การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (24)

ก่อนหน้านี้ ดังต่อไปนี้

องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

องค์ประกอบที่ 1

กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Moral courage)

ความหมาย

มีความคิดและการกระทำอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง แม้ว่าจะแตกต่างจากผู้อื่น และกล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก กล้าที่จะตัดสินใจตามอุดมการณ์ หรือเป้าหมายในชีวิตของตนเอง มีความคิดในแง่บวกและรู้จักปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จึงสามารถเผชิญปัญหาได้ในทุกปัญหา สามารถใช้ข้อผิดพลาดเป็นแรงผลักดันในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการและนักวิจัย

Synder & Lopez (2001), Giacalone & Jurkiewicz (2003), Fry (2003)

องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

องค์ประกอบที่ 2

เมตตากรุณา (Loving kindness and compassion)

ความหมาย

ความสามารถในการมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่น แม้ว่าเขาจะไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน รู้สึกร่วมทุกข์และให้ความสำคัญกับความทุกข์ของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กน้อย มีความรู้สึกอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความสุขมากขึ้น เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็มักจะนำใจเขามาใส่ใจเรา ยินดีที่จะเสียสละเพื่อให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และประสบกับความสุข

สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการและนักวิจัย

ประเวศ วะสี (2552)

Jackson (1999), Kriger & Hanson (1999), Synder & Lopez (2001), Giacalone & Jurkiewicz (2003), Fry (2003)

องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

องค์ประกอบที่ 3

มีเป้าหมายและพอเพียง (Goal and sufficiency)

ความหมาย

มีเป้าหมายเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ มีเหตุมีผล รู้จักที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่น รู้จักความพอเพียงในชีวิตและพึงพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่

สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการและนักวิจัย

อารยา พรายแย้มและคณะ (2552)

Seidl (1993), Robbin (2005)

องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

องค์ประกอบที่ 4

ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ (Humanism)

ความหมาย

มีความคิดและความเชื่อในคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการและนักวิจัย

ประเวศ วะสี (2552)

Jackson (1999), Kriger & Hanson (1999), Synder & Lopez (2001), Giacalone & Jurkiewicz (2003)

องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

องค์ประกอบที่ 5

อ่อนน้อมถ่อมตน (Humility)

ความหมาย

การไม่โอ้อวดทะนงตนในความรู้ หรือความสามารถของตนเอง รู้จักมีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและยอมรับความคิดเห็นหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้อื่น แม้ว่าจะขัดแย้งกับความคิดของตนเองก็ตาม

สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการและนักวิจัย

Jackson (1999), Kriger & Hanson (1999), Synder & Lopez (2001), Giacalone & Jurkiewicz (2003), Fry (2003)

องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

องค์ประกอบที่ 6

ให้อภัย (Forgiveness)

ความหมาย

สามารถให้อภัยต่อความผิดของผู้อื่นสามารถแสดงพฤติกรรมทางบวกต่อคนที่ทำไม่ดีกับตนเอง การมีความตั้งใจที่จะทำดีกับผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นมิตรหรือศัตรู

สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการและนักวิจัย

Jackson (1999), Kriger & Hanson (1999), Synder & Lopez (2001), Fry (2003)

องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

องค์ประกอบที่ 7

มีความเป็นมิตร (Friendliness)

ความหมาย

มีความเป็นมิตรต่อผู้อื่น มีความเป็นกันเอง สามารถพูดคุยและเข้ากับคนได้ทุกระดับ

สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการและนักวิจัย

Synder & Lopez (2001)

6. เมื่อพิจารณาคุณภาพของแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ พบว่าค่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมของข้อคำถามแต่ละข้ออยู่ระหว่าง .63 – .89 ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมที่ไม่รวมคะแนนข้อคำถามข้อนั้น (Corrected Item-Total Correlation) อยู่ระหว่าง .52 – .80 ซึ่งทุกค่าสหสัมพันธ์มีค่าบวกและมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่าข้อคำถาม 38 ข้อ ในแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนามีอำนาจจำแนกที่ดี สามารถแยกบุคลากรที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณสูงและต่ำออกจากกันได้ เมื่อพิจารณาค่าความเชื่อมั่นแบบความสอดคล้องภายใน (Internal consistency) ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s alpha) ของทุกองค์ประกอบอยู่ระหว่าง .82 – .89 และเมื่อรวมคะแนนทุกข้อคำถามจากทุกองค์ประกอบ ความเชื่อมั่นของแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้งฉบับจะเท่ากับ .94 แสดงว่าแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้งแต่ละด้านย่อยหรือรวมทุกด้านมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดี

7. คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เก็บได้จากกลุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์เกณฑ์ปกติโดยนำเสนอคะแนน และคะแนนมาตรฐาน โดยเทียบกับค่าคะแนนเปอร์เซ็นไทล์ ของผู้ตอบ โดยใช้ช่วงคะแนนปกติ คือ ระหว่าง 25 – 75 เปอร์เซ็นไทล์ ดังนั้นถ้าผู้ตอบคนใดที่ได้คะแนนตกอยู่ในช่วงที่ต่ำกว่าปกติ ควรให้ความสนใจและพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้านนั้น ด้วยเหตุนี้ แบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่พัฒนาขึ้นนี้จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองคนที่มีระดับสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่ควรพัฒนาให้มาเข้ารับการฝึกอบรมหรือพัฒนาได้