การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (25)

กราฟที่แสดงคะแนนแต่ละด้าน ทั้งกราฟที่แสดงเป็นค่ามาตรฐานที เพื่อให้ผู้ประเมินเห็นภาพชัดเจนว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนนั้นด้านใดที่น้อยด้านใดที่มาก และกราฟที่แสดงคะแนนดิบที่รวมจากคะแนนแต่ละข้อและช่วงคะแนนปกติ เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าคะแนนในแต่ละด้านของตนนั้นอยู่ในช่วงคะแนนปกติหรือไม่

8.2 แบบสอบถามปลายเปิด ที่มุ่งให้ผู้ตอบได้สะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เช่น ความสุข ความปีติ ความอิ่มเอิบใจ สิ่งที่มีคุณค่า และเป้าหมายในชีวิต โดยในส่วนนี้ ประกอบด้วย ข้อคำถามหลัก 2 ข้อ ได้แก่ ให้ท่านเล่าเรื่องหรือสถานการณ์ที่ทำให้ท่านมีความสุข ความรู้สึกปีติอิ่มเอิบใจ และบรรยายเหตุผลประกอบ ให้ท่านเล่าเรื่องราวต่อไปนี้ สิ่งที่มีค่า/มีความหมายในชีวิต/เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่านคืออะไร ท่านมีแนวทางดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่มีค่า/มีความหมายในชีวิต/เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่านอย่างไร และท่านได้ดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่มีค่า/มีความหมายในชีวิต/เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่านหรือไม่ อย่างไร

8.3 กรณีศึกษาทั้งบริบทในระบบสุขภาพและบริบททางการศึกษา บริบทละหนึ่งสถานการณ์ โดยมีข้อคำถาม 2 ข้อได้แก่ ท่านรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ข้างต้น และ ท่านมีวิธีปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ข้างต้นอย่างไร

ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้

1. เครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่สร้างขึ้นมาจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาเป็นหลัก ซึ่งคะแนนที่ได้จากการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณและการรายงานผล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถูกประเมินได้เห็นแนวโน้มของจุดอ่อนที่ควรพัฒนาและจุดแข็งของตนเองเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนได้อย่างสอดคล้องกับจุดอ่อนและจุดแข็งนั้น

2. การนำเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณไปใช้เพื่อประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาโดยให้ผู้ใช้เครื่องมือหรือผู้ประเมินได้รายงานตนเองนั้น ผู้ที่สนใจในการนำเครื่องมือประเมินไปใช้สามารถนำไปใช้ได้สองแนวทาง คือ การใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่าอย่างเดียว หรือการใช้เครื่องมือประเมินทั้งชุดซึ่งจะประกอบไปด้วยการใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่าร่วมกับแบบสอบถามข้อคำถามปลายเปิดและกรณีศึกษา โดยที่แนวทางแรก คือ การนำเครื่องมือประเมินแบบมาตราส่วนประมาณค่าอย่างเดียวไปใช้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณจะทำเป็นการประเมินเพื่อสะท้อนถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณโดยใช้ข้อมูลเชิงตัวเลขเพื่อให้ผู้ตอบเข้าใจถึงระดับของสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนเอง และสามารถนำตัวเลขไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่วิเคราะห์ไว้แล้วจากข้อมูลเกณฑ์ปกติของกลุ่มประชากรที่อยู่ในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา (ตามภาคผนวก) อันจะทำให้ผู้ตอบและผู้ประเมินสามารถรู้จุดแข็งและจุดอ่อนในแต่ละองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาในอนาคตต่อไป ส่วนแนวทางที่สอง คือ การใช้แบบประเมินทั้งชุด ซึ่งประกอบด้วยการใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า แบบสอบถามข้อมูลปลายเปิด และกรณีศึกษา จะเป็นการใช้แนวทางที่เช่นเดียวกับแนวทางแรก แต่จะเพิ่มเติมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพที่สะท้อนมาจากแบบสอบถามปลายเปิดและกรณีศึกษา ข้อมูลที่ได้นี้จะนำมาวิเคราะห์ ถอดความพฤติกรรมที่เป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ข้อมูลดังกล่าว ผู้ประเมินจะนำมายืนยันข้อมูลเชิงตัวเลขที่ได้จากแบบประเมินมาตราส่วนประมาณค่า ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่และมีประเด็นใดที่สะท้อนถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เพิ่มเติมขึ้นมา จะทำให้ผู้ประเมินสามารถแสดงข้อมูลที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

3. การใช้เครื่องมือประเมินในส่วนของแบบสอบถามปลายเปิดและกรณีศึกษา จะทำให้ผู้ศึกษาได้ข้อมูลเชิงคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางด้านจิตวิญญาณของผู้ตอบแบบสอบถามปลายเปิดและกรณีศึกษา ข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแสดงออกโดยใช้ภาษาเขียนเล่าประสบการณ์และความคิดเห็นของผู้ตอบ ผู้ประเมินควรมีประสบการณ์และมีความรู้ทางสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เนื่องจากต้องใช้ความชำนาญในการนำคำตอบที่ได้จากการเขียนบรรยายความคิด ความรู้สึกที่ได้ มาพิจารณาวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ผู้ตอบได้สะท้อนออกมานั้น มีความสอดคล้องหรือแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะในองค์ประกอบใดของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ดังนั้นผู้ประเมินข้อมูลเชิงคุณภาพนี้ควรมีการศึกษานิยามศัพท์ให้แม่นยำในแต่ละองค์ประกอบ และมีความสามารถในการถอดความที่ได้จากข้อมูลของผู้ตอบ เพื่อแสดงถึงหลักฐานของพฤติกรรมหรือการกระทำที่สอดคล้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้ง 7 องค์ประกอบได้อย่างถูกต้อง

4. นอกจากการใช้แบบสอบถามปลายเปิดและกรณีศึกษาแล้ว อาจจะใช้วิธีการประเมินอื่นๆ ประกอบ เช่น การเขียนบันทึกประสบการณ์ (Journal journey) ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จะทำให้ผู้ถูกประเมินได้ทบทวนและเห็นประสบการณ์ทางสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนเอง และยังสามารถนำไปใช้ประกอบในการสัมภาษณ์ได้อีกด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างสูงที่ทำให้นักวิจัยหรือผู้ที่วางแผนการพัฒนา และตัวของผู้ถูกประเมินเองได้ค้นพบคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่อาจจะไม่ได้นำมาใช้เป็นตัวชี้วัดใน 7 องค์ประกอบจากการศึกษาครั้งนี้ และการสัมภาษณ์จะช่วยทำให้ได้ข้อมูลเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่มีรายละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

5. เนื่องจากเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณชุดนี้ผู้วิจัยสร้างขึ้นบนพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานอยู่ในระบบสุขภาพและการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มีความรู้ และทักษะในการสื่อสารทางภาษาค่อนข้างดี เมื่อผู้ที่สนใจจะทำเครื่องมือประเมินชุดนี้ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างกลุ่มอื่น ควรจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการตอบเครื่องมือประเมิน ความแตกต่างระหว่างบริบท เช่น อายุ ระดับการศึกษา ลักษณะของการทำงานหรืออาชีพ ความสามารถในการเขียน เป็นต้น