้สิ้นเปลือง ทางนี้ทำงานเสร็จด้วยและได้อ่านการ์ตูนอีกต่างหาก เด็กจะเถียงกัน แล้วตัดสินใจเลือก สุดท้ายครบ ๑ เดือน ถ้างานไม่เสร็จ ก็ต้องรับผิดชอบ รู้จักยืดหยุ่นลุกขึ้นมาทำงานดึกดื่นเที่ยงคืน อย่างนี้เป็นต้น
PBL = ส่วนย่อชีวิตของนักเรียน
ความจริงเริ่มเข้าใกล้ความหวัง ผู้เขียนได้พบคุณครู ได้พบโรงเรียนที่พยายามจัดการเรียนการสอน เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียน ให้สามารถอยู่รอดได้อย่างเต็มศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน คุณครูเหล่านั้นแทบจะไม่ทราบมาก่อน ตนเองกำลังฝึกพัฒนาทักษะนักเรียน โดยลดชั่วโมงสอนหนังสือ เรียนรู้มากขึ้น หันมาจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนลงมือทำแบบ PBL และเริ่มเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เราลองไปดูตัวอย่างกัน
“… ผมประทับใจในการเรียน คือความแปลกใหม่ของวิชาบรูณาการ มันเป็นการวิจัย ทั้งๆ ที่เด็กอนุบาลหรือประถมไม่ควรได้เรียน ควรจะไปเรียนตอนป.ตรี หรือ ป.โท การเรียนวิจัยยากแต่ เราก็สามารถทำได้ ตรงนี้ก็คือความตั้งใจของผม มีอีกอย่างที่ผมไม่ค่อยประทับใจ บางครั้งเพื่อนของพวกเราตั้งใจทำครั้งแรกไม่ได้ ครั้งที่ ๒ ก็ไม่ทำแล้ว ไม่ไหว แต่มีตัวอย่างที่ดี คือเด็กชายอานัส ถึงเขาจะร้องไห้ แต่เขาก็มีความสามารถที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เขาทำสำเร็จ แต่มีอีกฝ่ายหนึ่งที่ยังกลัวว่า ผิดแล้วผิดอีก สู้ไม่ทำเลยดีกว่า แบบนั้นมันไม่ดี เราจึงอยากจะเปลี่ยนความคิดของเพื่อนในการเรียนบรูณาการว่าเปลี่ยนความคิดได้ สุดท้ายผม อยากบอกว่า ถึงแม้โจทย์ของพวกเราจะใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ใจของพวกเราว่าพวกเรากล้าที่จะทำมากแค่ไหนครับ…”
ดช. เวฟ ชั้น ป.๕ ร.ร.อนุบาลสตูล
“…ผมยกตัวอย่างทักษะที่เกิดขึ้น อย่างเช่นเด็กที่ทำเรื่องการประหยัดกระแสไฟฟ้า พอรู้วิธีว่าประหยัดไฟ ผู้ปกครองมาบอกเองว่า เด็กถอดปลั๊กทุกครั้งที่ปิดทีวี ปิดพัดลม มันเกิดขึ้นเพราะเขาเรียนเรื่องนี้อยู่หนึ่งปี มีผู้ปกครองคนหนึ่งบอกผมว่า ‘ผอ. ลูกหนูบังคับหนูไม่ให้เอากล่องโฟมเข้าบ้าน ถ้าคุณแม่ซื้ออาหารใส่กล่องโฟมหนูไม่ทาน แล้วห้ามนำเข้าบ้าน บ้านอื่นไม่รู้ แต่บ้านหนูนี่เรื่องโฟมชัดเจนเลย ลูกไม่ให้เข้าบ้าน’ สาเหตุที่เขาไม่ให้เข้าบ้านเพราะเขาเรียนเรื่องอายุของขยะเหล่านี้ เขารู้ว่าโฟมไม่ย่อยสลาย แล้วมันส่งผลอะไรต่างๆ เขาปฏิเสธเลย ไม่กินอาหารในกล่องโฟม หรือเด็กที่ไม่กินน้ำอัดลม เขาไปรู้ส่วนผสมของน้ำอัดลมว่าผสมอะไรบ้าง แล้วมาวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารว่ามันมีสารอาหารอะไรที่เป็นประโยชน์ไหม เด็กที่ทำโจทย์นี้ไม่กินน้ำอัดลม หรือขนมอะไรก็เหมือนกัน พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น…”
สุทธิ สายสุนีย์ ผอ.ร.ร.อนุบาลสตูล
“… สิ่งที่เกิดกับเราคือเบาแรง ปกติเด็กที่ทำงานเสร็จก่อน เขาจะเล่น เพราะต้องรอเพื่อนที่ยังทำงานไม่เสร็จ ตอนหลังคนที่ไวที่สุด มาช่วยเพื่อนคนที่อ่อนกว่า ที่ช้ากว่า เกิดความสัมพันธ์ สิ่งที่เห็นคือ เด็กๆ เตือนกันเอง ฟ้องกันน้อยลง แต่ก็มีเหมือนกัน เราก็จะคุยกับนักเรียนว่าเรื่องไหนที่ควรฟ้อง ถีบ เตะ ต่อย เพื่อน อันนี้เป็นการทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่การเล่นกัน ตรงนี้ฟ้องได้ เขาดูแลกันเอง ตรงนี้มันช่วยได้เยอะจริงๆ เราฟังเขามากขึ้น เขาก็โต้ตอบกับเรามากขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่เห็นชัดๆ นะคะ…”
แสงระวี ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ
“…เราไม่ได้คาดคิดแต่มันเกิดก็คือตัวจิตวิญญาณ ครูมาเล่าเรื่องบางเรื่องของเด็ก บางคนเล่าด้วยร้องไห้ไปด้วย คือมันอิน มีเด็กคนหนึ่งที่อ่านหนังสือไม่ออกเลย แล้วครูพาเขาอ่าน อ่านไปอ่านมาเด็กสามารถที่จะไปอ่านให้อีกห้องหนึ่งฟังได้ ซึ่งครูจะรู้สึกอิ่ม ดีใจ ภูมิใจในตัวเอง อันนี้มันเหมือนกับว่าเราไม่ได้คาดหวังจะปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูได้ด้ขนาดนี้…”
สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ